x close

เปิดความหมาย "ราชกิจจานุเบกษา" คืออะไร - มีที่มาอย่างไร ที่นี่มีเฉลย

          หอสมุดแห่งชาติ เปิดความหมาย ราชกิจจานุเบกษา คือ หนังสือพิมพ์ข่าวที่รวบรวมคำประกาศต่าง ๆ ของทางราชการ


ราชกิจจานุเบกษา

          จากกรณีการเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษาฉบับต่าง ๆ ที่ออกมาประกาศเกี่ยวกับข้อกฎหมาย การถอดยศ เลื่อนยศ การประกาศล้มละลาย หรือข้อบังคับต่าง ๆ นั้น หลายคนยังมีความเข้าใจผิดกับคำว่า "ราชกิจจานุเบกษา" ซึ่งอาจจะเข้าใจว่าเป็นพระราชโองการจากพระมหากษัตริย์ อาจเพราะด้วยมีตราครุฑ แต่จริง ๆ แล้ว ราชกิจจานุเบกษา คืออะไร วันนี้ กระปุกดอทคอม มีคำตอบ...

          ทางหอสมุดแห่งชาติ เคยอธิบายเกี่ยวกับ ราชกิจจานุเบกษา ผ่านทวิตเตอร์ @NLThailand_PR ระบุว่า ราชกิจจานุเบกษา คือ หนังสือพิมพ์ข่าวที่รวบรวมคำประกาศต่าง ๆ ของทางราชการ เริ่มพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2401 แต่พิมพ์ได้เพียง 1 ปี ก็หยุด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงจัดพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง และพิมพ์มาถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันราชกิจจานุเบกษา แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

          1. ประเภท ก ฉบับกฤษฎีกา เป็นประกาศเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา พระบรมราชโองการที่เป็นกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งของหน่วยงานหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

          2. ประเภท ข ฉบับทะเบียนฐานันดร เป็นการประกาศเกี่ยวกับการสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ รายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญราชการ หรือยศ รายชื่อผู้ถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือถูกถอดยศ หมายกำหนดการ พระราชพิธีต่าง ๆ และข่าวในพระราชสำนัก

          3. ประเภท ค ฉบับทะเบียนการค้า เป็นการประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด การเปลี่ยนแปลงและการเพิกถอนทางทะเบียน

          4. ประเภท ง ฉบับประกาศและงานทั่วไป เป็นการประกาศเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจาก ประเภท ก, ข, ค

ขอบคุณข้อมูลจาก หอสมุดแห่งชาติ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดความหมาย "ราชกิจจานุเบกษา" คืออะไร - มีที่มาอย่างไร ที่นี่มีเฉลย อัปเดตล่าสุด 17 พฤศจิกายน 2563 เวลา 23:31:08 17,475 อ่าน
TOP