x close

รู้จัก พิธีปราบนกหัสดีลิงค์ ขั้นตอนสำคัญ งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่อคูณ

          มารู้จักกับ พิธีปราบนกหัสดีลิงค์ ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ หนึ่งประเพณีสำคัญในงานศพนักบวชชั้นผู้ใหญ่ 

          จากกรณีที่ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) ได้มรณภาพเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 ด้วยอายุ 92 ปี ณ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จากนั้นมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำสรีรสังขารหลวงพ่อคูณมาบำเพ็ญกุศล และมอบให้แก่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาเรียนรู้ จนสิ้นสุดกระบวนการจัดการเรียนการสอน และได้จัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศล ในวันที่ 22-28 มกราคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น และพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันอังคารที่ 29 มกราคม 2562 ณ พุทธมณฑลอีสาน จังหวัดขอนแก่น นั้น อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ก็คือ การฆ่านกหัสดีลิงค์

หลวงพ่อคูณ
ภาพจาก ช่อง3

เมทินี หวานอารมย์ นางสีดาผู้ฆ่านกหัสดีลิงค์

          ผู้ที่ทำหน้าที่ในการฆ่านกหัสดีลิงค์ในพิธีสำคัญนี้คือ นางสาวเมทินี หวานอารมย์ อายุ 45 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี คือผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นนางสีดา ผู้ฆ่านกหัสดีลิงค์ ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งก็มีการบวงสรวงเพื่อเตรียมพร้อมแล้ว

          ส่วนสาเหตุที่ นางสาวเมทินี ชาวบ้านที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับเลือกให้เป็นผู้ทำพิธีนั้น เพราะเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้านางสีดา เจ้าเมืองของอุบลราชธานี ที่สืบทอดกันมาจากอดีตจากสมัยปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อคูณ
ภาพจาก ช่อง3

          ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (29 มกราคม 2562) นางสาวเมทินี พร้อมด้วยมเหศักดิ์ ร่างทรงสายหลักเมืองอุบลฯกว่า 20 องค์ ได้ร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงตั้งทัพก่อนออกเดินทางไปยัง ฌาปนสถานชั่วคราว วัดหนองแวง พระอารามหลวง เพื่อร่วมพิธีกรรมการฆ่านกหัสดีลิงค์ ตามพิธีกรรมโบราณในพิธีพระราชทานเพลิง หลวงพ่อคูณ เพื่อทำพิธีปราบนกหัสดีลิงค์ ที่จะต้องกระทำในเวลา 18.00 น. เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว จะต้องรีบกลับออกจากพื้นที่ทันที ส่วนในวันรุ่งก็จะมีพิธีฉลองชัยชนะที่บ้านของนางสาวเมทินี ในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นอันเสร็จพิธี 

ตำนานนกหัสดีลิงค์

          ตามความเชื่อที่เล่าต่อ ๆ กันมา มีตำนานเรื่องนกหัสดีลิงค์อยู่หลายตำนาน อาทิว่า มีพระเจ้าแผ่นดินของนครเชียงรุ้ง สวรรคต พระมเหสีได้นำพระบรมศพแห่ไปถวายพระเพลิงนอกเมือง แต่ปรากฏว่านกหัสดีลิงค์จากป่าหิมพานต์ ได้มาแย่งพระศพไป จึงได้มีการประกาศหาผู้ที่มีความสามารถไปแย่งพระบรมศพกลับมา แต่ก็ไม่มีใครทำได้ มีเพียงนางสีดา บุตรีของมหาราชครูซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการยิงธนู ได้อาสาไปตามพระบรมศพ และสามารถต่อสู้พร้อมกับฆ่านกหัสดีลิงค์ ทำให้สามารถนำพระบรมศพกลับมาประกอบพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพได้ จนกลายเป็นธรรมเนียมจนถึงปัจจุบัน


เมรุนกหัสดีลิงค์ อาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล) หลักคำเมืองอุบลราชธานี วัดมณีวนาราม วัดป่าน้อย พ.ศ. ๒๔๖๔
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          ตำนานที่ 2 จากนายยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ นายช่างเมรุนกหัสดีลิงค์ ได้เล่าเรื่องราวของความตายที่สัมพันธ์กับประเพณีของคนอีสานไว้ว่า ณ อุตตรกุรุทวีป ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ทวีปรอบเขาสิเนรุ ดินแดนอุดมคติของมนุษย์ตามคติไตรภูมิ มนุษย์ในทวีปนั้น มีหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม คนทั้งหลายอาศัยอยู่ในทวีปนั้นมาก และมีความเป็นอยู่ดีกว่าคนในทวีปอื่น เพราะเป็นผู้มีบุญจากการรักษาศีล มีอายุได้ 1,000 ปี จึงตาย

          เมื่อชาวอุตตรกุรุทวีปตายลงนั้น ผู้อื่นก็มิได้มีความทุกข์โศกเสียใจ พวกเขาจะนำศพอาบน้ำแต่งตัวทากระแจะจันทน์ น้ำมันหอม นุ่งห่มผ้าให้ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง แล้วจึงเอาไปวางไว้ในที่แจ้ง จากนั้นจะมีนกชนิดหนึ่ง ซึ่งบินทั่วไปในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีป มาคาบเอาศพไปยังรังนก เพื่อมิให้สกปรกรกแผ่นดิน บางทีก็คาบเอาไปทิ้งไว้ในแผ่นดินอื่น หรือทิ้งที่ฝั่งทะเลหรือชมพูทวีป


เมรุนกหัสดีลิงค์ พระอริยกวี (อ่อน ธมฺมรกฺขิโต) เจ้าคณะใหญ่เมืองอุบลราชธานี พ.ศ. ๒๔๔๖ ในบทความของ ดร.ฌอง บร็องก์
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          โดยคนอุตตรกุรุทวีปเมื่อตายไปแล้วย่อมไม่ไปเกิดในจตุราบายทั้ง 4 คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานนั้นเลย แต่พวกเขาจะไปเกิดในที่ดี คือ สวรรค์ชั้นฟ้า เพราะว่าพวกเขาทั้งหลายเป็นผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีล 5 ตลอดเวลา เครื่องหมายคุณความดีของคนเหล่านั้นก็ยังปรากฏอยู่ไม่มีที่สิ้นสุดบริบูรณ์ตราบจนบัดนี้

          ตำนานที่ 3 เล่าว่า นกหัสดีลิงค์บินมาจับคนที่ทุ่งหลวง ทุ่งปาง เมืองสุวรรณภูมิ เจ้าเมืองจึงให้ไปสืบ หาผู้มีฝีมือในการฆ่านกหัสดีลิงค์ จนไปถึงเมืองตักศิลา เจ้าเมืองตักศิลาได้มอบศรให้เจ้านางสีดา ผู้เป็นราชธิดา เจ้านางสีดาได้แผลงศรฆ่านกถึงแก่ความตาย เจ้าเมืองสุวรรณภูมิจึงเผานกนั้น และเกิดเป็นธรรมเนียมว่าเมื่อเจ้านายสิ้นชีวิต ให้สร้างเมรุรูปนกหัสดีลิงค์เพื่อถวายพระเพลิง


"อินทรี" อักษรไทน้อยบนผ้าผะเหวดโบราณ วัดเกษมสีมา อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          ส่วนอีกเรื่องนั้นมาจากบทความของ ดร.ฌอง บร็องก์ ในปี พ.ศ. 2447 สรุปความได้ว่า นางสุชาดา มเหสีของพระอินทร์ ได้ลงมาจุติเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์เมืองตักศิลา ชื่อ "สีดา" เพื่อปราบนกหัสดีลิงค์ที่กำลังเข้ามาเข่นฆ่ามนุษย์และสัตว์โลก พระราชธิดาสีดาอาสาไปสังหารนกหัสดีลิงค์ พระอินทร์จึงลงมาประทานคันศรและลูกธนู พร้อมอวยพรให้นางมีชัยชนะ นางสีดาได้ยิงศรไปปักอกนกหัสดีลิงค์ร่วงตกลงมาตาย กษัตริย์ตักศิลาจึงยกเมืองให้พระราชธิดาสีดาครอบครอง พระนางครองเมืองได้ 2 ปี จึงเสด็จกลับไปเป็นมเหสีพระอินทร์บนสวรรค์  

ความหมายของการฆ่า นกหัสดีลิงค์

            ขณะเดียวกัน ไทยพีบีเอส รายงานว่า พระครูสีลสาราภรณ์ (หลวงปู่สมสิทธิ์ รักขิตสีโล) ได้ตีความพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ ตามคติธรรมทางศาสนา เปรียบศรของนางสีดาคือคำสอนของพระพุทธเจ้าในการชนะกิเลส การฆ่านกหัสดีลิงค์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ จึงเปรียบให้เห็นว่าหลวงพ่อคูณปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน สามารถระงับจากกิเลสที่มากระทบได้ การที่มีพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณนั้น จะเป็นการนำดวงวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์          


ภาพจาก brighttv

            นายยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ นายช่างเมรุนกหัสดีลิงค์ กล่าวอีกว่า ในหมู่ช่างจะเรียกชื่อนกหัสดีลิงค์ ว่า นกอินทรี เพราะนกหัสดีลิงค์ สามารถขยับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เปรียบเหมือน อินทรี คือร่างกายของเรา การฆ่านกหัสดีลิงค์ จึงถูกตีความเป็นคติธรรมทางศาสนา โดยพระครูสีลสาราภรณ์ ว่า เมื่อเจ้านางสีดาฆ่านกอินทรีให้ตายด้วย "ศร" ซึ่งเปรียบเหมือนการใช้ "คำสอน" ของพระพุทธเจ้าไปประหารกิเลส การฆ่านกอินทรีจึงเปรียบเทียบกับการที่พระมหาเถระ ได้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนจนสามารถสงบระงับจากกิเลสที่มากระทบนั่นเอง

            การสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ หรือเมรุนกอินทรี จึงนิยมสร้างถวายแก่พระมหาเถระที่เป็นพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพราะเป็นเรื่องที่แฝงด้วยปริศนาธรรมเกี่ยวกับการเอาชนะกิเลส



https://twitter.com/ThaiPBS/status/1090177733131415552

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
,


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก พิธีปราบนกหัสดีลิงค์ ขั้นตอนสำคัญ งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่อคูณ อัปเดตล่าสุด 30 มกราคม 2562 เวลา 10:35:06 67,825 อ่าน
TOP