x close

อูนิเมืองไทย เสี่ยงทำหอยเม่นถูกจับกินเรียบ ส่งผลเลวร้ายต่อระบบนิเวศ !

          ดร.ธรณ์ หวั่นกระแสจับหอยเม่นไทยรับประทาน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศร้ายแรงกว่าที่คิด เช่นกับที่เคยเกิดมาแล้วกับปลิงทะเล ชี้ที่ต่างประเทศกินได้เพราะมีฟาร์มเพาะเลี้ยง  


          วันที่ 6 เมษายน 2564 ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โพสต์ข้อความแสดงกังวลเกี่ยวกับกระแสการจับหอยเม่งในท้องทะเลมาบริโภคว่า รู้สึกเป็นห่วงหอยเม่นที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง เพราะระยะหลัง ๆ นี้คนไทยเริ่มหันมากินหอยเม่นในทะเลไทยมากขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ เนื่องจากหอยเม่นที่อาศัยในแนวปะการัง จะช่วยกินสาหร่ายขนาดเล็ก โดยจะแทะไปตามปะการังตายและก้อนหิน เปรียบเสมือนผู้ควบคุมปริมาณสาหร่ายในระบบนิเวศแนวปะการัง

          หากเม่นทะเลถูกจับกินเป็นจำนวนมากในระยะเวลาที่รวดเร็ว อาจทำให้สาหร่ายเพิ่มจำนวนขึ้น จนปะการังวัยอ่อนลงเกาะไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแนวปะการังที่หลากหลายแต่บอบบาง มีสมดุลธรรมชาติ ส่งผลเสียในระยะยาว และไม่มีทางแก้ไข การป้องกันล่วงหน้าย่อมเป็นการดีกว่า เช่นเดียวกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับปลิงทะเล ที่เกิดกระแสจับไปกินจำนวนมากจนแทบไม่เหลือจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเม่นทะเล ก็เป็นสัตว์พวกดาวทะเล ปลิงทะเล เช่นกัน  





          ส่วนกรณีการบริโภคหอยเม่นในต่างประเทศนั้น สาเหตุที่ไม่กระทบต่อระบบนิเวศมากนัก เพราะต่างประเทศมีฟาร์มเม่นทะเล แต่สำหรับในประเทศไทยตอนนี้ก็เริ่มมีการพัฒนาการทำฟาร์มหอยเม่นเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจแล้วแต่ยังสำเร็จสมบูรณ์ ส่วนการออกกฎหมายคุ้มครองเม่นทะเลคงเป็นไปไม่ได้ และการประกาศห้ามจับสัตว์น้ำจากแนวปะการังทุกแห่งเป็นไปได้ยาก ยังไม่มีทางออกด้านกฎหมาย จึงได้แต่ขอร้องกันไว้ว่าตอนไปเที่ยวตามท้องทะเลก็ไม่ควรจับเม่นทะเลขึ้นมากิน

          นอกจากนี้ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ประกาศขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว และชาวประมงอย่านำ เม่นทะเลสีแดง เพราะจะทำให้จำนวนสาหร่ายเพิ่มมากขึ้นมากกว่าปกติ หากเจอเกยตื้นขอให้นำปล่อยคืนสู่ทะเล เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ทำความสะอาดท้องทะเล
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat, ไทยพีบีเอส

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อูนิเมืองไทย เสี่ยงทำหอยเม่นถูกจับกินเรียบ ส่งผลเลวร้ายต่อระบบนิเวศ ! อัปเดตล่าสุด 7 เมษายน 2564 เวลา 13:35:40 16,068 อ่าน
TOP