x close

ไลน์สั่งงานวันหยุด - หลังเลิกงาน ลูกจ้างไม่ตอบก็ได้ ถ้าใช้ทำงานต้องจ่าย OT


            ตอบข้อข้องใจ ถูกนายจ้าง ไลน์สั่งงานวันหยุด หรือนอกเวลางาน ลูกจ้างไม่ตอบก็ไม่ผิด นำไปประเมินไม่ได้ หากถูกใช้ทำงานต้องได้ค่าโอที

กฎหมายแรงงาน

            นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ลูกจ้างหลายคนรู้สึกไม่สบายใจ กรณีถูกนายจ้างสั่งงานในวันหยุด บางคนต้องตอบไลน์ ตอบงาน ทั้งที่ไม่ใช่เวลางาน แต่ก็จำเป็นต้องทำเพราะกลัวจะถูกมองว่าขัดคำสั่งและอาจส่งผลต่อหน้าที่การงานนั้น

            เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 8 ธันวาคม 2563 เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 7 ให้ความรู้ว่า การสั่งงานนอกเวลางาน ลูกจ้างปฏิเสธไม่ตอบได้ ไม่เป็นความผิด และไม่ถือว่าขัดคำสั่งนายจ้าง รวมถึงนายจ้างไม่สามารถนำเอาเหตุดังกล่าวไปใช้ในการประเมินผลงานได้ และการสั่งงานนอกเวลา คือ ทำงานล่วงเวลา ต้องจ่ายค่าโอที อีกด้วย อย่างไรก็ดี การสอบถามเรื่องงาน ไม่ใช่การสั่งงาน ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงด้วย

            ขณะเดียวกันมีการอ้างถึง เพจกฎหมายแรงงาน โดยท่าน อ.ตรีเนตร สาระพงษ์ ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า เมื่อพิจารณาจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 23 กำหนดว่าให้นายจ้างประกาศเวลาทำงาน โดยวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง การทำงานนอกเหนือหรือเกินจากเวลาทำงานปกติ 8 ชั่วโมงข้างต้นเรียกว่า "ล่วงเวลา" และถ้าเป็นการทำงานล่วงเวลานายจ้างต้องจ่าย "ค่าล่วงเวลา" ถ้าล่วงเวลาวันธรรมดาจ่าย 1.5 เท่า ถ้าล่วงเวลาในวันหยุดจ่าย 3 เท่า

กฎหมายแรงงาน

            ปัญหาว่าการสั่งงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไลน์ ข้อความเฟซบุ๊ก วอทแอป อีเมลล์ นายจ้างสามารถทำได้หรือไม่ จะขอแยกอธิบายเป็น 3 ประเด็น คือ

            1. สั่งงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเวลาทำงานปกติ เช่นนี้การสั่งการดังกล่าวสามารถทำได้เพราะนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้าง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนายจ้างได้ชำระหนี้ต่างตอบแทนในรูปของ "ค่าจ้าง" อยู่แล้ว

            2. สั่งงานผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์ "นอกเวลาทำงานปกติ" หรือ "ในวันหยุด" และผลจากคำสั่งนั้นทำให้ลูกจ้างต้อง "ทำงาน" ให้แก่นายจ้าง เช่น นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างคำนวณต้นทุน หรือทำเอกสาร หรือค้นคว้าหาข้อมูล จะเห็นได้ว่าผลจากคำสั่งดังกล่าวลูกจ้างต้อง "ทำงาน" และเป็นการทำ "นอกเหนือเวลาทำงานปกติ" หรือ "ทำงานในวันหยุด" ผู้เขียนเห็นว่า การสั่งงานดังกล่าวมีผล ดังนี้

            - ลูกจ้างปฎิเสธที่จะทำได้ เพราะมาตรา 24 กำหนดว่าการทำงานล่วงเวลาจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย

            - หากลูกจ้างไม่ยินยอม นายจ้างจะนำเอาเหตุดังกล่าวไปใช้ในการประเมินผลงานไม่ได้ เพราะสิทธิที่จะปฏิเสธการทำงานล่วงเวลาเป็นสิ่งที่กฎหมายบัญญัติรองรับให้สิทธิ

            - เมื่อการสั่งงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นการ "ทำงานล่วงเวลา" หรือ "ทำงานในวันหยุด" เพราะเป็นการทำงานนอกเหนือจากเวลาทำงานปกติ หรือทำงานในวันหยุด นายจ้างน่าจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลา หรือค่าทำงานในวันหยุดตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ในมาตรา 61,63 และมาตรา 62

            3. หากการสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่เป็นการทำงาน แต่เป็นการสอบถามหรือสื่อสารทั่วไป เช่น ถามที่เก็บกุญแจตู้ หรือขอรหัสผ่านคอมพิวเตอร์ ผู้เขียนเห็นว่า "ไม่ถือว่าเป็นการทำงาน" นายจ้างไม่ต้องรับผิดในการจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุด


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไลน์สั่งงานวันหยุด - หลังเลิกงาน ลูกจ้างไม่ตอบก็ได้ ถ้าใช้ทำงานต้องจ่าย OT อัปเดตล่าสุด 14 ธันวาคม 2563 เวลา 15:37:08 40,774 อ่าน
TOP