22 กันยายน 2567 วันศารทวิษุวัต ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน นับเป็นวันเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้
วันศารทวิษุวัต ปี 2567
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย 22 กันยายน 2567 วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน นับเป็นวันเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้
วันศารทวิษุวัต หมายถึงอะไร
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เผยว่า ในวันที่ 22 กันยายน 2567 เป็นวัน ศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) เวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน คำว่า Equinox (อิ-ควิ-นอกซ์) มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ aequus แปลว่า เท่ากัน และ nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น จึงแปลรวมกันว่า กลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน ซึ่งตรงกับคำว่า วิษุวัต แปลว่า จุดราตรีเสมอภาค จะเกิดขึ้นเพียงปีละ 2 ครั้ง ได้แก่
- ช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า Vernal Equinox (วสันตวิษุวัต [วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด])
- ช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า Autumnal Equinox (ศารทวิษุวัต)
ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดเหนือสุดลงมาทางใต้ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี
วันศารทวิษุวัต ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย วันศารทวิษุวัต ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06.07 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.17 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้
การที่แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย และด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ขึ้นบนโลก
หมายเหตุ : ข้ัอมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง