x close

สตม. แจงปมร้อน 1MDB หลัง ช่อ พาดพิง อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา


           รอง ผบช.สตม. แถลงชี้แจง 4 ประเด็น กรณี ช่อ พรรณิการ์ ซักฟอกนอกสภาคดี 1MDB พาดพิงการเข้า-ออกประเทศของผู้ต้องหาที่มีหมายจับตำรวจสากล

สตม. แจงปมร้อน 1MDB
ภาพจาก สำนักข่าว INN

           เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 พล.ต.ต. สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ สตม. นำทีมแถลงชี้แจง กรณี น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนอกสภา กล่าวหาว่า รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องคดี 1MDB โดยมีประเด็นพาดพิง สตม. ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ดังนี้

           ประเด็นแรก กรณีกล่าวว่า นายซาเวียจัสโต (MR.XAVIER JUSTO) สัญชาติสวิส ถูกดำเนินคดีและจำคุกในข้อหาพยายามกรรโชกทรัพย์ โทษจำคุก 6 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงเหลือ 3 ปี แต่เมื่อรับโทษเรียบร้อยแล้ว ถูกเนรเทศ ติด Blacklist ถึง 100 ปี (ตั้งแต่ปี 2016 - 2116) ทั้งที่คดียาเสพติด ติด Blacklist เพียง 50 ปี ซึ่งทาง สตม. ตรวจสอบแล้วพบว่า นายซาเวียจัสโต ได้เดินทางเข้า-ออก จำนวน 30 ครั้ง โดยเดินทางเข้าครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 และเข้าครั้งสุดท้าย วันที่ 12 มีนาคม 2558

           ต่อมา ถูกดำเนินคดีในข้อหารีดเอาทรัพย์ ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ต่อมา สตม. ได้ลงบันทึกเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย และผลักดันส่งกลับออกไป เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ซึ่งการลงบัญชีบุคคลต้องห้ามฯ ดังกล่าวในระบบสารสนเทศสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีการออกแบบในช่องบันทึกเป็นตัวเลข 1, 5, 10, 20 และ 100 ปี กรณีของนายซาเวีย เป็นการห้ามเข้าราชอาณาจักรตลอดชีวิต จึงลงบันทึกในช่องสูงสุด คือ 100 ปี ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อยู่ระหว่างการพัฒนาแก้ไขรูปแบบการบันทึกดังกล่าว

           ส่วนกรณี น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า นายโจโล นักธุรกิจสัญชาติมาเลเซีย ถูกทางการสิงคโปร์ขอให้ตำรวจสากลออกหมายแดง ติดตามตัว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2559 แต่ในบันทึกการเดินทางเข้า-ออกของไทย นายโจโล สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเข้า-ออก ได้ถึง 5 ครั้งนั้น จากการตรวจสอบพบว่า นายโจโล มีการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย รวม 54 ครั้ง โดยครั้งแรกเดินทางเข้ามาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 และเดินทางเข้ามาครั้งสุดท้ายวันที่ 10 พฤษภาคม 2561

           และต่อมาเดินทางออกครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 ซึ่งในระบบสารสนเทศ สตม. ปรากฏข้อมูลหมายจับตำรวจสากลของนายโจโลเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 เป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่นายโจโลเดินทางออกไปจากประเทศไทยครั้งสุดท้ายแล้ว

           ส่วนกรณีที่กล่าวว่า นายตังเคงฉี (MR.TANG KENG CHEE) หนึ่งในเครือข่ายของนายโจโล เป็นบุคคลที่ถูกสอบสวนจากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ และถูกออกหมายแดง แต่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยจนวีซ่าหมดอายุ และมาขอต่อวีซ่า โดย ตม. พบว่า มีชื่ออยู่ใน Watch list แต่ยังขอต่อวีซ่าในไทยให้อีก 14 วัน และเดินทางออกจากประเทศได้อย่างไร้ร่องรอย ไม่มีข้อมูลการเดินทางออกจากราชอาณาจักร โดยไม่ทราบว่าออกไปโดยช่องทางใด

           จากการตรวจสอบพบว่า นายตังเคงฉี เดินทางเข้า-ออกประเทศไทย รวม 23 ครั้ง โดยเดินทางด้วยบัตรสมาชิกพิเศษ(Thailand Privilege Card) และได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นพิเศษ (Privilege Entry Visa) อายุวีซ่า 5 ปี โดยครั้งแรกเดินทางเข้ามาเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 และเข้าครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2561 แต่ไม่ได้ใช้วีซ่าดังกล่าวข้างต้น โดยใช้สิทธิเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน (ผ.30) แต่เมื่อครบกำหนด นายตังเคงฉี มิได้เดินทางออกจากประเทศไทย จึงมีความผิดฐานเป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด พนักงานสอบสวนจึงได้ยื่นคำร้องขอศาลออกหมายจับ และศาลแขวงปทุมวัน ได้อนุมัติหมายจับ สตม. ได้บันทึกบัญชีบุคคลเฝ้าดู และอยู่ระหว่างการสืบสวนติดตามจับกุมนายตังเคงฉี มาดำเนินคดีต่อไป

           ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบพบว่า นายตังเคงฉี มีหมายจับของประเทศมาเลเซีย โดยปรากฏข้อมูลหมายจับ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังที่นายตังเคงฉี เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรครั้งสุดท้าย จึงสามารถเดินทางได้

           สำหรับกรณี นาง ลู ไอ ซวอน (MRS. AI SWAN LOO) หรือ จัสมินลู ทนายความของนายโจโล มีชื่ออยู่ใน Watch list จากคำสั่งเฝ้าระวังของ รอง ผบ.ตร. แต่ยังสามารถเดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิในช่องทางปกติได้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 โดยไม่มีการแจ้งเตือนรอง ผบ.ตร. จากการตรวจสอบครั้งแรกเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2562 พบว่ามีข้อมูลเดินทางเข้า-ออก 36 รายการ แต่เมื่อตรวจสอบครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมกราคม 2563 พบว่ามีข้อมูล 14 รายการ ปรากฏว่าข้อมูลเดินทางหายไป 22 รายการ

           ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่า ข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของนางจัสมินลู ไม่ได้ถูกลบรายการแต่อย่างใด โดยพบว่ามีการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย รวม 68 ครั้ง ครั้งแรกเดินทางเข้ามาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2556 เดินทางเข้าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 และเดินทางออกครั้งสุดท้ายเมื่อ 7 กันยายน 2561 แต่หมายจับตำรวจสากลปรากฏในระบบสารสนเทศตรวจคนเข้าเมืองเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่นางจัสมินลู เดินทางออกไปจากประเทศไทยครั้งสุดท้ายแล้ว

ข้อมูลจาก สำนักข่าว INN


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สตม. แจงปมร้อน 1MDB หลัง ช่อ พาดพิง อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา อัปเดตล่าสุด 25 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 10:17:07 9,104 อ่าน
TOP