x close

สรุปไทม์ไลน์ ความสัมพันธ์ อเมริกา-อิหร่าน จากมิตรเป็นศัตรู และอาจนำไปสู่สงคราม

            เปิดไทม์ไลน์ ความสัมพันธ์ สหรัฐอเมริกา กับ อิหร่าน จากมิตรภาพที่แสนดี กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาต ความบาดหมางรุนแรง จนอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 
อิหร่าน สหรัฐฯ

ชาวอิหร่านทำลายธงชาติสหรัฐฯ ประท้วงการสังหารนายพลโซลีมานี

ภาพจาก ATTA KENARE / AFP

            การเข้าสู่ปี 2020 นับเป็นการเริ่มต้นทศวรรษใหม่ที่ตึงเครียดไม่ใช่น้อย หลังจากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) สั่งแอร์สไตรก์สังหาร นายพลคาเซม โซลีมานี (General Qasem Soleimani) นายทหารระดับสูงของอิหร่าน ผู้มีอำนาจเป็นอันดับสองรองจากอะยาตอลเลาะห์

            ข่าวการเสียชีวิตของนายพลรายนี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งตะวันออกกลาง โดย อะยาตอลเลาะห์ อะลี คอเมนาอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ได้ประกาศว่าจะล้างแค้นอย่างสาสม ประชาชนทั่วประเทศก็ได้ออกมาเดินขบวนไว้อาลัย พร้อมร้องตะโกนกึกก้องว่า "อเมริกาต้องตาย"

อิหร่าน สหรัฐฯ

นายพลคาเซม โซลีมานี นายพลสูงสุดของอิหร่าน ผู้ถูกสังหาร

ภาพจาก KHAMENEI.IR / AFP

            ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับ อิหร่าน เป็นไปอย่างคุกรุ่นมาโดยตลอด ด้วยหลายปัจจัยและสาเหตุ โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันและอาวุธนิวเคลียร์ การฆ่านายพลโซลีมานี เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อิหร่านหมดความอดทนกับความสัมพันธ์ตึงเครียดนี้ และพร้อมนำประเทศเข้าสู่สงคราม

            ข้อมูลจาก Public Radio International ระบุว่า ความบาดหมางระหว่างประเทศมหาอำนาจโลกกับยักษ์ใหญ่แดนเปอร์เซีย ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานต่อเนื่องมาเกือบ 7 ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่วันที่สหรัฐฯ ก้าวเท้าเข้าคุกคามอิหร่านในทศวรรษ 1950

นี่คือไทม์ไลน์คร่าว ๆ ของความสัมพันธ์สีเทา ระหว่าง สหรัฐฯ กับ อิหร่าน ที่อาจนำไปสู่ สงครามโลกครั้งที่ 3

ปี 1953 สหรัฐฯ รุกราน อิหร่าน

อิหร่าน สหรัฐฯ

นายโมฮัมเหม็ด มอสซาเดก นายกรัฐมนตรีชาตินิยมของอิหร่าน ผู้ถูกอังกฤษและสหรัฐฯ ร่วมมือกันโค่นอำนาจ

ภาพจาก STRINGER / INTERCONTINENTALE / AFP

            โมฮัมเหม็ด มอสซาเดก (Mohammad Mossadegh) ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยระบอบประชาธิปไตย ได้กีดกันอังกฤษออกไปจากกิจการบ่อน้ำมันของอิหร่าน เขาเป็นนักชาตินิยมที่ต่อต้านชาติตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ ผู้ซึ่งเข้ามารุกรานและสูบน้ำมันไปจากอิหร่านมาหลายทศวรรษ

            อังกฤษพยายามต่อกรกับนายมอสซาเดกแต่ไม่สำเร็จ จึงได้ยืมมือพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ มาช่วย โดยอังกฤษกับสหรัฐฯ ได้รับความช่วยเหลือจากคนในอิหร่าน ในการปล่อยข่าวลือชวนเชื่อโจมตีนายมอสซาเดก และโน้มน้าวพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ให้เข้าร่วมด้วย

            ในที่สุดกองทหารสหรัฐฯ และหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ ได้เข้าทำการรัฐประหารอิหร่าน โค่นล้มอำนาจนายมอสซาเดก และแต่งตั้ง พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ โดยสหรัฐฯ ได้เฉลิมฉลองความสำเร็จครั้งนี้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความโกรธแค้นและไม่ไว้วางใจสหรัฐฯ ในหมู่ประชาชนชาวอิหร่าน และการกระทำของสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนอิหร่านจากประเทศประชาธิปไตย ไปสู่ประเทศเผด็จการ

อิหร่าน สหรัฐฯ

พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอิหร่าน

ภาพจาก AFP

ปี 1957-1968 จุดเริ่มต้นเหตุมิตรภาพ

อิหร่าน สหรัฐฯ

ประธานาธิบดีดไวต์ ไอเซนฮาวร์ ผู้ริเริ่มโครงการนิวเคลียร์ให้กับอิหร่าน

ภาพจาก SHAPE / AFP

            ประธานาธิบดีดไวต์ ไฮเซนฮาวร์ (Dwight Eisenhower) มีความริเริ่มเผยแพร่ความรู้เรื่องเทคโนโลยีกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งอิหร่าน โดยทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงทวิภาคี Cooperation Concerning Civil Uses of Atoms ว่าด้วยการใช้นิวเคลียร์อย่างสันติ ต่อมา พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ทรงก่อตั้งศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ขึ้นที่มหาวิทยาลัยเตหะราน ซึ่งอิหร่านก็เริ่มได้รับแร่และเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ

            นอกจากนี้แล้วสหรัฐฯ ยังได้ส่งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 5 เมกะวัตต์ ให้อิหร่าน ความสัมพันธ์ในช่วงนี้เป็นไปด้วยดี จากนั้นอิหร่านได้ลงนามในสนธิสัญญายืนยันว่าจะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และได้รับอนุญาตให้พัฒนาโครงการด้านนิวเคลียร์ในระดับพลเรือนต่อไป

อิหร่าน สหรัฐฯ

พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี และ พระราชินีโซรายา

ภาพจาก AFP

ปี 1963-1973 มิตรภาพที่ยังคงแน่นแฟ้น

            เป็นทศวรรษแห่งความสัมพันธ์ที่ชื่นมื่น สหรัฐฯ ได้ส่งทรัพยากรจำนวนมากให้อิหร่าน เศรษฐกิจก็เติบโตอย่างรวดเร็วมาก ระบอบเผด็จการของพระเจ้าชาห์ก็มั่นคงขึ้นเช่นกัน พระองค์ทรงก่อตั้งกองกำลังตำรวจลับ SAVAK อันเกรียงไกรเป็นของพระองค์เอง ซึ่งได้รับการฝึกฝนจาก CIA  

            ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ได้เข้าตกลงกับพระเจ้าชาห์ เปิดโอกาสให้อิหร่านสามารถซื้ออาวุธสงครามเท่าไรก็ได้ที่ต้องการ เพื่อแลกกับการรับประกันผลประโยชน์และมั่นคงของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเมื่อสงครามอาหรับ-อิสราเอล ก่อตัวขึ้น ราคาน้ำมันก็พุ่งสูง พระเจ้าชาห์ทรงซื้ออาวุธสงครามทันสมัยเป็นจำนวนมากมาสะสมไว้ แม้สหรัฐฯ จะเปิดโอกาสเอง แต่สหรัฐฯ ก็ไม่พอใจ เพราะรู้สึกไม่มั่นคงแต่ก็ไม่มีทางออก

            ในระหว่างนั้นเอง อะยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำทางศาสนาที่ถูกเนรเทศออกไปในปี 1964 และได้พำนักในอิรัก เริ่มแสดงการต่อต้านพระเจ้าชาห์และสหรัฐฯ อย่างเงียบ ๆ ผ่านการเทศนาในมัสยิด ซึ่งเสียงสวดและกระแสการต่อต้านได้ดังมาถึงอิหร่าน แต่สหรัฐฯ ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการต่อต้านนี้ เพราะคิดแค่ว่าเป็นเรื่องศาสนา ซึ่งนั่นคือความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่

ปี 1978 ลมแห่งการปฏิวัติอิหร่านก่อตัว

อิหร่าน สหรัฐฯ

อะยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำการปฏิวัติอิสลาม และผู้นำสูงสุดคนแรกของอิหร่าน

ภาพจาก GABRIEL DUVAL / AFP

            กระแสต่อต้านพระเจ้าชาห์และสหรัฐฯ คุกรุ่นรุนแรงมาก จนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงต่อต้านไปทั่วประเทศ ภายใต้การนำของ อะยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี

            ในการประท้วงครั้งใหญ่ที่จัตุรัสจาเละห์ ในกรุงเตหะราน นั้น กองทหารของรัฐบาลอิหร่านตอบโต้ด้วยการกราดยิงใส่ประชาชน คร่าชีวิตไปหลายร้อยชีวิต ความเกลียดชังรัฐบาลเพิ่มพูนขึ้น ตอนนั้นสหรัฐฯ ก็กำลังยุ่งกับสงครามอาหรับ-อิสราเอล ไม่ได้ใส่ใจปัญหาภายในของอิหร่าน จนมองข้ามกระแสแห่งการปฏิวัติ

ปี 1979 ปฏิวัติอิสลาม

อิหร่าน สหรัฐฯ

บรรยากาศการปฏิวัติอิสลาม ที่อิหร่าน ปี 1979

ภาพจาก GABRIEL DUVAL / AFP

            ในวันที่ 16 มกราคม 1979 พระเจ้าชาห์เสด็จฯ ออกนอกประเทศ และแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนเป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนอิหร่านเล็งเห็นว่าวันนั้นคือวันสิ้นสุดการครองราชย์ของพระองค์ การประท้วงยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อะยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ซึ่งขณะนั้นอยู่ในฝรั่งเศส ได้ประกาศกร้าวถึงการเปลี่ยนแปลงอิหร่านเป็นรัฐอิสลาม และเสียงนั้นได้รับการตอบรับอย่างกึกก้อง

            ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อะยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี เดินทางกลับอิหร่าน โดยมีประชาชนนับล้านมาต้อนรับ ซึ่งภายในระยะเวลาไม่กี่วัน กองกำลังปฏิวัติได้เข้ายึดกองทัพ ที่ทำการกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งสื่อหลักของประเทศ

            และแล้วในวันที่ 1 เมษายน อิหร่านก็สถาปนาสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านอย่างเป็นทางการ โดยได้เสียงตอบรับจากประชานิยมอย่างล้นหลาม พระเจ้าชาห์ถูกปลดจากอำนาจ และ อะยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ก็ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดคนแรกในยุคใหม่ของอิหร่าน

1979-1981 ความสัมพันธ์แตกหัก จากมิตรสู่ศัตรู

อิหร่าน สหรัฐฯ

ส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ที่ถูกอิหร่านจับกุมในช่วงปี 1979 (3 คนกลาง) โดยพวกเขาเหล่านี้ถูกปล่อยตัวก่อน เพราะเป็นผู้หญิงและเป็นคนผิวสี

ภาพจาก IRNA-FILES / AFP

            ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) อนุญาตให้พระเจ้าชาห์ที่ประชวรด้วยมะเร็ง เดินทางมารับการรักษาอาการที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความมีมนุษยชน และอ้างว่าไม่มีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่ชาวอิหร่านที่สนับสนุนการปฏิวัติไม่พอใจ และมองว่าพระเจ้าชาห์กับสหรัฐฯ กำลังลอบวางแผนกลับมายึดอำนาจอีกครั้ง

            โดยกลุ่มนักศึกษาอิหร่านได้บุกเข้าสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน ลักพาตัวตัวนาวิกโยธินและเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ 66 คน และคุมขังพวกเขา ภายใต้การอนุญาตของอะยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี

            อิหร่านเรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งตัวพระเจ้าชาห์กลับคืนมา ไม่อย่างนั้นจะไม่รับประกันความปลอดภัยของชาวอเมริกันทั้ง 66 คนนั้น โดยอิหร่านในขณะนั้นต้องการตัดความสัมพันธ์ทุกอย่างกับสหรัฐฯ ไม่เหลือความเป็นมิตรในอดีตอีกต่อไป

            ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ตอบโต้ด้วยการประณามอิหร่านต่อหน้าองค์การสหประชาติ ระงับการดำเนินการทางทรัพย์สินอิหร่าน มูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ยุติความสัมพันธ์ทางการทูต และพยายามช่วยเหลือตัวประกัน แต่ล้มเหลว ทำให้ชาวอเมริกันถูกคร่าชีวิตไป 8 คน

            อิหร่านกักตัวชาวอเมริกันไว้ข้ามปี จนกระทั่งบรรลุข้อตกลงและปล่อยตัวพวกเขา หลังจากกักขังไว้ 444 วัน แต่ก็อนุญาตให้พวกเขากลับประเทศเพียง 55 คน เท่านั้น โดยตลอดระยะเวลาการควบคุมตัวประกันเหล่านี้ และความพยายามอันล้มเหลวในการช่วยเหลือ ได้ทำลายความน่าเชื่อถือในฐานะผู้นำสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีคาร์เตอร์จนหมดสิ้น

ปี 1980-2000 ทศวรรษของความขัดแย้งและสงคราม

            อิหร่านเริ่มสงครามกับอิรัก ซึ่งสหรัฐฯ กลัวว่าอิหร่านจะชนะและครองอำนาจทั้งตะวันออกกลาง สหรัฐฯ จึงส่งกองกำลังช่วยเหลืออิรัก ทั้งในด้านข้อมูล ทหาร และอาวุธ แม้สหรัฐฯ จะประณามอิรักที่ใช้อาวุธเคมีสู้อิหร่าน แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงสนับสนุน ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) แสดงความปฏิปักษ์ต่ออิหร่านอย่างชัดเจน

            นอกจากนี้แล้ว สหรัฐฯ ยังกล่าวหาว่าอิหร่านเป็นประเทศก่อการร้าย หลังจากที่กองกำลังสนับสนุนอิหร่านโจมตีสหรัฐฯ ฝรั่งเศส กลุ่มประเทศอาหรับ รวมทั้งสถานทูตสหรัฐฯ ในเลบานอน  

            ในปี 1984 เรือรบสหรัฐฯ ในอ่าวเปอร์เซียได้ยิงเครื่องบินแอร์บัส A300 ของสายการบินอิหร่านแอร์ (Iran Air) เที่ยวบินที่ 655 คร่าชีวิตเหล่าผู้ศรัทธา 290 คน ที่กำลังเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งสหรัฐฯ อ้างว่าเข้าใจผิด คิดว่าเป็นเครื่องบินรบ F-14

2001-2017 ปัญหานิวเคลียร์และการมาถึงของ โดนัลด์ ทรัมป์

อิหร่าน สหรัฐฯ

มะห์มูด อาห์มาดิเนจาด ประธานาธิบดีอิหร่าน ในปี 2005-2013 ผู้สนับสนุนโครงการนิวเคลียร์อย่างเต็มที่ และต่อต้านสหรัฐฯ

ภาพจาก ATTA KENARE / AFP

            หลังจากเหตุการณ์ 9/11 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) เหมารวมอิหร่านว่าเป็นหัวใจสำคัญแห่งความชั่วร้าย ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ทั่วโลกก็ค้นพบว่าอิหร่านร่ำรวยด้วยแร่ยูเรเนียมจำนวนมหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าอิหร่านยืนยันว่าใช้แร่เหล่านี้ในด้านพลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น ไม่ใช่อาวุธ อิหร่านและสหรัฐฯ ได้เดินหน้าเจรจาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์กันมาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้มาถึงจุดที่บรรลุข้อตกลงที่ชัดเจน

            กระทั่งปี 2015 อิหร่าน สหรัฐฯ องค์การสหประชาชาติ และสหภาพยุโรป ได้บรรลุข้อตกลง แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA - Joint Comprehensive Plan of Action) เพื่อวางกรอบควบคุมโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน จำกัดไม่ให้อิหร่านสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ และกิจกรรมใด ๆ ที่ใช้ยูเรเนียม ซึ่งอิหร่านก็ถอยและยอมตกลง แต่ยังคงกระทบกระทั่งกับสหรัฐฯ รวมทั้งยังเคยจับกุมกะลาสีเรือสหรัฐฯ แต่ก็ได้ปล่อยตัวไป

อิหร่าน สหรัฐฯ

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Arak ของอิหร่าน

ภาพจาก HO / ATOMIC ENERGY ORGANIZATION OF IRAN / AFP

            กระทั่งปี 2017 นับตั้งแต่วันแรกที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติ ก็คุกรุ่นลุกเป็นไฟขึ้นมาทันที โดยประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าอิหร่านคือผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มหัวรุนแรงทั่วโลก และในปี 2018 ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ฉีกสัญญาข้อตกลงด้านอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่าน ระบุว่าอิหร่านยังคงมีโครงการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์และพร้อมหาเรื่องอยู่ตลอด ซึ่งข้อตกลงที่ว่าไม่สามารถยับยั้งความแข็งกร้าวของอิหร่านได้เลย

2019 ปีแห่งความก้าวร้าวของอิหร่าน

อิหร่าน สหรัฐฯ

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ภาพจาก Joseph Sohm / Shutterstock.com

            หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ อิหร่านก็ประกาศว่าจะยอมถอยหลังหนึ่งก้าวในโครงการนิวเคลียร์ของตัวเอง แต่ผ่านไปไม่ทันไร อิหร่านก็ได้ปูพรมถล่มสถานีขุดเจาะและกักเก็บน้ำมันหลายแห่งในพื้นที่อ่าวเปอร์เซียติดต่อกันนานหลายเดือน รวมทั้งโรงน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย

            และในเดือนธันวาคม ฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรักถูกโจมตี และมีชาวอเมริกันเสียชีวิต สหรัฐฯ อ้างว่าเป็นฝีมือของกำลังทหารในอิรักที่สนับสนุนอิหร่าน และได้โจมตีฐานที่ตั้งของกองกำลังนี้เพื่อเป็นการตอบโต้

2020 เริ่มทศวรรษใหม่ด้วยเลือด และสงครามโลกครั้งที่ 3 ?

อิหร่าน สหรัฐฯ

ประชาชนชาวอเมริกัน ถือป้ายประท้วงหน้าตึก Trump Tower ร้องให้ถอนทหารจากอิรัก และไม่เอาสงครามกับอิหร่าน

ภาพจาก ANDREW CABALLERO-REYNOLDS / AFP

            ในวันที่ 3 มกราคม ประธานาธิบดีทรัมป์ได้สั่งสังหารนายพลคาเซม โซลีมานี โดยข้อมูลจากบีบีซี ระบุว่า สหรัฐฯ ทำไปเพื่อต้องการยับยั้งแผนการชั่วร้ายของอิหร่านในอนาคต เนื่องจากซีไอเอพบว่านายพลโซลีมานีวางแผนเตรียมโจมตีเจ้าหน้าที่สถานทูตและเจ้าหน้าที่รัฐชาวอเมริกันในอิรัก รวมทั้งในประเทศอื่น ๆ ทั่วตะวันออกกลาง

            การคร่าชีวิตนายพลรายนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น และนั่นนำไปสู่ความโกรธเกรี้ยวของอิหร่าน ผู้นำสูงสุดได้ออกมาประกาศเตรียมล้างแค้น และได้มีการชักธงสีแดงเลือด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการหลั่งเลือดอย่างไม่เป็นธรรมและการแก้แค้น ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ประกาศก้องว่าอิหร่านพร้อมรบแล้ว

            ทั้งนี้ ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าอิหร่านจะเดินหน้าล้างแค้นอย่างไร แต่สหรัฐฯ ได้ทุ่มงบทางทหารไว้รอรับมือแล้ว ซึ่งจากนี้ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะบรรเทาความร้อนระอุลง หรือโลกจะก้าวเข้าสู่สงครามอีกครั้ง ท่ามกลางความพยายามของผู้นำจากหลายประเทศ ที่เริ่มเข้ามาเรียกร้อง ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายล้มเลิกการโต้ตอบกันด้วยความรุนแรง ก่อนสถานการณ์จะบานปลายยิ่งกว่านี้

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปไทม์ไลน์ ความสัมพันธ์ อเมริกา-อิหร่าน จากมิตรเป็นศัตรู และอาจนำไปสู่สงคราม อัปเดตล่าสุด 9 มกราคม 2563 เวลา 16:49:09 42,922 อ่าน
TOP