x close

ลวดลายผ้า "อู่ทอง" ย้อนอดีตกาลเวลา

          ลวดลายผ้าพื้นถิ่น  มักถูกถ่ายทอดมาจากวัฒนธรรม วิถีชีวิต ของพื้นที่นั้น ๆ ลายผ้าจึงเป็นลายศิลปะที่สวยงามและมีคุณค่า ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน

          อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อีกหนึ่งสถานที่ที่มีอดีตและความเป็นมา นับจากยุคทวารวดี ถึงปัจจุบันรวมกว่า 2,000 ปี  

          องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ได้ต่อยอดพัฒนาจากฐานทุนทางวัฒนธรรม เกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ พัฒนากิจกรรมผ้าพิมพ์ลายโบราณ

ลวดลายผ้าอู่ทอง

ลวดลายผ้าอู่ทอง

          สมจินต์ ชาญกระบี่ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง อพท. กล่าวว่า จากภารกิจหน้าที่ อพท. เป็นหน่วยงานประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนชุมชน ให้นำอัตลักษณ์ วิถีชีวิต พัฒนาต่อยอดเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เกิดเป็นโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าที่ระลึกลวดลายทวารวดี โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภออู่ทอง จ.สุพรรณบุรี  เปิดอบรมเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพต่อยอดให้กับกลุ่มสตรีอู่ทอง ด้วยการนำฐานทุนทางวัฒนธรรม จากลวดลายปูนปั้นยุคทวารวดีที่ถูกขุดพบในพื้นที่แห่งนี้ ให้เกิดเป็นมูลค่าเพิ่ม  
    
          โครงการพัฒนาผ้าพิมพ์ลายโบราณ เกิดจากความต้องการของกลุ่มสตรีอู่ทอง ที่ต้องการต่อยอดจากความเชี่ยวชาญเรื่องการทอผ้า เกิดเป็นความร่วมสมัยระหว่างทุนทางวัฒนธรรมและแนวความคิดทางการตลาด  นำลวดลายศิลปะโบราณพัฒนาออกมาเป็นลวดลายผ้า ได้แก่ ลายตาข่ายบุปผา ลายบุปผามาลา และลายแก้วชิงดวง
ลวดลายผ้าอู่ทอง

วิธีการปั๊มลายลงบนผืนผ้า

ลวดลายผ้าอู่ทอง

ตัวปั๊มลายแก้วชิงดวง

          พชรพรรณ  มาตรศรี ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภออู่ทอง เล่าว่า กลุ่มสตรีอู่ทองเชี่ยวชาญเรื่องการทอผ้าพื้นบ้าน เช่น ผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ และผ้าตีนจก เพราะในอดีตชาวบ้านจะนิยมทอผ้าใช้เองกันเกือบทุกครัวเรือน ภูมิปัญญานี้จึงถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

          เพราะความเป็นเอกลักษณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้ ทางกลุ่มสตรีอู่ทองจึงศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อมาพัฒนาต่อยอดเรื่องผ้าที่เราทำอยู่เกิดการทำลายผ้าขึ้นมาใหม่ แต่ละลวดลายที่คิดขึ้นมาจะเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ระหว่างทวารวดีและอินเดีย บางลายถอดแบบมาจากธรรมจักรต่าง ๆ ที่ขุดเจอในอู่ทอง บางลายถอดแบบมาจากต้นไม้ธรรมชาติต่าง ๆ แล้วนำไปแกะเป็นลวดลาย ทำเป็นตัวปั๊มโดยใช้ไม้ชนิดพิเศษ สั่งผลิตจากประเทศอินเดีย ส่วนสีที่ใช้พิมพ์ ทำขึ้นจากวัตุดิบธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น สีแดงทำมาจากฟาง สีเหลืองทำมาจากมะม่วงและใบหูกวาง และสีครามทำมาจากครามธรรมชาติ

ลวดลายผ้าอู่ทอง

ลวดลายผ้าอู่ทอง

ลวดลายผ้าอู่ทอง

          "ลวดลายของผ้าที่อู่ทองจึงไม่ซ้ำกับที่อื่นและเป็นเอกลักษณ์สวยงาม  เราได้การสนับสนุนจาก อพท.  มาช่วยสานฝัน ให้งบประมาณมาจัดทำการศึกษา การแกะลาย และการผลิตตัวปั๊มต้นแบบ"
         จากที่ผลิตเพื่อขาย อพท. ยังให้แนวความคิดเชิงสร้างสรรค์ เกิดเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม ได้ทดลองทำผ้าที่ตัวเองต้องการ จากมือของตัวเอง

          "นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมงานหัตถกรรมของกลุ่มสตรีอู่ทองด้วยการเลือกผ้า และเลือกลวดลายที่ชอบ นำมาจุ่มสีและปั๊มลงบทผ้าที่เลือกไว้ ได้ลายผ้าที่ไม่ซ้ำใคร แถมยังมีความภูมิใจเล็ก ๆ ให้กับตัวเอง หรือจะนำผ้าผืนโปรดของตัวเองมาปั๊มลายก็ได้ จะมาใช้ผ้าของที่นี่ก็ได้ เรามีให้บริการทุกรูปแบบทั้งกระเป๋า ผ้าพันคอ หมอน และผ้ากันเปื้อน หรือถ้าไม่ชอบทำก็สามารถเลือกซื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ติดไม้ติดมือกลับไปได้"
ลวดลายผ้าอู่ทอง

ลวดลายผ้าอู่ทอง

          การตั้งราคาขายต่อชิ้นเมื่อเทียบกับที่อื่นถือว่าถูกกว่ามาก แต่สำหรับผ้าพิมพ์ลายอาจมีราคาสูงขึ้นมาบ้าง แต่ขอบอกว่าความสวยของลายผ้าและความซับซ้อนจากกระบวนการทำนั้นคุ้มค่า คุ้มราคาจริง ๆ ถ้าคุณเป็นคนนึงที่ชอบ หลงใหลในผ้าไทยขอแนะนำที่นี่เลย

ลวดลายผ้าอู่ทอง

ลวดลายผ้าอู่ทอง

          นอกจากเรื่องผ้า และกิจกรรมพิมพ์ลายผ้า อู่ทองยังมีแหล่งท่องเที่ยวไว้รอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนผ่านมาอีกหลายสถานที่ เช่น กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ หล่อเหรียญที่ระลึกที่โรงหล่อวิเชียร ซึ่งทางโรงหล่อได้ทำแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ แกะลายจากเหรียญโบราณที่ขุดพบในพื้นที่อำเภออู่ทองแห่งนี้ กิจกรรมงานจักสานหนองเสือ กิจกรรมทำยาดมสมุนไพรหัวโตป้าต้อย ทำกะเหลวไทพวน ชุมชนเขาพระ ใครชื่นชอบเกษตรอินทรีย์ สามารถไปเยี่ยมชุมชนดงเย็น  ทั้งหมดสามารถเที่ยวได้ใน 1- 2 วัน อย่างมีความสุข สุขที่ได้ประสบการณ์ สุขที่ได้กระจายรายได้ลงสู่ชุมชน  #อพท #ท่องเที่ยว #สุพรรณบุรี
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลวดลายผ้า "อู่ทอง" ย้อนอดีตกาลเวลา อัปเดตล่าสุด 8 สิงหาคม 2562 เวลา 15:50:26 5,044 อ่าน
TOP