x close

นักวิจัยในสหรัฐฯ คิดค้นยา แก้โรคเหงา อีกสภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพกาย-ใจ

           นักวิจัยในสหรัฐฯ คิดค้นยา สำหรับโรคเหงา อยู่ระหว่างทดลองใช้ในคน ยันไม่ใช่ยาเพื่อ "รักษา" แต่เพื่อช่วยลดความหวาดกลัวของคนเหงา ขณะที่บางคนเห็นค้าน ความเหงาไม่ควรรักษาด้วยยา

ยารักษาโรคเหงา

           ท่ามกลางสภาพสังคมที่ "คนเหงา" มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกขณะ จนกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่คนส่วนมากเริ่มหันมาให้ความสนใจ เพราะความเหงานั้นนับเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่อาจพัฒนาไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิตและร่างกายหลายประการ ซึ่งหากมีความเหงารุนแรงก็อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

           ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยในสหรัฐอเมริกาจึงได้เกิดความคิดที่จะค้นคว้าหายา มาใช้รับมือกับโรคเหงา โดยอยู่ระหว่างการค้นคว้าและทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มที่ออกมาโต้แย้ง มองว่าความเหงานั้นไม่สมควรได้รับการรักษาด้วยยาก็ตาม

           จากรายงานของเว็บไซต์ CTV News เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 เผยว่า นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการของ Brain Dynamics ในมหาวิทยาลัยชิคาโก อยู่ระหว่างการทดสอบนำยาเม็ด ที่ใช้ฮอร์โมนเพรกนิโนโลน (pregnenolone) อันเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นตามธรรมชาติ มาเป็นส่วนประกอบในยาดังกล่าว หลังพบว่าเพรกนิโนโลนมีส่วนเชื่อมโยงกับการลดความเครียด

           โดยจากการทดลองฉีดเพรกนิโนโลนในหนูทดลอง ที่ถูกแยกเดี่ยวออกมา ในสภาพซึ่งจัดให้มีความคล้ายคลึงกับคนที่มีความเหงา พบว่าหนูทดลองนั้นมีการตอบสนองต่อภาวะคุกคามหรือความตึงเครียดลดลง

           และในตอนนี้ทีมนักวิจัยก็จะทำการทดลองในมนุษย์ โดยให้กลุ่มอาสาสมัครทดลองใช้ยาในรูปแบบยาเม็ด อันมีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพรกนิโนโลน ในปริมาณแบบสุ่ม ตลอดช่วง 8 สัปดาห์ พร้อมทำการบันทึกกิจกรรมทางสมองของอาสาสมัคร ขณะที่ให้พวกเขาจ้องมองรูปภาพการแสดงสีหน้าทางอารมณ์ต่าง ๆ หรือภาพธรรมชาติ

ยารักษาโรคเหงา

           อย่างไรก็ตาม สเตฟานี คาซิโอปโป นักประสาทวิทยา ผู้นำการวิจัยดังกล่าว ยืนกรานว่าเป้าหมายของการวิจัยยาดังกล่าว ไม่ใช่เพื่อการ "รักษา" โรคเหงา แต่ยาดังกล่าวนั้นจะมีไว้เพื่อช่วยลดความกลัวในกลุ่มคนที่กำลังเผชิญความเหงา

           โดยเธอเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสมิธโซเนียน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่า "จิตใจที่เหงานั้นอยู่กับเราตลอดเวลา เปรียบเสมือนตอนที่เราขับรถช่วงฤดูหนาว ซึ่งมีทัศนวิสัยแย่มาก ความคิดของเราคือ ยาตัวนี้จะสามารถเข้ามาช่วยละลายหมอกที่กระจกหน้ารถของเรา จนเราสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างที่พวกเขาเป็นได้ แทนที่จะเอาแต่หวาดกลัวคนทุกคน คุณจะสามารถเปิดกว้างพร้อมรับฟังคนอื่น ๆ ได้มากขึ้น"

           อนึ่ง มีรายงานวิจัยหลายชิ้นที่บันทึกไว้ในทางเดียวกัน ว่าความเหงานั้นส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจของเรา โดยจากการวิจัยเมื่อปี 2558 พบว่าความเหงาและความโดดเดี่ยวมีแนวโน้มที่จะทำให้บุคคลหนึ่งเสียชีวิตไวขึ้น ขณะที่งานวิจัยบางชิ้น คาดว่าความเหงาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอ้างว่าความเหงาสามารถลดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และทำให้คุณภาพการนอนหลับแย่ลงด้วย

           อย่างไรก็ตาม ยังพบหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดยาสำหรับโรคเหงา ดังเช่น เฟย์ บอนด์ อัลเบอร์ตี นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ผู้เขียนหนังสือ A Biography of Loneliness: The History of an Emotion ซึ่งเธอเคยกล่าวว่า ความเหงานั้นไม่ใช่สิ่งเพียงสิ่งเดียว แต่มันเป็นสถานะทางอารมณ์ที่แตกต่างกันจำนวนมาก บางครั้งมีความเชื่อมโยงถึงความซึมเศร้า แม้จะไม่เสมอไป

           เธอย้ำว่า ในขณะที่โรคซึมเศร้ามักถูกรักษาด้วยยา แต่ความเหงาไม่สมควรถูกรักษาด้วยวิธีการเดียวกัน จริงอยู่ที่หากความเหงาเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง และเชื่อมโยงไปยังปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ มันควรได้รับการรักษา แต่โดยมากแล้วความเหงาก็เป็นเพียงอีกจุดหนึ่งของชีวิต ที่เราก้าวผ่านไปเท่านั้น

           เฟย์ บอนด์ ชี้ว่า ในอดีตความเหงาเคยได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์เช่นกัน เช่น การนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ เพราะคนที่เหงานั้นมักจะคิดเกี่ยวกับความหมายของชุมชน ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจแก่เขา

           ทั้งนี้ นักวิจัยในห้องปฏิบัติการณ์ที่ชิคาโก เห็นด้วยว่า การใช้ยาเม็ดนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาความเหงาทั้งหมด พวกเขาคิดว่าการใช้ยานั้นเป็นเป็นเหมือนส่วนเสริมที่ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ซึ่งสามารถทำได้ทุกวัน เมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เพราะการต่อสู้กับความเหงานั้น เป็นการต่อสู้ที่เราต้องรับมือรายวัน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิจัยในสหรัฐฯ คิดค้นยา แก้โรคเหงา อีกสภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพกาย-ใจ อัปเดตล่าสุด 14 สิงหาคม 2562 เวลา 17:08:07 7,935 อ่าน
TOP