x close

สุพัฒนพงษ์ กระตุ้นคนไทยรักชาติ เอาเงินฝากมาใช้ สวนความจริง หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี

            สุพัฒนพงษ์ รองนายกฯ กระตุ้นคนไทยรักชาติ นำเงินฝากออกมาใช้จ่าย หวังกระตุ้น  GDP ถึง 4% ในปีนี้ แต่พบสวนทางกับความจริง หนี้ครัวเรือนไทยทะลุเพดาน 14 ล้านล้านบาท เกือบ 0% ของจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี

หนี้ครัวเรือน

            วันที่ 26 เมษายน 2564 ข่าวช่อง 3 รายงานว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมแก้ปัญหาโควิด-19 ยอมรับว่าการระบาดรอบนี้น่าเป็นห่วง แต่หากคนไทยช่วยกัน ก็ยังมีโอกาสที่ GDP ของไทยจะโตขึ้น 4% ได้ เพราะในตอนนี้พบว่าบัญชีเงินฝากของคนไทยสูงขึ้นหลายแสนล้านบาท ดังนั้น หากต้องการให้ GDP สูงขึ้น 4% ก็ขอให้ช่วยนำเงินฝากออกมาใช้จ่ายมากขึ้น

            ซึ่งหากนำจำนวนเงินฝากจำนวน 5-6 แสนล้านบาท ออกมาใช้ จะเปลี่ยน GDP ได้ถึง 3% หรือหากนำเงินฝากมาใช้เพียงครึ่งหนึ่งก็จะช่วยได้ขยับ GDP ถึง 1% ทั้งนี้ จากการประเมินประเทศไทยจะมี GDP 2.7 % แต่หากได้คนไทย คนรักประเทศ รักชาติ มาช่วยกันใช้จ่าย เห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือคนที่ด้อยโอกาสกว่า ทุกอย่างก็จะกลับมาได้

            ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีการเตรียมไว้อยู่แล้ว ซึ่งจะมีการตัดสินใจในช่วงเดือนพฤษภาคม และเริ่มใช้ในช่วงเดือนมิถุนายน โดยรัฐบาลจะต้องเร่งการใช้จ่ายในทุกกระทรวงและเป็นเรื่องของ พ.ร.บ.เงินกู้ ยืนยันว่า ไม่ใช่เป็นการกู้เงินเพิ่มเพราะยังเป็นกรอบเงินเดิม โดยมาตรการที่จะออกมาใช้เงินจำนวนไม่มาก พร้อมย้ำว่า วันนี้สิ่งสำคัญต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศไทย สามารถควบการกระบาดโรคโควิด 19 ได้ และขอให้ทุกคนมั่นใจจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

หนี้ครัวเรือน

ความจริงที่เจ็บช้ำ คนไทยติดหนี้กระจาย หนี้สูงถึง 89.3% ต่อจีดีพี แบบนี้เอาเงินที่ไหนใช้

            อย่างไรก็ดี ThaiPBS เผยว่า จากข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2563 พบว่ามีมูลหนี้รวม 14.02 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 18 ปี คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่ ร้อยละ 89.3 เมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2563

            เหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมาก มาจากการหดตัวของเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบของโควิด-19 โดยเฉพาะไตรมาส 2 ปี 2563 ที่เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง ร้อยละ 12 ซึ่งถือว่าเป็นระดับตํ่าสุดของวิกฤตครั้งนี้

            ส่วนแนวโน้มในปี 2564 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบ ร้อยละ 89.0-91.0 ต่อจีดีพี แต่ตัวเลขนี้สัดส่วนอาจจะสูงขึ้น จากการระบาดของโควิด 19 รอบใหม่ ซึ่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า โควิด-19 ระลอก 3 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่ารอบที่แล้ว และผลดังกล่าวจะกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปที่รายได้และกดดันหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติม

            ก่อนหน้านี้ ธปท. มองว่า หนี้ครัวเรือนสูงจะเป็นปัญหาระยะสั้น ที่ผ่านมาจึงเน้นมาตรการยืดหนี้ ลดค่างวด แต่ปรากฏว่าปัจจุบัน ไทยยังเจอการระบาดโควิด 19 รอบใหม่ ส่งผลให้ปัญหาหนี้สินไม่หมดไปโดยง่าย

หนี้ครัวเรือน

            ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่า เป็นห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงในระยะยาว และการแบกรับภาระหนี้ที่มากเกินไปของประชาชนจะเป็นตัวฉุดรั้งการบริโภค และการลงทุนในประเทศ ธปท. จึงอยากให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ และลดมูลหนี้ แต่ก็ต้องขึ้นกับเจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน

            เมื่อประชาชนมีรายได้ลดลง ก็ยิ่งทำให้ความสามารถการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง ธปท. กำลังดูว่า ถ้าสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ ยืดหนี้แล้ว จะทำอย่างไร ทั้งนี้ ปัญหาด้านรายได้ของลูกหนี้รายย่อย พวกเขาไม่ต้องการสินเชื่อใหม่แต่ต้องการรายได้ ถ้าเพิ่มรายได้ไม่ได้ ก็ต้องลดหนี้ ลดภาระ และปรับโครงสร้างหนี้ต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการสภาพคล่อง

ความจริงอีกด้าน คนไทยฝากเงินท่วมแบงก์ คาดอดในปี 2564 ทะยาน 15.1 ล้านล้านบาท

             เกี่ยวกับเรื่องเงินฝาก  ฐานเศรษฐกิจ ายงานว่า จากรายงานผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ยอดเงินฝากสิ้นปี 2563 เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านล้านบาท มาแตะที่ระดับ 14 ล้านล้านบาท สวนทางกับสินเชื่อที่ขยับขึ้น 9.5 แสนล้านบาท ทำให้มีวงเงินคงค้างทั้งสิ้น 13 ล้านล้านบาท สะท้อนเงินฝากขยายตัวเพิ่มขึ้น

             นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยว่า ยอดเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำที่ปรับลดลง ซึ่งบางธนาคารลดลงเกือบ 20%  เกิดจากการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝาก โดยไม่มีแคมเปญเงินฝากประจำเหมือนที่ผ่าน ๆ มา ทำให้ลูกค้ากลับไปฝากเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์  (CASA)  ซึ่งบัญชี CASA เติบโตมากขึ้น บางธนาคารโต 40% หรือ 25% โดยทีเอ็มบี ประเมินภาพรวมเงินฝากทั้งระบบปี 2564 น่าจะแตะ 15 ล้านล้านเป็นครั้งแรก 

             สปริงนิวส์ รายงานว่า นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย บอกว่า ในปี 2564 นี้ คาดว่าแนวโน้มเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาส 1-2 นี้โดยเฉพาะในแบงก์ขนาดใหญ่ และหลังจากนั้นจะทยอยไหลไปสู่แบงก์ขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ และลูกค้าบางส่วนกังวลที่จะขอสินเชื่อเพิ่ม ส่งผลให้มีแนวโน้มที่เงินฝาก เงินออม หรือสภาพคล่องจะท่วมระบบแบงก์ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่

             มีการวิเคราะห์กันว่าเงินฝากถือเป็นแหล่งพักเงิน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยกระดับขึ้น อาจจะทำให้คนหันมาพักเงินไว้ก่อน เนื่องจากเงินฝากยังคงได้รับดอกเบี้ย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นภาพที่เงินฝากท่วมได้ โดยมีการประเมินยอดคงค้างเงินฝากสิ้นปี 2564จะอยู่ที่ 15.1 ล้านล้านบาท จากปี 2563 ที่มียอดคงค้างเงินฝากอยู่ที่ 14.6 ล้านล้าน




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุพัฒนพงษ์ กระตุ้นคนไทยรักชาติ เอาเงินฝากมาใช้ สวนความจริง หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี อัปเดตล่าสุด 27 เมษายน 2564 เวลา 11:07:50 17,818 อ่าน
TOP