x close

วัน อยู่บำรุง อภิปรายนอกสภา ชำแหละงบประมาณ ชี้จ่ายแสนล้านทุกปี ตั้งแต่ปฏิวัติ

         วัน อยู่บำรุง ตั้งโต๊ะไลฟ์ อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา ตั้งข้อกังขา-ชำแหละงบประมาณปี 64 ชี้ตั้งแต่มีรัฐบาลผลพวงมาจากรัฐประหาร มีการตั้งงบสูงมาก 

วัน อยู่บำรุง
         วันที่ 30 มิถุนายน 2563 นายวัน อยู่บำรุง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก วัน อยู่บำรุง เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา กรณี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 โดยระบุว่า วันที่ 1-3 กรกฎาคม 2563 สภาผู้แทนราษฎร จะมีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เดิมทีตนจะอภิปรายในสภาฯ แต่ตนพบว่ามีประเด็นสำคัญที่จะชี้แจงให้เห็นถึงความบกพร่องของ พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลา ตนคงไม่สามารถนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้อย่างครบถ้วน จึงไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอภิปรายฯ กรณีดังกล่าว

         นายวัน ระบุว่า ปกติแล้วการทำ พ.ร.บ.งบประมาณ นั้น จะจัดทำขึ้นตามนโยบายงบประมาณปี 2564 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดว่าจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้นมีคนไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการวางแผนไกล ไม่ตอบโจทย์ การที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว หรือมีสถานการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์โรคโควิด 19 ได้รับการชื่นชมจากนานาชาติว่าแก้ปัญหาได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ตนคิดว่าไม่ใช่ฝีมือรัฐบาล แต่เป็นเพราะรัฐบาลทำตามคำแนะนำของคณะแพทย์ ประกอบกับประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งติดระดับโลกมานาน ที่สำคัญคือความร่วมมือของประชาชนต่างหาก

         นายวัน ระบุว่า ตนขอตั้งชื่องบฯ ฉบับนี้ว่า พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับแอ็บนอร์มัล ที่แปลว่าผิดปกติ เพราะไปยึดเอาแนวทางของยุทธศาสตร์ 20 ปีมาเขียนงบประมาณ เปรียบเสมือนคำที่ว่าผลไม้ของต้นไม้ที่มีพิษ ผลของมันย่อมมีพิษตามมาด้วย สรุปคือว่า เมื่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่เหมาะกับประเทศไทย พ.ร.บ.งบประมาณ ที่เกิดจากการยึดแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่เหมาะด้วยเช่นกัน

         เขาคงคิดว่าระยะเวลา 20 ปี แต่ละปีคงมีเหตุการณ์เหมือนกันทุก ๆ ปี จึงวางแผนรูปแบบเดิม ๆ ได้ แต่ลองดูปีนี้ เปิดมาต้นปีก็เจอวิกฤตโควิด-19 แล้ว ทำให้ผิดแผนไปหมด ไม่มีประเทศไหนทำตามแผน มีแต่ยึดเป็นแนวทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สำหรับประเทศไทย เป็นการบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องทำตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ ทำให้ประเทศเดินไปในทางที่ผิด

วัน อยู่บำรุง

         นอกจากนี้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก็เป็นแนวทางในการจัดทำ พ.ร.บ. ฉบับนี้เช่นกัน ซึ่งนโยบายนี้ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เสียงเล่าลือว่าลอกมาจากนโยบายอินดัสทรีของฝรั่ง ซึ่งลอกมาก็ไม่ครบ ไม่ชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติ สนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย แถมยังเอื้อทุนขนาดใหญ่ที่ใกล้ชิดรัฐบาล ทำให้คนรวย รวยขึ้นเรื่อย ๆ คนจน จนลง

         ทั้งนี้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลรู้แล้วว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะแย่ จึงต้องตั้งงบฯ ขาดดุล แต่งบฯ ปี 2564 เป็นการตั้งงบฯ ขาดดุลมากถึง 6.2 แสนล้านบาท โดยเพิ่มจากงบฯ 2563 ถึงร้อยละ 32.8 ซึ่งเยอะมาก ขณะที่งบฯ ปี 2563 ตั้งงบฯ ขาดดุลเพิ่มจากปี 2562 เพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น ซึ่งงบฯ ปี 2564 เป็นสัดส่วนงบประมาณที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี

         ทำให้ตอนนี้รัฐบาลมีหนี้ทั้งหมดกว่า 6.6 ล้านล้านบาท หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนคือ ประชากรในประเทศไทยมี 66 ล้านคน เท่ากับเรามีหนี้เฉลี่ยคนละ 1 แสนบาท ส่วนงบกลางก็ตั้งสูงถึงกว่า 6 แสนล้านบาท ปี 2563 มีงบฯ กลาง 5 แสนล้านบาท รัฐบาลก็ใช้จ่ายมือเติบจนหมดในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยที่ชาวบ้านแทบไม่รู้ว่าเอาไปใช้อะไรบ้าง แล้วงบฯ กลางปี 2564 ถือเป็นงบฯ กลางที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี ด้วย

         ส่วนเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินที่มีการตั้งไว้สูงถึง 9.9 หมื่นล้านบาทนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะเป็นงบฯ ที่ใช้กับความไม่แน่นอนในอนาคต รัฐสภาอนุมัติเพียงกรอบวงเงินเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ ดังนั้น ตนขอเสนอว่าไม่ควรตั้งเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินมากเกินไป รัฐบาลควรใช้วิธีการเพิ่มงบฯ ตามวิธีปกติ เช่น การเสนอ พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม หรือ พ.ร.บ.โอนเงิน ต่อรัฐสภา เพราะวิธีนี้จะทำให้เกิดความโปร่งใส ลดการทุจริตโดยกระบวนการของสภาฯ พี่น้องประชาชนที่เสียภาษีจะได้รับทราบรายละเอียด

         ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งงบเงินสำรองจ่ายนี้ ตั้งแต่มีรัฐบาลที่เป็นผลพวงของคณะรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 มานั้น  การตั้งงบฯ นี้สูงมาก จำนวนกว่าแสนล้านบาททุกปี ทั้งที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่เคยตั้งสูงขนาดนี้

         การแพร่ระบาดของ covid 19 นั้น กระทบทุกภาคส่วน ดังนั้น การจัดทำงบฯ ควรสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข และเศรษฐกิจเป็นหลัก ควรปรับลดงบฯ ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง และชะลอโครงการบางโครงการออกไปได้ รวมถึงควรปลับลดงบฯ ของกระทรวงที่ได้มากจนเกินไป เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมที่เอาเงินไปซื้อยุทธโธปกรณ์ที่อยากถามว่าจะเอาไปรบกับใคร



ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก วัน อยู่บำรุง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัน อยู่บำรุง อภิปรายนอกสภา ชำแหละงบประมาณ ชี้จ่ายแสนล้านทุกปี ตั้งแต่ปฏิวัติ อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2563 เวลา 09:31:22 3,802 อ่าน
TOP