x close

ถอดบทเรียนไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ภาครัฐ สื่อมวลชน สื่อออนไลน์ ควรสื่อสารอย่างไรในอุบัติภัย



          ราว 03.00 น. เช้าตรู่วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เกิดระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว ตามด้วยเพลิงไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็ว ที่โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ย่านกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โรงงานมีการเก็บสารเคมีที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดโฟมเม็ดพลาสติก คือ เพนเทนประมาณ 60-70 ตัน สไตรีนโมโนเมอร์ประมาณ 1,600 ตัน ทั้งสารสไตรีนโมโนเมอร์ และสารเพนเทน เป็นของเหลวที่ไวไฟสูง แรงระเบิดทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยในรัศมีใกล้เคียง ได้รับความเสียหายหลายหลัง สร้างความหวาดกลัววิตกกังวลต่อการลุกลามของเพลิงไหม้ ความเสี่ยงต่อการระเบิดของถังบรรจุสารเคมีขนาดใหญ่ โดยมีเหตุการณ์เฉพาะหน้า คือ สถานการณ์การดับเพลิง การให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนใกล้โรงงานเกิดเหตุ การอพยพลี้ภัย ตามมาด้วยคำถามถึงการชดใช้ เยียวยา กับผลกระทบจากสารเคมีสารเคมีอันตรายและเป็นสารก่อมะเร็ง ที่เผาไหม้แพร่กระจายทางอากาศ และการปนเปื้อนทางน้ำผ่านการฉีดดับเพลิง ฯลฯ จนกลางดึกวันที่ 5 กรกฎาคม ปฏิบัติการปิดวาล์วถังสารเคมีขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ดิน จึงทำได้สำเร็จ ในส่วนการดับเพลิง แม้จะจัดการในภาพรวมได้ แต่มีการปะทุเป็นระยะตลอดทั้งคืน จนถึงเช้าวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่จึงยืนยันว่าควบคุมเพลิงไว้ได้ทั้งหมดทุกจุดแล้ว รวมระยะเวลาการผจญเพลิงกว่า 28 ชั่วโมง 

         สรุปความเสียหายจากเหตุการระเบิดและไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล คือ ความเสียหายและผลกระทบต่อ 243 ชุมชน บ้านเรือนเสียหายกว่า 155 หลัง รถยนต์ 6 คัน รถจักรยานยนต์ 2 คัน สัตว์เลี้ยงบางส่วนช็อกตาย บางส่วนตกใจหนีหาย อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยเสียชีวิต 1 คน ผู้บาดเจ็บ 33 คน ความเสียหายของโรงงานหมิงตี้เคมีคอล ประเมินถึง 700 ล้านบาท โรงงานต้องปิดกิจการ พนักงานกว่า 200 คนตกงาน ในขณะที่การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ที่ควรสำรวจทันทีและทำต่อเนื่อง ยังเป็นสิ่งที่ชุมชนและสังคมโดยเฉพาะผู้รู้ผู้สนใจ มีความห่วงใย


          งานการศึกษาวิเคราะห์การสื่อสารออนไลน์ เดือนกรกฎาคม 2564 โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ศึกษาวิเคราะห์ความคิดเห็น อารมณ์ ความรู้สึก กลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคลธรรมดา จำนวน 100 ข้อความจากทวิตเตอร์ และบัญชีผู้มีอิทธิพลทางความคิด จำนวน 10 ข้อความ จาก Facebook  ผลการศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่เป็นความคิดเห็น อารมณ์ ความรู้สึก ในเชิงลบ โดยประเด็นที่กล่าวถึงมากที่สุด คือ ความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อมโยงประเด็นทางการเมืองและทางสังคม ประเด็นรองลงมา คือ การเตือนภัย การให้ความช่วยเหลือ การชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การรายงานเหตุการณ์ การควบคุมเพลิง รวมทั้งความเห็นต่อกฎหมายผังเมือง และการจัดตั้งโรงงาน การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การแสดงความรู้สึกต่อบุคคลหรือต่อเหตุการณ์

          Media Alert ได้สอบถามความเห็นต่อผลการศึกษา ครั้งนี้ และขอฟังบทวิเคราะห์และข้อเสนอต่อการสื่อสารในเหตุการณ์นี้ ซึ่งเป็นอุบัติภัยร้ายแรงครั้งหนึ่งของไทย จากผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามเรื่องแนวนี้มาโดยตลอด คือ คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ องค์กรพัฒนาเอกชนไม่แสวงผลกำไร ที่ทำงานสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษและสารอันตราย ให้ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม  สรุปสาระน่าสนใจจากการสัมภาษณ์ ได้ดังนี้

ทำไมความคิดเห็นอารมณ์ความรู้สึกทางโลกออนไลน์ต่อเรื่องนี้ จึงออกมาในเชิงลบ

          เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก ปฏิกิริยาหลังจากที่ได้ทราบข่าวนี้ ตกใจเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยความรู้สึกเศร้าใจและวิตกกังวล ยิ่งเมื่อรู้ข้อเท็จจริงมากขึ้น ก็ยิ่งตื่นกลัว โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบ ๆ จุดศูนย์กลางของการระเบิด อย่างน้อยรัศมี 3 กิโลเมตร ที่การระเบิดทำให้กระจกบ้านเรือนแตก แม้หลังคายังแตก มีอาคารร้าว โครงเหล็กบิดเบี้ยว จึงเป็นเรื่องปกติที่คนจะตื่นกลัว ตกใจ รวมทั้งคนที่ได้รับข่าวสาร ไม่ว่าจะทางทีวี วิทยุ หรือทางสื่อออนไลน์ ก็มีปฏิกิริยาด้านลบทันที ตามมาด้วยคำถามถึงผลกระทบต่อญาติพี่น้อง เพื่อน และการช่วยเหลือ การเยียวยาของภาครัฐ จะเป็นอย่างไร ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือใคร เป็นชุดของคำถามที่จะตามมา

ทำไมจึงมีการพาดพิง การเชื่อมโยงถึง ประเด็นทางการเมือง ระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น


          เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เพราะปัจจุบันพื้นที่เกิดเหตุเป็นเขตที่อยู่อาศัย แต่มีโรงงานหมิงตี้เคมีคอล ที่ใช้สารเคมีอันตราย ตั้งอยู่ จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดอุบัติภัยในลักษณะนี้ ทั้งที่ โดยกฎหมายปัจจุบัน โดยความถูกต้องทางหลักวิชาการแล้ว ไม่ควรมีโรงงานอยู่ตรงนั้น แต่เมื่อสืบค้นข้อมูลก็พบว่า โรงงานนี้ตั้งก่อนที่จะมีการประกาศสีผังเมืองในพื้นที่นั้น

          ถ้าประกาศสีผังเมืองให้เป็นเขตพาณิชยการและเขตที่อยู่อาศัยของชุมชน ทั้งมีสนามบินนานาชาติตั้งอยู่ห่างไปแค่ 3 กิโลเมตร กรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องไม่อนุญาตให้มีการขยายกิจการ หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานท้องถิ่นคือจังหวัดสมุทรปราการ กับอบต. ต้องหารือร่วมกันเรื่องการย้ายโรงงานออกนอกพื้นที่ เพราะลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนแปลงไป ตามหลักการสากลของกฎหมายผังเมือง กรณีภาครัฐพิจารณาแล้วว่าโรงงานที่ตั้งอยู่ก่อนไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในพื้นที่นี้ต่อไป ภาครัฐต้องเยียวยาชดเชยให้โรงงานที่จะต้องย้ายออก ต้องหาสถานที่เหมาะสมให้กับโรงงานนั้น แต่เมื่อภาครัฐไม่ดำเนินการตามนี้ คือ ไม่ได้ย้ายโรงงานออก ก็ต้องสร้างแนวกันชนเพื่อความปลอดภัยของชุมชนที่กำลังขยายรุกเข้ามา เพราะคนที่ลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ไม่ดูรายละเอียดของกฎหมายพวกนี้ แต่ขยายการลงทุน จนโรงงานกับชุมชนอยู่ติดกัน ซึ่งเสี่ยงอันตรายมาก  

          นอกจากไม่มีระบบป้องกันความเสี่ยงในเชิงผังเมืองแล้ว ก็ไม่มีการพิจารณาทบทวนการตรวจสอบกลไกป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดจากการระเบิดหรือไฟไหม้หรือสารเคมีรั่ว ทั้งนี้ภายใต้กฎหมายโรงงาน และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จึงถือเป็นความละเลย ความไม่รับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐที่บังคับใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้นกรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ จึงมีการทวงถามความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ ที่นอกจากไม่ย้ายโรงงานออก แต่ในช่วงปี 2561-2562 ยังอนุมัติให้ขยายกำลังการผลิตเป็นหมื่นตันต่อปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก ถือเป็นการกระทำผิดที่จงใจละเลยหน้าที่ หรือไม่โปร่งใสในการอนุมัติให้มีการขยายกำลังการผลิต หรือไม่

ถอดบทเรียนไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล : การสื่อสารเมื่อเกิดอุบัติภัย

วิเคราะห์เพื่อข้อเสนอต่อภาครัฐ (รัฐบาล/หน่วยงานภาครัฐ/หน่วยงานท้องถิ่น)
 
          1. การสื่อสารแสดงความเสียใจและความรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล หรืออย่างน้อยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ควรออกมาสื่อสาร รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรดูเรื่องนี้ เพราะภัยพิบัติใหญ่เกิดในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ สิ่งที่ภาครัฐต้องรีบทำ คือ การแสดงความรับผิดชอบเต็มที่ การยอมรับผิดต่อสาธารณะว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจเกิดจากความหละหลวมบางอย่างของภาครัฐ แม้ว่าโรงงานอาจจะผิดเต็มร้อย แต่อย่างไรภาครัฐก็หนีความรับผิดชอบไม่พ้น

          2. การแถลงข่าวและการสื่อสารสาธารณะ ควรมีการแถลงข่าวโดยข้าราชการการเมือง คือ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องกล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสร้างความสูญเสียมาก ต้องแสดงความรับผิดชอบเต็มที่ เพราะอนุมัติให้เพิ่มกำลังการผลิต ทั้งที่ก่อนการอนุมัติ ต้องตรวจสอบระบบป้องกันอุบัติภัย ป้องกันไฟไหม้ ป้องกันการรั่วไหลของสารเคมี แต่ภาครัฐโดยกรมโรงงานฯ มีการชี้แจงที่สั้นมาก แล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรอีกเลย ทั้งที่หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานมีเว็บไซต์ มีเพจ แต่ภาครัฐ เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีการสื่อสารกับสาธารณะ ไม่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่อง

          3. การทำเพจเฉพาะกิจ
เมื่อเกิดอุบัติภัย เช่นนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมกับหน่วยงานท้องถิ่น คือ อบต. ต้องจับมือกัน อาจทำเพจเฉพาะกิจขึ้นมา หรือทำอะไรก็ได้ เพื่อรับฟังปัญหา ความสูญเสีย ความเสียหายในด้านต่าง ๆ เพื่อรายงานการดำเนินการ เสนอข้อคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา หรือระดมความร่วมมือกับอาสาสมัครรวมทั้งจิตอาสา ที่จะเข้ามาช่วยกัน แต่ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่มีการดำเนินการ จึงถือเป็นความบกพร่องที่ร้ายแรงอีกข้อหนึ่งด้านการสื่อสาร เพื่อช่วยเหลือในภาวะที่ฉุกเฉินแบบนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังมากๆ
    
          4. การสำรวจความเสียหาย ทั้งที่เห็นในขณะปัจจุบันกับที่อาจเกิดผลกระทบในระยะยาว เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องปฏิบัติการด่วน โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องเป็นตัวกลางในการเร่งสำรวจความเสียหายร่วมกับส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านสาธารณสุข ต้องสำรวจทั้งในแง่ของผู้ที่สูญเสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในระดับต่าง ๆ ต้องมีการสำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนคนที่อยู่ในรัศมีโดยรอบ ที่อาจสัมผัสสารพิษ สูดดมสารพิษ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่ม คือ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ร่างกายอาจมีปฏิกิริยาไวต่อสารเคมี  ขณะเดียวกัน กรมโรงงานอุตสาหกรรมควรร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ สำรวจการปนเปื้อนของสารเคมีในพื้นที่ และวางแผนการตรวจวัดเป็นระยะ ๆ  เช่น ทุก 1 เดือน รวมทั้งมอนิเตอร์การสะสมของสารพิษ และการคลี่คลาย หรือการสลายของสารพิษในพื้นที่ ในระยะ 1 ปี 2 ปี หรือ 3 ปี ซึ่งก็ไม่พบว่ามีการทำ ในกรณีนี้จึงมองว่า ภาครัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และภาครัฐไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งในมิติของการสูญเสียชีวิต ผลต่อสุขภาพ ต่อทรัพย์สิน และต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

          5. ข้อเสนอต่อการดำเนินการทางนโยบายและกฎหมาย

          เหตุที่เกิดกับโรงงานหมิงตี้ ทำให้เห็นปัญหาจากการดำเนินการทางนโยบายและกฎหมาย จึงมีข้อเสนอ คือ

              1) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หรือ การทำให้สาธารณะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เช่น ที่ตั้งโรงงาน ผลกระทบด้านมลพิษ ด้านสารเคมี ที่ข้อมูลจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ การวางแผนพัฒนาที่ดิน การวางแผนเลือกซื้อที่อยู่อาศัย หรือการวางแผนในการป้องกันตนเองของประชาชนแต่ละคน

              2) จัดทำและเผยแพร่ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ "PRTR" (Pollutant Release and Transfer Register)

              3) ภาครัฐควรเอาจริงเอาจังกับกฎหมายผังเมือง ที่เป็นกฎหมายพื้นฐานในการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ดินในทิศทางที่ถูกต้อง ที่ส่งผลต่อความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุก ๆ คน รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้เพื่อคนรุ่นหลัง  

วิเคราะห์เพื่อข้อเสนอต่อการทำหน้าที่ของสื่อและการสื่อสารออนไลน์

              1) สื่อทำหน้าที่ได้ดีในช่วงแรกๆ ที่เกิดเหตุการณ์ อาจเพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสาธารณภัยเป็นประเด็นที่ไม่ Sexy แต่ชวนหดหู่ ชวนเศร้า ชวนกังวล แต่ถ้าสื่อเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีการนำเสนอ มองให้ลึก กรณีเช่นโรงงานหมิงตี้ เป็นเรื่องของ Human Interest ได้ เช่น การสูญเสียชีวิต ความทุกข์ของคนที่บ้านเสียหาย

              2) สิ่งที่หายไปจากกระบวนการทำงานของสื่อในยุคปัจจุบัน คือ การรายงานข่าวในเชิง Investigate เชิงสืบสวน การทำข่าวเจาะ ในเรื่องผังเมือง เรื่องการอนุมัติให้ขยายกำลังการผลิต ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือน ชีวิต ทรัพย์สิน ทั้งในส่วนของปัจเจกบุคคล และในส่วนทรัพย์สินสาธารณะ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม

              3) สื่อควรมีการตามติดเรื่องการชดใช้เยียวยาผู้ที่เสียหาย ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะเหตุการณ์นี้เป็นความปลอดภัยทางชีวิตและสังคม ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ คนที่เดือดร้อน ที่สูญเสีย ต้องได้รับการช่วยเหลือ สื่อต้องติดตามต่อเนื่อง เช่น เมื่อครบ 1 เดือน ครบ 2 เดือน สื่อควรมีการรีวิวว่า มีการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ อย่างไร ถ้ายังไม่มี สื่ออาจทำเป็นประเด็นสั้น ๆ หรือสัมภาษณ์ผู้ที่เสียหาย หรือตามสังเกตร่องรอยความเสียหาย เพื่อดูว่าปัญหาได้รับการแก้ไข หรือไม่ อย่างไร ประเด็นเหล่านี้มีรายละเอียด ที่อาจเป็นเรื่องปลีกย่อย แต่สะท้อนถึงความละเอียดในการนำเสนอข่าวสารแง่มุมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงไปถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานด้วย
    
              4) ควรมีแพลตฟอร์มกลาง เพื่อสื่อสารพลังของการช่วยเหลือ การช่วยกันแก้ไขสถานการณ์ การส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังจุดที่เข้าไม่ถึง หรือที่ยังไม่เป็นที่รับรู้ จึงควรมีสื่ออย่างจส.100 ในทุกภูมิภาค หรือในระดับจังหวัด เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางที่จะเชื่อมโยงร้อยความช่วยเหลือ

              5) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ควรสนับสนุนโครงการเพื่อจัดทำแพลตฟอร์มกลาง ที่มีภาคประชาชน ภาคสาธารณะ เป็น Citizen Reporter เป็นอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อม ด้านมลพิษ หรือเป็นชุมชนเฝ้าระวังปัญหามลพิษในพื้นที่ของชุมชน เพื่อความรวดเร็วในการส่งข่าวสาร การกระจายความช่วยเหลือในแต่ละพื้นที่

บทสรุป

          ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวปิดท้ายการสัมภาษณ์ว่า การสื่อสารด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ฉับไว ตรงไปตรงมา การออกมาแสดงความรับผิดชอบ แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การระดมความร่วมมือในการช่วยเหลือจากทุกฝ่าย เพื่อกอบกู้สถานการณ์ เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรทำในทุก ๆ เหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติภัยเคมี หรือว่าเหตุการณ์อะไรก็ตาม

          ในยุคปัจจุบัน ประชาชนมีการสื่อสารกันเร็วมาก ประชาชนมีความเท่าทัน มีการตัดสินใจที่ดี ถ้าเสพข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง จะทำให้การระดมความร่วมมือ การช่วยเหลือ การช่วยกันกู้วิกฤตต่าง ๆ เป็นไปได้เร็วมาก ไม่ผิดทิศผิดทาง และไม่ทำให้ภาครัฐถูกตำหนิทีหลัง




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถอดบทเรียนไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ภาครัฐ สื่อมวลชน สื่อออนไลน์ ควรสื่อสารอย่างไรในอุบัติภัย อัปเดตล่าสุด 23 พฤษภาคม 2565 เวลา 14:27:58 5,117 อ่าน
TOP