จันทรุปราคาคืออะไร ทำไมถึงเรียกว่าราหูอมจันทร์

           มาทำความรู้จัก จันทรุปราคา หรือ พระจันทร์สีเลือด ปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกับหลากหลายความเชื่อของคนไทย

          จันทรุปราคา หรือที่หลายคนเรียกว่า จันทรคราส พระจันทร์สีเลือด ราหูอมจันทร์ ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เราคุ้นเคย และมักจะตื่นเต้น อยากจะเห็นทุกครั้งที่เกิดขึ้น หรือในคนที่เป็นสายมูก็จะมีความเชื่อที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย เรามาทำความรู้จักกันดีกว่าว่า จันทรุปราคา คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีความเชื่อมโยงยังไงกับความเชื่อของคนไทยบ้าง

จันทรุปราคา คืออะไร

จันทรุปราคา คืออะไร

จันทรุปราคาเกิดจากอะไร

         จันทรุปราคา (Lunar Eclipse) คือ ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน โดยดวงจันทร์จะค่อย ๆ โคจรเข้าไปอยู่ในเงาโลก ทำให้มองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่งเป็นเสี้ยวนั่นเอง

ประเภทของจันทรุปราคา

ประเภทของจันทรุปราคา

          การที่เงาของโลกมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้เวลาเรามองเห็นดวงจันทร์ที่โคจรเข้าไปในบริเวณเงาของโลกจะมีลักษณะต่างกันไปด้วย มี 3 ลักษณะ ดังนี้

1. จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) หรือ พระจันทร์สีเลือด

          การที่ดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนหลบเข้าไปหลังเงามืดของโลก และเข้าไปอยู่ในเงาของโลกทั้งดวงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน จึงเกิดเป็นจันทรุปราคาเต็มดวง แสงขาวจากดวงอาทิตย์จะถูกหักเหเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศโลก สีแดงและสีส้มเบี่ยงทิศทางเข้าหากลางเงามืด จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐในระหว่างเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง

2.จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse)

          การที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน ดวงจันทร์ที่เห็นจะมีลักษณะเว้าแหว่ง

3.จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse)

           การที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด ดวงจันทร์ที่เห็นจะยังเต็มดวงอยู่แต่ความสว่างลดลง แต่จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่ชัดเจนนัก

จันทรุปราคาเกิดในเวลาใด

           หลายคนมีคำถามว่า จันทรุปราคา เกิดกลางวันหรือกลางคืน คำตอบคือกลางคืน จะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันพระจันทร์เต็มดวง และโอกาสที่จะเกิดจันทรุปราคาในแต่ละปีนั้นจะมีอยู่เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น
จันทรุปราคาเกิดในเวลาใด

จันทรุปราคา เกี่ยวอะไรกับ “ราหูอมจันทร์”

          จากการเปลี่ยนแปลงของสีพระจันทร์ที่เคยเหลือง ให้ความสว่างสดใสในยามค่ำคืน แต่ในวันที่เกิดจันทรุปราคาพระจันทร์กลับลดความสว่างลง เปลี่ยนเป็นสีแดงเหมือนเลือด ทำให้เกิดความเชื่อว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของลางร้าย อาจเกิดภัยหรือเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นได้

          ในภาษาไทยจะเรียกการเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคาในอีกชื่อหนึ่งว่า สุริยคราส และ จันทรคราส โดยคำว่า “อุปราคา” แปลว่า ทำให้ดำ หรือทำให้มีมลทิน ส่วนคำว่า “คราส” แปลว่า กิน ซึ่งมาจากตำนานพระราหูอมพระจันทร์และพระอาทิตย์ของฮินดู เหตุเกิดจากการที่พระจันทร์และพระอาทิตย์ไปฟ้องพระนารายณ์ว่าพระราหูแอบไปกินน้ำอมฤต ทำให้พระนารายณ์โกรธมาก เลยขว้างจักรตัดตัวพระราหูขาดเป็นสองท่อน แต่เพราะพระราหูกินน้ำอมฤตเลยไม่ตาย เมื่อเจอพระจันทร์หรือพระอาทิตย์ก็จะแก้แค้นด้วยการกิน

จันทรุปราคา 2567

           สำหรับจันทรุปราคาในไทย 2567 อ้างอิงข้อมูลจาก สมาคมดาราศาสตร์ไทย จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา 2 ครั้งด้วยกัน แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ที่ไทย ครั้งแรกในวันที่ 25 มีนาคม 2567 จะเกิดจันทรุปราคาเงามัว บริเวณที่เห็นได้คือ ทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตามเวลาประเทศไทย ประมาณ 11.53 น. บังลึกที่สุดเวลา 14.13 น. และดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลกเวลา 16.33 น. และจะเกิดจันทรุปราคาบางส่วนในวันที่ 18 กันยายน 2567 แต่จะเห็นได้ในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และแอฟริกา โดยดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก ตามเวลาประเทศไทย ประมาณ 07.41 น. สิ้นสุดเวลา 10.16 น. และดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลกเวลา 11.48 น.
           สำหรับใครที่อยากมองเห็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์แบบนี้ ทั้งจันทรุปราคาและสุริยุปราคา ต้องอดใจรอกันอีกนิดนะคะ

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จันทรุปราคาคืออะไร ทำไมถึงเรียกว่าราหูอมจันทร์ อัปเดตล่าสุด 22 มีนาคม 2567 เวลา 15:09:46 5,641 อ่าน
TOP
x close