x close

การไฟฟ้า ยืนยัน กล่องลดค่าไฟ ไม่มีจริง - แจ้งจับมิจฉาชีพหลอกโฆษณาขาย


          3 การไฟฟ้า แจ้งความดำเนินคดีคนขายอุปกรณ์ช่วยลดค่าไฟฟ้า ยืนยันกล่องลดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน ไม่มีอยู่จริง เตือนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ

กล่องลดค่าไฟ
         วันที่ 8 สิงหาคม 2562 การไฟฟ้านครหลวง (MEA) รายงานว่า นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะโฆษก กฟน. พร้อมด้วยนายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน ผู้ช่วยว่าการยุทธศาสตร์องค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) นำเจ้าหน้าที่พร้อมผู้เสียหาย 4 คน เข้าแจ้งความดำเนินคดี ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ภายหลังพบว่า มีมิจฉาชีพโฆษณาหลอกขายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า ผ่านเฟซบุ๊กเพจ Expert Electric อ้างว่าลดค่าไฟได้

         โดย นายจาตุรงค์ เปิดเผยว่า กฟน., กฟผ. และ PEA มีความห่วงใยประชาชนที่ถูกหลอกลวงอย่างยิ่ง จึงได้เข้าแจ้งดำเนินคดีกับมิจฉาชีพที่แอบอ้างหลอกลวงประชาชน เนื่องจากพบว่ามีการละเมิดนำภาพตราสัญลักษณ์ของทั้ง 3 หน่วยงานการไฟฟ้ามาตัดต่อ หลอกจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า รวมถึงแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐ หรือผู้มีชื่อเสียง นำมาโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อถูกหลอกและเสียทรัพย์จำนวนมาก

         ทั้งนี้ กฟน., กฟผ. และ PEA ยืนยันว่า อุปกรณ์ช่วยประหยัดไฟฟ้า หรือช่วยลดค่าไฟฟ้าภายในบ้านนั้น ไม่มีอยู่จริง ผู้ขายอาจเข้าข่ายหลอกหลวงผู้บริโภค โดย 3 การไฟฟ้าตรวจสอบแล้ว พบว่ามี 3 ลักษณะ คือ

กล่องลดค่าไฟ
         1. เป็นกล่องหรือตู้ที่มีสายไฟสำหรับเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า ส่วนใหญ่ภายในเป็นเพียงตัวเก็บประจุ และประเภทที่ภายในไม่มีส่วนที่เป็นวงจรไฟฟ้าเลย มีเพียงวัสดุสำหรับถ่วงน้ำหนักบรรจุไว้เท่านั้น

         2. เป็นอุปกรณ์สำหรับเสียบเข้ากับเต้ารับไฟฟ้าโดยตรง

         3. เป็นบัตรสำหรับติด หรือแปะกับตู้จ่ายไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า

กล่องลดค่าไฟ
        
          จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถประหยัดไฟฟ้าได้จริง และอาจส่งผลให้ระบบไฟฟ้าผิดปกติ หรือกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งหากนำมาใช้อาจมีความผิดตามกฎหมายได้
 
          อย่างไรก็ตาม วิธีการประหยัดไฟฟ้าที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า โดยเปิดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเฉพาะเวลาที่ต้องการ ใช้งานและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเวลาที่ไม่ใช้งาน เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ก่อนเปิดเครื่องปรับอากาศ รวมถึงตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป จะทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนัก ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น การเปิดพัดลมช่วยให้อากาศมีการเคลื่อนที่ทำให้รู้สึกเย็นเพิ่มขึ้นได้ และไม่แช่อาหารร้อนในตู้เย็น รวมถึงไม่ควรเปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง จะส่งผลให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นด้วย

          อีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยประหยัดไฟฟ้าได้คือ การเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น หลอดไฟฟ้าชนิด LED เลือกใช้เครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์ ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก การไฟฟ้านครหลวง (MEA)


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การไฟฟ้า ยืนยัน กล่องลดค่าไฟ ไม่มีจริง - แจ้งจับมิจฉาชีพหลอกโฆษณาขาย อัปเดตล่าสุด 9 สิงหาคม 2562 เวลา 14:26:35 5,079 อ่าน
TOP