x close

วิธีสังเกต SMS จากมิจฉาชีพ ถ้าได้รับแบบนี้ อย่ากดลิงก์เด็ดขาด บางคนสูญเงินเป็นล้าน

         ถ้าได้รับ SMS 2 แบบนี้อย่ากดลิงก์เด็ดขาด มิเช่นนั้นเสี่ยงสูญเงิน บางคนเสียเป็นล้านยังไม่ได้คืน พร้อมตั้งข้อสังเกต อันไหนจริง อันไหนมิจฉาชีพ กว่าจะเสียเงินนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำสุดขั้นตอนจริง
SMS
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้่อหา

          ปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยตอนนี้คือ ปัญหามิจฉาชีพหลอกดูดเงินในบัญชีที่ทำให้หลายคนสูญเงินไปแบบไม่น่าเสีย บางคนก็โดนไปหลายล้าน แทบเป็นเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต

          วันที่ 26 มิถุนายน 2567 เฟซบุ๊ก นิวส์ชลบุรี-ระยอง ออนไลน์ รายงานว่า ปัจจุบันมีมิจฉาชีพใช้มุกใหม่ ส่งข้อความผ่าน SMS ระบุว่า "รถของท่านเข้าข่ายแก้ไขถุงลมนิรภัย รับถุงลมนิรภัยและแก้ไขได้ที่ศูนย์บริการรถยนต์ทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (แนบลิงก์)" ซึ่งบางคนอาจจะมีแค่รถยนต์ มีแต่รถมอเตอร์ไซค์ แล้วจะมีถุงลมนิรภัยได้อย่างไร

          ขณะที่คุณ สมาชิกหมายเลข 2099066 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม มีการตั้งกระทู้จากประเด็นข่าวที่ทนายรายหนึ่งสูญเงิน 1.1 ล้านบาท อ้างว่าถูกหลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน ขอให้ธนาคารรับผิดชอบ ส่วนทางธนาคารก็ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวดำเนินการโอนเงินผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผู้ร้ายวางเกมเอาไว้ อ้างตัวเองว่าเป็นคนของบริษัทส่งพัสดุชื่อดัง

          อ่านข่าว : กสิกรไทย แจงปมทนายร้องถูกหลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน 1.1 ล้าน ความจริงไม่ใช่เลย

          สำหรับประเด็นที่เจ้าของกระทู้เปิดขึ้นมา เพราะเห็นข่าวของทนายทำให้รู้ว่า ตัวเองก็ถูกลิงก์ปริศนาอ้างตัวเป็นบริษัทขนส่งดังส่งมาเช่นกัน แต่ไม่ได้กดลิงก์เข้าไป ทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์สูญเงิน


          ด้านท็อปคอมเมนต์ เข้ามาให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ต่อให้กดลิงก์เข้าไป กว่ามิจฉาชีพจะขโมยเงินไปได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องโหลดไฟล์ apk แปลก ๆ มาติดตั้งก่อน แล้วต้องยินยอมหลายรอบ กว่าจะลงมือถือเราได้ ถ้าหากเราเอะใจเรื่องให้โหลดแอปฯ ก็จบแล้ว เพราะความจริงไม่มีหน่วยงานไหนส่งลิงก์มาให้ติดตั้งแบบนี้




          วิธีสังเกต SMS จากมิจฉาชีพ ตั้งใจสะกดลิงก์ผิด - กดแล้วให้แอดไลน์ เห็นแล้วต้องรีบลบด่วน



          1.  มิจฉาชีพมักใช้เบอร์ +66 เพื่อส่งข้อความมา ซึ่งหากขึ้นเบอร์แบบนี้ เป็นไปได้ที่มิจฉาชีพจะใช้เบอร์เป็น +66 คือใช้ VoIP (โทรศัพท์ที่มีการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในการติดต่อสื่อสาร) หรือ Sim Gateway (เครื่องแปลงสัญญาณมือถือ เพื่อประหยัดค่าโทร. เนื่องจากต้องส่งข้อความให้คนจำนวนมาก) โทร. มา ซึ่งมันคือมิจฉาชีพ

          2. ชื่อหน่วยงานหรือบริษัทมีการสะกดผิด เช่น Flash เป็น Flsah

          3. คนส่งจะส่งข้อความเดิม ๆ ไปให้คนนับล้าน ๆ คน ดังนั้นข้อความจะไม่มีการระบุชื่อคนรับ เพราะเป็นข้อความสแปม

          4. ในปัจจุบัน หน่วยงานต่าง ๆ จะไม่มีนโยบายส่งลิงก์ให้ลูกค้าอีกแล้ว เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ และไม่มีหน่วยงานไหนที่ใช้ไลน์ปลอมให้ติดต่อประสานงานคุยกับลูกค้าแบบ 1 ต่อ 1 หากเป็นระดับองค์กรจะใช้ไลน์แอดกันเป็นส่วนมาก ไม่ใช่โปรไฟล์บุคคลธรรมดา

          5. หากท่านใช้บริการจากแอปฯ อะไร ให้ติดตามข่าวสารที่หน้าเพจ ดีกว่าที่จะเชื่อข้อความที่ส่งเข้ามาในมือถือ


          ขั้นตอนหลังกดลิงก์ มิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือ แก๊งดูดเงิน สังเกตง่าย ๆ หน้าไลน์จะเด้ง


          ทั้งนี้ ลิงก์ที่มิจฉาชีพแนบมา มักจะส่งเราไปหน้า Add Friend ในไลน์ปลอมของมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นไลน์โปรไฟล์ทั่วไป ไม่ใช่ไลน์ออฟฟิเชียล และถ้าไม่ถูกหลอกจนสุดทาง จะไม่มีทางเสียเงินแม้แต่บาทเดียว เพราะมิจฉาชีพมันจะหลอกให้เราดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน ที่เป็นไฟล์นามสกุล apk ต่ออีก

          และแม้เราจะดาวน์โหลดติดตั้งแอปฯ ปลอมลงเครื่อง เงินของเราก็ยังไม่ถูกดูดไปทันที ซึ่งเราเองต้องเปิดการอนุญาตการช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility Service) ให้มิจฉาชีพด้วย ดังนั้น ข้อสังเกตง่าย ๆ เลยสำหรับการป้องกันมิจฉาชีพคือ

          หากลิงก์นั้นเด้งไปหน้าไลน์ และให้เราเป็นเพื่อนหรือแอดไลน์มิจฉาชีพ ให้รีบออกมาทันที
หากมิจฉาชีพบอกให้กดลิงก์เพื่อติดตั้งแอปฯ ให้ดูว่าลิงก์นั้นเป็นไฟล์นามสกุล .apk หรือไม่ ถ้าใช่ให้รีบออกมา ไม่ต้องคุยต่อ ไม่ต้องกดลิงก์ หากติดตั้งแล้ว ที่หน้าจอมือถือมีการอนุญาตการช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility Service) ให้รีบกดยกเลิกและออกมาทันที

 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีสังเกต SMS จากมิจฉาชีพ ถ้าได้รับแบบนี้ อย่ากดลิงก์เด็ดขาด บางคนสูญเงินเป็นล้าน อัปเดตล่าสุด 26 มิถุนายน 2567 เวลา 15:38:29 6,811 อ่าน
TOP