x close

เล่นมือถืออยู่ดี ๆ ฟ้าเกือบผ่ากลางกบาล หนีตายทั้งคนทั้งหมา อธิบายเพราะมือถือหรือไม่


           โซเชียลแชร์คลิป หนุ่มเล่นมือถือตอนฝนตก เจอฟ้าผ่าเปรี้ยงใกล้ ๆ ตัว หนีตายทั้งคนทั้งหมา โซเชียลเตือนอย่าเล่นมือถือตอนฝนตก เผยความรู้ อ.เจษฎา เคยไขคำตอบ มือถือเป็นตัวล่อฟ้าจริงเหรอ ??


           วันที่ 29 ตุลาคม 2564 TikTok @chitcarrent ได้โพสต์คลิปวิดีโอระบุข้อความว่า "วินาทีเฉียดตาย ฟ้าผ่า" โดยภายในคลิปจะเห็นชายเสื้อขาวกำลังนั่งเล่นโทรศัพท์อยู่ สักพักก็มีฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมา ทำเอาคนและหมาวิ่งหนีกันคนละทิศละทาง ด้านคอมเมนต์อื่น ๆ ต่างก็เข้ามาเตือนว่า อย่าเล่นโทรศัพท์ระหว่างฝนตก เพราะเสี่ยงที่ฟ้าจะผ่าลงมาผ่านกระแสไฟฟ้าและถึงตัวคนได้อาจจะถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว

           บ้างก็เข้ามาแซวว่างานนี้หนีตายเร็วกว่าแสง ฟ้าผ่าแว้บเดียว หายทั้งคนทั้งหมา พร้อมแนะนำว่าอย่าเล่นโทรศัพท์ตอนฝนตก

ฟ้าผ่า
ภาพจาก TikTok @chitcarrent

           อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อว่าสัญญาณโทรศัพท์ ล่อฟ้าผ่า นั้น รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความรู้ไว้ในรายการ #ชัวร์แน่หรือแชร์มั่ว ช่องอาจารย์เจษฎ์ ทีวี โดยระบุว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริง สัญญาณโทรศัพท์มือถือ หรือตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือนั้่น ไม่ได้มีศักยภาพเป็นตัวล่อฟ้าผ่าอย่างที่เชื่อกัน ฟ้าผ่าเป็นเรื่องของการเสียดสีกันของน้ำแข็งและโมเลกุลของสารต่าง ๆ ที่อยู่บนอากาศ ก้อนเมฆ และมีการแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้าจากบนอากาศลงมาที่พื้นดิน

           เวลาเกิดฟ้าผ่านั้น มันจะเกิดให้เร็วที่สุด และการผ่าลงมามักจะเกิดโดยสุ่มก็จริง แต่มักจะลงมาในบริเวณที่มีจุดโดดเด่น เช่นต้นไม้สูง กระท่อมกลางนา เป็นต้น ซึ่งอะไรก็ตามที่โดดเด่นอยู่พื้นที่โล่งแจ้ง มีสิทธิ์จะถูกฟ้าผ่าได้

ฟ้าผ่า
ภาพจาก TikTok @chitcarrent

           ในส่วนของโทรศัพท์นั้น ปกติเวลาใช้งานจะอยู่ในระนาบเดียวกับร่างกาย ไม่ได้อยู่สูงขึ้นไป และสัญญาณของโทรศัพท์มือถือก็ไม่สามารถทำให้เกิดการแตกของประจุไฟฟ้าเกิดขึ้น ที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็เคยมีการทดลองทำเครื่องจำลองฟ้าผ่า ผลการทดลองก็ชัดเจนว่าตั้งโทรศัพท์มือถือไว้ก็ไม่ทำให้เกิดฟ้าผ่า ทั้งบางกรณีที่คนถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตแล้วโทรศัพท์มือถือระเบิดไปด้วยนั้นทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าตัวโทรศัพท์มือถือเป็นตัวล่อฟ้า

           สำหรับกรณีกระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าวิ่งไหลไปตามพื้นนั้น รศ. ดร.เจษฎา เคยให้ความรู้ไว้ในเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ กรณีข่าวของครูที่เสียชีวิตหน้าคอมเพิวเตอร์ในบ้านที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ากระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าวิ่งมาตามสายไฟนั้น

           รศ. ดร.เจษฎา ระบุว่า การเสียชีวิตในกรณีนี้ที่พอจะเป็นไปได้ก็คือ การถูกฟ้าผ่าทางอ้อม (indirect lightning strike) จะมี 2 แบบ คือ 1. ฟ้าแลบด้านข้าง (side flash) กระแสไฟฟ้าที่ผ่าลงมาลงบนจุดหนึ่ง อาจกระโดดมาด้านข้าง เข้าสู่คนที่ยืนอยู่ใกล้จุดนั้น และ 2. กระแสไฟฟ้าไหลตามพื้น (ground current) ที่กระแสไฟฟ้าที่ผ่าลงมา จะไหลกระจายออกไปตามพื้นโดยรอบ เกิดแรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว (step voltage) และสามารถทำอันตรายคนที่อยู่ในบริเวณที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ (คนหรือสัตว์ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตใกล้ต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่า จะเกิดจากสาเหตุนี้)

ฟ้าผ่า
ภาพจาก TikTok @chitcarrent

           ดังนั้น จะเห็นว่าในกรณีที่เป็นข่าวนี้ ฟ้าผ่าลงมาด้านนอกของตัวอาคาร แต่กระแสไฟฟ้าสามารถวิ่งไหลไปตามพื้นได้ และเมื่อไฟฟ้าไปถึงที่อาคารนั้น  กระแสไฟฟ้าก็อาจจะวิ่งเข้าไปตามสื่อที่นำไฟฟ้า เช่น สายไฟ สายอากาศทีวี สายโทรศัพท์ และท่อน้ำที่เป็นโลหะ และทำอันตรายผู้ที่อยู่ใกล้กับสื่อนำไฟฟ้าพวกนี้ได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าอาคารนั้นไม่มีสายดิน)

ฟ้าผ่า
ภาพจาก TikTok @chitcarrent

           แม้ว่า เรื่องนี้จะยังเป็นปริศนาที่ไม่ชัดเจน แต่ก็เป็นอุทาหรณ์ได้ว่า ในขณะที่มีฝนฟ้าคะนอง ควรจะพยายามอยู่ห่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่างที่ไม่ได้ถอดสายไฟ หรือโทรทัศน์ที่เสียบสายอากาศต่อจากเสาอากาศหรือจานดาวเทียมนอกบ้าน หรือแม้แต่ใช้โทรศัพท์บ้าน ในทางกลับกัน ก็ควรจะถอดสายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ สายโมเด็ม เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง นอกจากจะช่วยเรื่องความปลอดภัยของตัวท่านเองแล้ว ยังช่วยให้เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ถูกกระแสไฟทำลายอีกด้วย ที่สำคัญคือ ทุกบ้านควรจะติดตั้งสายดิน (รวมถึงระบบตัดไฟฉุกเฉิน ถ้ามีงบพอ) เพื่อความปลอดภัยทั้งชีวิต และทรัพย์สิน

ฟ้าผ่า

ฟ้าผ่า

ฟ้าผ่า

ฟ้าผ่า

ฟ้าผ่า

ฟ้าผ่า

ฟ้าผ่า

ฟ้าผ่า

ขอบคุณข้อมูลจาก TikTok @chitcarrent, อาจารย์เจษฎ์ ทีวี, อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เล่นมือถืออยู่ดี ๆ ฟ้าเกือบผ่ากลางกบาล หนีตายทั้งคนทั้งหมา อธิบายเพราะมือถือหรือไม่ อัปเดตล่าสุด 29 ตุลาคม 2564 เวลา 16:01:34 19,895 อ่าน
TOP