x close

เปิดเกร็ดความรู้ การประทับพระราชยานในอดีต ลำบาก และไม่สบายอย่างที่คิด



              เปิดเกร็ดความรู้ การประทับพระราชยานของกษัตริย์ในอดีต ที่ไม่ได้สุขสบาย และต้องทรงลำบากหลายอย่าง แต่ก็ต้องทรงทำ ขณะออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อความสุขของพสกนิกร

ภาพจาก Live NBT2HD 

            เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 เว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ได้เผยแพร่เรื่องราวเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ การเดินทางของเจ้านายในสมัยโบราณ ที่ยังไม่มียานพาหนะสะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้ "พระราชยาน" เป็นพระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่มิใช่ในเขตพระราชฐานชั้นในหรือ ภายในเขตพระอาราม

            โดยพระราชยานที่ใช้เป็นพระราชพาหนะตามโบราณราชประเพณีนั้นมีถึง 9 องค์ แต่ละองค์มีรูปลักษณะที่หลากหลายและมีชื่อเรียกต่างกัน คือ

            1.พระยานมาศ
            2.พระยานมาศ 3 ลําคาน
            3.พระราชยานกง
            4.พระราชยานถม
            5.พระราชยานงา
            6.พระที่นั่งราชยานพุดตานถม
            7.พระราชยานทองลงยา มีแบบและลักษณะอย่างพระราชยานถม
            8.พระที่นั่งราชยานพุดตานทอง
            9.พระที่นั่งราเชนทรยาน


            ตามปกติแล้ว เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่าง ๆ พระองค์จะประทับพระราชยานเพียงลําพังพระองค์ แต่บางคราวก็โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสและพระราชธิดาที่ยังทรงพระเยาว์โดยเสด็จไปบนพระราชยานด้วย โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ "ความทรงจำ" ว่า พระองค์ได้รับกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นนั่งในพระราชยานกับพระราชบิดา ตั้งแต่ปี 2410 จนสิ้นรัชกาล ขณะพระชันษา 5 ปี

            สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า พระองค์เคยร่วงหล่นจากพระราชยานมาแล้ว เหตุการณ์เกิดขึ้นในครั้งตามเสด็จ งานวัดหงส์ เมื่อปี 2510 โดยในขณะนั้น พระองค์ทรงนั่งง่วงนั่งหลับมาในพระราชยานร่วมกับพระราชบิดา เมื่อผ่านประตูกําแพงแก้วพระ ทางด้านตะวันออกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พนักงานหามพระราชยานลงบันได ข้างหน้าพระราชยานลาดต่ำลง พระองค์จึงพลัดตกลงมา แต่มิได้รับบาดเจ็บอันใด และพนักงานก็รีบเข้าอุ้มขึ้นพระราชยานตามเดิม

การประทับพระราชยานในอดีต

            ทางด้าน เฉลิม เศวตนันทน์ หรือ จมื่นมานิตย์นเรศ ก็ได้เคยกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยทรงเล่าให้ฟังอย่างมีพระอารมณ์ขัน ว่า ไม่มียานพาหนะใดที่จะต้องนั่งด้วยอาการเป็นกษัตริย์แท้ ๆ เท่ากับพระราชยานอีกแล้ว เพราะหาความสุขสบายมิได้เลย ที่นั่งพอดีพระองค์ ที่วางพระบาทก็มีเฉพาะเพียงพระบาททั้งคู่วางชิดกันได้อย่างหมิ่นมาก ต้องไขว้พระบาทซ้ายขวาสลับกันไป  และไม่สามารถวางพระกรได้ เนื่องจากบางครั้งสองข้างบัลลังก์แกะด้วยไม้ เป็นลายกระจังหรือลายกนกแหลม ๆ เต็มไปหมด

            บางครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นเหน็บชา ก็ต้องกระดิกพระดัชนี (นิ้วเท้า) ให้พระโลหิตไหลเวียน จะทรงนั่งพิงอย่างสบายก็ไม่ได้เช่นกัน บางคราวทรงนึกจะนั่งไขว่ห้าง ก็ไม่กล้าทํา เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการไม่เหมาะสม และต้องทรงนั่งให้พระขนอง (หลัง) ตรง นอกจากนี้แล้ว ด้วยความที่พื้นที่จํากัด และลอยอยู่ด้วยพลังของคน ถ้าหากพระองค์ทรงขยับเขยื้อนรุนแรง พนักงานหามข้างล่างก็เดือดร้อน ดีไม่ดีอาจพลิกคว่ำลงได้

            จมื่นมานิตย์นเรศ กล่าวอีกว่า เวลาพสกนิกรแสดงความเคารพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ต้องแข็งพระราชหฤทัย ทรงแย้มพระสวรล ทรงยกพระคธาขึ้นรับการเคารพ ทั้งที่ปวดเมื่อยและเป็นเหน็บชา เพราะรอยยิ้มของพระเจ้าแผ่นดิน คือ น้ำทิพย์ชโลมใจของประชาชน และเป็นพระราชกรณียกิจ แม้ให้ยากแสนยากเหนื่อยแสนเหนื่อยกว่านี้ก็ต้องทํา เพื่อประโยชน์สุขของทวยราษฎร์

การประทับพระราชยานในอดีต
ภาพจาก กระทรวงวัฒนธรรม

การประทับพระราชยานในอดีต
ภาพจาก กระทรวงวัฒนธรรม

การประทับพระราชยานในอดีต
ภาพจาก กระทรวงวัฒนธรรม



**หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 พฤษภาคม 2562


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดเกร็ดความรู้ การประทับพระราชยานในอดีต ลำบาก และไม่สบายอย่างที่คิด อัปเดตล่าสุด 7 พฤษภาคม 2562 เวลา 11:15:41 27,042 อ่าน
TOP