x close

เปิดกรณีศึกษาจากอังกฤษ ตัดงบกลาโหมอย่างไร ให้กองทัพมีประสิทธิภาพ

          ถอดกรณีศึกษาของอังกฤษ รัฐตัดงบกลาโหมอย่างไร ให้กองทัพเข้มแข็งขึ้น ชี้ประเทศไทยก็ทำได้ แต่ต้องวางแผนให้ชัด จะรบกับใคร เอาอะไรไปรบ และใช้อะไรรบบ้าง
ตัดงบกลาโหมอย่างไร ให้กองทัพเข็มแข็ง

          หลังจากที่ก่อนหน้านี้พรรคการเมืองหลายพรรค ออกนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร พร้อมประกาศตัดงบของกระทรวงกลาโหม จนทำให้ทาง พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. บอกให้พรรคที่เสนอตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหม ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน ส่งผลให้เกิดกระแสที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงเรื่องดังกล่าว ว่า "งบทหาร" นั้นสมควรถูกปรับลดลงหรือไม่ และหากลดลงจริงจะส่งผลให้กองทัพอ่อนแอลงหรือไม่ เพราะเรื่องของความมั่นคงของชาตินั้นไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้

          วันนี้ทีมงานกระปุกดอทคอมจึงขอนำบทความเรื่อง "ตัดงบกลาโหมอย่างไร ให้กองทัพเข้มแข็ง" ที่ทางเพจ ThaiArmedForce.com ได้รวบรวมและนำเสนอเอาไว้ ดังนี้

ตัดงบกลาโหมอย่างไร ให้กองทัพเข็มแข็ง
ตัดงบกลาโหมอย่างไร ให้กองทัพเข็มแข็ง

          "ตัด #งบกลาโหม ยังไงให้ #กองทัพ เข้มแข็ง: กรณีศึกษาจาก SDSR ของ #สหราชอาณาจักร

          ลดงบทหาร = กองทัพอ่อนแอ

          ไม่เกณฑ์ทหาร = กองทัพอ่อนแอ

          เพิ่มงบทหาร = กองทัพเข้มแข็ง

          เกณฑ์ทหาร = กองทัพเข้มแข็ง

          ตรรกะนี้เป็นตรรกะที่เราจะได้ยินอยู่ตลอดจากทั้งสองขั้วความคิดในสังคมตอนนี้ครับ เวลาถกเถียงกัน ส่วนมากทุกคนจะยืนอยู่บนชุดความคิดนี้เป็นพื้นฐาน

          เพราะดูแล้วมันก็สมเหตุสมผลในตัวมันเอง อย่างการลดงบทหาร = กองทัพอ่อนแอ หรือ เพิ่มงบทหาร = กองทัพเข้มแข็ง มันก็คือ You get what you pay นั่นเองครับ อยากกินสเต๊กเนื้อโกเบแบบมีเดียมแรร์ ก็ไม่มีใครขายในราคาหมูปิ้งนมสดยายจันทร์ที่ปากซอยแน่นอน ดังนั้น ถ้าอยากได้เนื้อดี นุ่มลิ้น ละลายในปาก จ่ายถาดละพันมันก็สมเหตุสมผล

          F-35 ราคาลำละร้อยกว่าล้านเหรียญสหรัฐ มันก็ย่อมดีกว่า F-16 ราคา 70 ล้านเหรียญสหรัฐ แน่นอน ผลการฝึกมันก็แสดงให้เห็นชัดเจน F-35 ยิง F-16 ร่วงได้เป็นสิบลำในการฝึกครับ เราเพิ่งโพสต์บทความไปเมื่อไม่กี่วันนี้เอง

ตัดงบกลาโหมอย่างไร ให้กองทัพเข็มแข็ง

          #เกณฑ์ทหาร ก็เช่นกัน การจะบอกว่าไม่เกณฑ์ทหาร = กองทัพอ่อนแอ หรือ เกณฑ์ทหาร = กองทัพเข้มแข็ง มันก็สมเหตุสมผลในตัวมันเองอีกนั่นแหละ เพราะการเกณฑ์ทหารทำให้เรารับประกันได้ว่าเราจะมีกำลังทหารที่มีจำนวนที่แน่นอน ได้รับการฝึกในมาตรฐานระดับเดียวกัน เมื่อปลดออกไปก็จะฝึกทบทวนได้ไม่ยากถ้าต้องเรียกระดมพล ถ้าจะต้องให้สมัครใจมาเป็นทหารแล้วถ้าจำนวนทหารไม่เพียงพอจะทำอย่างไร เพราะมันไม่มีกลไกบังคับได้ ความมั่นคงของชาติไม่ใช่ของเล่น และมันประเมินราคาไม่ได้

          เห็นไหมครับ สมเหตุสมผลดีจริง ๆ

          คำถามก็คือ ชุดความคิดทั้งสองนี้ มันต้องเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือ ?

          ถ้าคิดแบบวิทยาศาสตร์ เวลาเราจะพิสูจน์ว่าทฤษฎีใดเป็นจริงได้ เราควรจะอนุมานก่อนว่าทฤษฎีนั้นผิด และหาหลักฐานมารองรับว่ามันผิดจริง ๆ ยกเว้นจะหาไม่ได้จึงถือว่ามันถูก

          ถ้าจะลองพิสูจน์ว่าจริง ๆ แล้ว ลดงบทหาร != กองทัพอ่อนแอ หรือ เพิ่มงบทหาร != กองทัพเข้มแข็ง หรือ ไม่เกณฑ์ทหาร != กองทัพอ่อนแอ หรือ เกณฑ์ทหาร != กองทัพเข้มแข็ง (!= หมายถึงไม่เท่ากับ) อาจจะลองหาหลักฐานมาพิสูจน์โดยใช้กรณีของสหราชอาณาจักรครับ

          สหราชอาณาจักรเคยออกเอกสารการทบทวนยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศและความมั่นคงปี 2010 (UK Strategic Defence and Security Review 2010) โดยรัฐบาลผสม พรรค Conservative กับ Liberal Democrat ซึ่งกำหนดให้ทั้งสามเหล่าทัพตัดลดกำลังพลให้ได้มากกว่า 1 แสนนาย แยกเป็น #กองทัพบก ให้ลดลง 7,000 ถึง 95,500 นาย #กองทัพเรือ ให้ลดลง 5,000 ถึง 30,000 นาย #กองทัพอากาศ ให้ลดลง 5,000 ถึง 33,000 นาย

          สำหรับ #ยุทโธปกรณ์ กองทัพบกให้ปลดประจำการ #รถถัง Challenger 2 ลง 40% เหลือราว 200 คัน ปลดประจำการปืนใหญ่อัตตาจร AS-90 ลง 35% เหลือ 87 ระบบ รวมถึงเรียกทหารที่ประจำการในเยอรมนี ราว 2 หมื่นนาย กลับประเทศ และไปรักษาสันติภาพที่ใดไม่สามารถมีกำลังได้เกิน 2 หมื่นนาย

ตัดงบกลาโหมอย่างไร ให้กองทัพเข็มแข็ง

          กองทัพเรือให้ปลดประจำการ #เรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ark Royal ทันทีในปี 2011 แทนที่จะเป็นปี 2016 และให้ประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินเพียงแค่ลำเดียวจากที่กำลังต่อสองลำ รวมถึงปลดประจำการเครื่องบิน Harrier จำนวน 72 ลำทันที และขายซากเป็นอะไหล่ให้กับสหรัฐอเมริกา และเปลี่ยนการจัดซื้อ F-35B รุ่นขึ้น-ลงทางดิ่ง เป็นรุ่น F-35C รุ่นประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินแทน

          กองทัพอากาศให้ยกเลิกโครงการเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล Nimrod MRA4 ทันที ปลดประจำการเครื่องบินลำเลียง C-130J ในปี 2022 สิบปีก่อนแผนการเดิม ลดการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Chinook ลงเหลือ 12 ลำ จาก 22 ลำ และปลดประจำการเครื่องบินตรวจการณ์ Sentinel R1 ทันที

          ฟังดูคุ้น ๆ ไหมครับ ตอนนั้นรัฐบาลของนายกคาเมรอนก็โดนสวดยับเหมือนกันว่า #หนักแผ่นดิน เอ๊ย ว่าเป็นหายนะของ #การป้องกันประเทศ ของสหราชอาณาจักรอย่างแท้จริง กองทัพแทบจะทำงานไม่ได้แน่นอน แต่นายกคาเมรอนก็ชี้แจงไป ทำหูทวนลมไป และยอมถอยบางอย่างไปบ้าง แต่ก็ยังยืนยันว่า ตัดเลย ตัดเลย ตัดเลย ชั้บ ๆ ๆ !

          และรัฐบาลสหราชอาณาจักรพูดจริงทำจริงด้วยนะครับ แม้จะตัดไม่ได้ทั้งหมดอย่างที่วางแผนไว้ แต่ก็ตัดไปได้มากกว่า 70% ของแผน โดยเฉพาะงบประมาณทางทหารที่ตั้งเป้าจะตัดลดให้ได้ 10-20% นั้นประสบความสำเร็จในการตัดลดได้จริงถึง 7.7% ในช่วงสี่ปีของแผน

          เมื่อมาดูทุกวันนี้ กองทัพสหราชอาณาจักรอ่อนแอจริงไหม เราอาจจะลองดูได้จากเอกสารทบทวนยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศและความมั่นคงปี 2015 ของนายกคาเมรอนเจ้าเก่าที่จะเป็นแนวทางในการพัฒนากองทัพไปจนถึงปี 2025 ครับ (ปีต่อมาเขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะแพ้การลงประชามติแยกตัวจากสหภาพยุโรป และถูกแทนที่ด้วยนางเทเรซา เมย์)

          เอกสารกำหนดให้กองทัพบกต้องมีกำลังประจำการไม่ต่ำกว่า 8 หมื่น 2 พันนาย เพิ่มการลงทุนในการฝึก #กำลังสำรอง สั่งซื้อ #ยานเกราะล้อยาง Ajax จำนวน 589 คัน ลดอัตรากองพลยานเกราะลง 1 กองพลนำมาตั้งกองพลเคลื่อนที่เร็วสองกองพลแทน และเพิ่มกองพลสำรองและกองพลภารกิจเฉพาะอีก 6 กองพล และอัปเกรดรถถัง Challenger 2 เพื่อเพิ่มความทันสมัยและขยายอายุประจำการ
         
         
ตัดงบกลาโหมอย่างไร ให้กองทัพเข็มแข็ง

          กองทัพเรือจะเพิ่มกำลังพล 400 นาย ประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินสองลำแทนที่จะเป็นลำเดียว คงอัตราเรือพิฆาต และเรือฟริเกต ไว้ที่ 19 ลำ ลดการจัดหา #เรือฟริเกต ชั้น Type 26 ลงจาก 13 เหลือ 8 ลำ และเปลี่ยนไปจัดหาเรือฟริเกต Type 31 แทน 6 ลำ ซื้อ #เรือดำน้ำ #นิวเคลียร์ ใหม่ 4 ลำทดแทนของเดิม และจัดหาเรือตรวจการณ์ชั้น River (ชั้นเดียวกับเรือหลวงกระบี่) เพิ่มจำนวน 5 ลำ

          กองทัพอากาศจะเพิ่มกำลังพลอีก 300 นาย ตั้งฝูงบินขับไล่ที่ใช้ #เครื่องบินขับไล่ Typhoon อีกสองฝูงและอัปเกรด Typhoon ที่มีประจำการอยู่แล้ว ยืนยันการจัดหา F-35 จำนวน 138 ลำ ซึ่งยังคงจัดหารุ่น B สำหรับเรือบรรทุกเครื่องบินเช่นเดิม จัดซื้อ #เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล P-8 Poseidon จำนวน 8 ลำ มาทดแทน Nimrod ที่ปลดประจำการไปเมื่อปี 2011 เพิ่มฝูงบินอากาศยานไร้นักบินติดอาวุธอีก 1 ฝูง เช่นกัน

          เช่นนี้จะเห็นได้ว่า แม้เอกสารปี 2010 จะกำหนดให้ตัดลดอัตรา กำลังพล และงบประมาณลงจำนวนมาก แต่ก็มีการเพิ่มกลับเข้ามาในปี 2015 เช่นกัน ซึ่งไม่ได้เป็นการเพิ่มกลับแทนของเดิมที่ลดไปแบบหนึ่งต่อหนึ่ง แต่เป็นการจัดสรรทรัพยากรใหม่ เช่น เอกสารปี 2010 มีเป้าหมายจะลดกำลังพลมากกว่า 1 แสนนาย แต่เอกสารปี 2015 เพิ่มกำลังพลกลับมาแค่พันกว่านาย แน่นอนเน้นไปที่การเพิ่มจำนวนยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เพิ่มการฝึกกำลังสำรองให้มีคุณภาพ เพิ่มการลงทุนในการรับมือ #การก่อการร้าย และ #สงครามไซเบอร์ ปรับปรุงและอัปเกรดระบบอาวุธจำนวนมาก

ตัดงบกลาโหมอย่างไร ให้กองทัพเข็มแข็ง

          ในขณะที่งบประมาณด้านการทหารของสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2018 ขึ้น-ลงอยู่ระหว่าง 36-39 พันล้านปอนด์ หมายถึงแทบไม่เปลี่ยนแปลง และลดลงด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้กองทัพสหราชอาณาจักรมีขีดความสามารถที่สูงกว่าเดิมมาก มียุทโธปกรณ์ใหม่ที่ทันสมัยเข้าประจำการมากกว่าในอดีต มีเรือบรรทุกเครื่องบินสองลำ ที่มี F-35B ประจำการ 24 ลำ ช่องว่างด้านขีดความสามารถต่าง ๆ ถูกปิด เพราะไม่ต้องลงทุนในระบบอาวุธ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนกำลังพลที่เกินจำเป็น และนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใส่และเพิ่มให้กับด้านที่จำเป็นแทน

          นี่ก็อาจจะเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า ถึงแม้ #กระทรวงกลาโหม ของสหราชอาณาจักรจะถูกตัดงบไปหลายปี แต่ทุกวันนี้กองทัพสหราชอาณาจักรแข็งแกร่งกว่าเดิมอีก

          ดังนั้น บทเรียนที่ได้จากการศึกษากรณีนี้ที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศเราก็คือ ฝ่ายที่เสนอให้ลดงบประมาณทางทหารหรือลดกำลังพล ควรจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าลดแล้วจะทำอย่างไรให้ขีดความสามารถในการป้องกันประเทศยังคงเดิมหรือแม้แต่ดีกว่าเดิม นั่นหมายถึงต้องตอบให้ได้ว่าการลดตรงนี้จะต้องเพิ่มตรงไหนขีดความสามารถถึงจะไม่ลดลง แต่ก็ไม่ต้องเพิ่มจนกลายเป็นจ่ายแพงกว่าเดิม ตรงนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายสนับสนุนการลดงบประมาณที่จะต้องกางแผนออกมาให้ดู อย่าบอกแค่ลดอย่างเดียวครับ"



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดกรณีศึกษาจากอังกฤษ ตัดงบกลาโหมอย่างไร ให้กองทัพมีประสิทธิภาพ อัปเดตล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 15:10:08 5,096 อ่าน
TOP