x close

เปิดข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 ข้อ หลังสลายการชุมนุม ห้ามมั่วสุมเกิน 5 คนขึ้นไป

          เปิดรายละเอียด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศครั้งล่าสุด วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ห้ามมั่วสุมเกิน 5 คน รวมถึงห้ามไปอยู่ในอาคาร หรือเส้นทางต่าง ๆ ตามที่ประกาศห้าม



          วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ระบุว่า

          โดยที่ปรากฏว่ามีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่าง ๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง

          กรณีนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าว ให้มีการยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อให้มีการปฏิบัติตามฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และ 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 นายกรัฐมนตรีจึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร

          ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป

          สำหรับรายละเอียดของการประกาศสถานฉุกเฉิน อาศัยความในมาตรา 9 และมาตรา 11 วรรค 2 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยออกข้อกำหนด ดังนี้

          1. ห้ามมิให้ผู้ใดชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการยุยงไม่ให้เกิดความสงบเรียบร้อย

          2. ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว เจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

          3. ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือให้ใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะโดยมีเงื่อนไข ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

          4. ห้ามใช้ เข้าไป หรืออยู่ในอาคารหรือสถานที่ใด ๆ และให้ออกจากอาคารหรือสถานที่ใด ๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

          5. การดำเนินการตามข้อ 1-4 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้





พ.ร.ก.ฉุกเฉิน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 ข้อ หลังสลายการชุมนุม ห้ามมั่วสุมเกิน 5 คนขึ้นไป อัปเดตล่าสุด 16 ตุลาคม 2563 เวลา 10:31:14 40,243 อ่าน
TOP