x close

ลูกค้าช็อก สินเชื่อทวงหนี้ อ้าง พนง. ขนส่งใส่เบอร์ไปกู้เงินไว้ ชาวเน็ตแฉเบื้องลึกทำป่วน


           หญิงเตือนภัย โดนสินเชื่อโทร. ทวงหนี้ อ้าง พนง. ขนส่งใส่เบอร์ไว้ในค้ำประกันกู้เงิน ชาวเน็ตแฉแก๊งปล่อยกู้ ดูดข้อมูลจากสมุดโทรศัพท์แล้วทวงมั่ว ๆ

ทวงหนี้
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

           เรียกว่าเป็นบริการที่หลายคนต้องเจอเป็นประจำกับการรับ-ส่ง พัสดุ โดยเฉพาะสายช้อปปิ้งตามแอปฯ ต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งอาจต้องระมัดระวัง เพราะมีเคสที่ผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลส่วนตัวในขั้นตอนนี้ไปใช้ในทางที่เสียหายได้

           วันที่ 23 มกราคม 2566 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ในกลุ่ม พวกเราคือผู้บริโภค เตือนภัยเรื่องที่จู่ ๆ โดนแอปฯ กู้เงิน ติดต่อมาเพื่อทวงเงินทั้งที่ไม่เคยไปกู้เงินเลย ก่อนจะพบสาเหตุว่า เป็นเพราะโดนพนักงานจากแอปฯ ส่งพัสดุแอบอ้างเอาข้อมูลไปใช้ดังกล่าว

ทวงหนี้
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

           เจ้าของเรื่องราวเล่าว่า ตนได้รับสายจากสินเชื่อแห่งหนึ่ง สอบถามว่าเธอชื่อนี้หรือไม่ เธอจึงสอบถามกลับว่าอีกฝ่ายนั้นโทร. มาจากไหน เพราะน้อยคนที่จะรู้จักชื่อนี้ ทำให้พนักงานสินเชื่อถามว่าเธอรู้จักกับคนชื่อนฤมลหรือไม่ เขาให้ชื่อและเบอร์ของคุณมาบอกว่าเป็นเพื่อน โดยเขามีการไปกู้เงินมาแต่ขณะนี้ไม่สามารถติดต่อได้

           เมื่อได้ยินข้อมูลดังกล่าว จึงเริ่มจะนึกออกว่าชื่อนี้เหมือนกับคนส่งพัสดุจากแอปฯ ช้อปปิ้งชื่อดังซึ่งเธอสั่งของประจำ โดยพนักงานคนนี้เป็นผู้หญิงซึ่งจะคอยโทร. มาแจ้งว่าจะเข้ามาส่ง และเธอโอนเงินจ่ายของของให้บ่อย ๆ แต่พักหลังหายไป จากนั้นพนักงานสินเชื่อก็ยืนยันว่าคนชื่อนี้ทำงานเป็นคนส่งของจริง ๆ โดยใส่ชื่อของเธอในช่องผู้ค้ำประกัน

           จากนั้น เธอจึงชี้แจงสินเชื่อไปว่า เธอไม่ได้รู้จักกันกับคนชื่อดังกล่าว และสังเกตเช่นกันว่าช่วงนี้พนักงานรายนี้ไม่ได้มาส่งของแล้ว ทำให้พนักงานสินเชื่อบอกว่า ต้องขอโทษด้วยนะคะ แต่หลังจากนี้จะมีเบอร์โทร. หาแบบติด ๆ เพราะคนชื่อนี้ไปลงชื่อเธอไว้ในแอปฯ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับสาย จึงข้องใจว่าทำไมจึงเกิดเรื่องแบบนี้ และพนักงานมีสิทธิ์อะไรเอาเบอร์ลูกค้าไปใช้กู้เงินดังกล่าว

ทวงหนี้

           ทั้งนี้หลังเรื่องราวนี้ถูกแชร์ออกไป มีชาวโซเชียลเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ต่างมองว่าลูกค้าไม่ควรเจอกับเรื่องแบบนี้เลย ซึ่งบางส่วนให้ข้อมูลว่าที่จริงพนักงานอาจจะไม่ได้ใส่ชื่อลูกค้าตอนกู้ เพียงแค่บันทึกเบอร์ไว้ในเครื่อง แต่แอปฯ กู้เงินนั้นดึงข้อมูลผู้ติดต่อของคนกู้เงินออกไปทวงเงินแบบผิด ๆ แล้วอ้างแบบนั้น

           ขณะที่บางคนแนะนำให้เจ้าของเรื่องราวโหลดแอปฯ ที่แจ้งชื่อของเบอร์ปลายทางก่อนรับสายเพื่อจะได้ไม่ต้องรับสายกับพวกทวงเงินกู้ที่โทร. มามั่ว ๆ พร้อมแนะให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นต้น



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกค้าช็อก สินเชื่อทวงหนี้ อ้าง พนง. ขนส่งใส่เบอร์ไปกู้เงินไว้ ชาวเน็ตแฉเบื้องลึกทำป่วน อัปเดตล่าสุด 24 มกราคม 2566 เวลา 09:19:02 19,246 อ่าน
TOP