x close

หนูมีลูก... และขอมีอนาคตด้วยได้ไหม?


          เรื่องจริงของน้องสาวคนหนึ่ง ที่มีโอกาสได้พูดคุยแบบเปิดอกตามประสาสาวๆ หลังจากคาบสอนเพศศึกษาที่ได้สอนตลอดเทอม ๑ ของปีการศึกษานี้ ในระดับช่วงชั้น ๔ (ม.๔-ม.๖) เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจของนักเรียนหญิงที่มีประสบการณ์การเป็นแม่

          น้องสาวคนนี้เริ่มคบกับแฟนคนแรกและคนเดียวมาตั้งแต่ม. ๑ จนถึงตอนนี้เกือบ ๕ ปีแล้ว เมื่อความรักก่อตัวจนสุกงอมได้ระยะหนึ่งก็มีอะไรกับแฟน เรื่องมาเกิดขึ้นก็เมื่อน้องรู้สึกมีอะไรไม่รู้ดิ้นอยู่ในท้องประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

          ด้วยความวิตกจึงปรึกษากับแฟน และด้วย "ความเดียงสา" ของทั้งคู่ก็พากันไปปรึกษาเรื่องนี้กับพ่อแม่ของฝ่ายชาย แม่ของฝ่ายชายซึ่งรักน้องคนนี้เหมือนลูกสาวคนหนึ่ง กลัวว่าเธอจะเจ็บป่วยเป็นอะไรร้ายแรง จึงพากันไปตรวจ ถึงได้รู้ว่าน้องตั้งท้องได้เกือบ ๗ เดือนแล้ว 

          ด้วยความรัก ความเอ็นดูที่มีอยู่เป็นต้นทุน ทุกคนต่างยินดีที่จะได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ แต่ปัญหาที่ทุกคนวิตกไม่ใช่เรื่องนี้ กลับอยู่ที่ว่า 

          ทำยังไงที่จะให้น้องอยู่รอดปลอดภัยในโรงเรียนโดยไม่ถูกไล่ออก 

          แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยความร่วมมือของเพื่อนและครอบครัว น้องคลอดเดือนเมษายน ได้เป็นแม่-พ่อสมใจ และมีหลานให้ปู่-ย่าได้เชยชม 

          เปิดเทอมขึ้น ม.๕ น้องกลับมาเรียนเหมือนจะเป็นปกติ ติดตรงว่าน้องกับเพื่อนๆ ต้องช่วยกันปิดเรื่องนี้ต่อไป และด้วยสถานะที่เปลี่ยนไป น้องและแฟนมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะมีอีกชีวิตที่ต้องช่วยกันดูแล 

          อ่านมาถึงตรงนี้ก็ดูเหมือนว่า เรื่องทุกอย่างน่าจะราบรื่นดี ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราลองคลี่สถานการณ์นี้ออกดูก็จะพบว่า สิ่งที่น้องทั้งสองต้องเผชิญคือ น้องไม่รู้ถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายตัวเองตลอด ๗ เดือนที่ผ่านมา 

          เป็นไปได้ว่า การเรียนรู้เรื่องสุขภาพทางเพศที่น้องได้รับยังไม่มากพอ หรือข้อมูลเหล่านั้นไม่ก่อให้เกิดทักษะที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ประกอบกับวาทกรรมของสังคมก็ยังวนเวียน และผลิตซ้ำความคิดแบบเดิมๆ ในเรื่องการให้ความรู้เรื่องเพศแบบปกปิดกับเยาวชน  ในขณะที่สถานการณ์ชีวิต และสิ่งแวดล้อมของพวกเขาเปลี่ยนไป เขาต้องเติบโต และเรียนรู้กับสิ่งที่อยู่รอบตัวแบบลองผิดลองถูกไปเช่นนั้นหรือ?  

          เมื่อถามถึงสถานการณ์แบบเดียวกันกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่ไม่โชคดีเหมือนน้อง ก็ได้คำตอบว่า มี ๒ อย่างคือ ถ้าไม่เอาเด็กออก ก็ต้องออกจากโรงเรียนถ้าครูรู้  

          สุดท้ายคนที่ประคับประคองพวกเขาขึ้นมาได้ก็คงหนีไม่พ้น "ผู้ใหญ่ในชีวิต" ที่ต้องเข้าอกเข้าใจ พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ และจับมือก้าวไปพร้อมกัน 

          แต่ดูเหมือนว่าเท่านั้นยังไม่พอ "ผู้ใหญ่ในสังคม" ยังต้องพร้อมจะให้โอกาส และไม่เอา "ความผิดพลาด" ที่เกิดขึ้นมาทำให้ก้าวต่อไปของพวกเขาหยุดชะงัก 

          เมื่อถามน้องว่า ถ้าวันหนึ่งคนอื่นในโรงเรียนนอกจากเพื่อนรู้ จะทำยังไง? 

          เธอตอบว่า "หนูกับแฟนไม่ได้ทำอะไรผิด ในเมื่อเราและครอบครัวก็พร้อมจะดูแล รับผิดชอบ แล้วทำไมหนูจะเลือกอนาคตให้ตัวเองไม่ได้ล่ะ" 
 

------------------------------

การศึกษาทำให้ "เรื่องเพศ" คับแคบกลายเป็นเรื่อง "ร่วมเพศ"

          ระบบการศึกษาไทยเป็นต้นเหตุของปัญหาเพศศึกษา เพราะครูสอนด้านเดียว และไม่กล้าสู้ความจริง

          เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ที่ผ่านมา โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ จัดเสวนาเรื่อง "เรื่องเพศ: ทำไมไม่ใช่แค่เพศสัมพันธ์" ในงานเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนรู้เพศศึกษา ที่โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ

          คำ ผกา นักเขียน หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า ระบบการศึกษาของไทยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้เพศศึกษา เพราะการสอนจำกัดอยู่เพียงเรื่องของสุขอนามัย หรือความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ และเพศศึกษายังถูกตีกรอบด้วยวัฒนธรรม ศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทย ทำให้มองเรื่องเพศเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ ครูก็ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ไม่กล้าสอน จนนำไปสู่ปัญหาที่ทำให้นักเรียนต้องแสวงหาการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งได้รับข้อมูลที่ไม่รอบด้าน ดังนั้นเรื่องเพศจึงถูกทำให้เหลือเพียงการมีเพศสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความสนุกสนานเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเรื่องเพศยังมีแง่มุมอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษาความสัมพันธ์ การหาทางออกเมื่อเกิดปัญหา หรือแม้กระทั่งความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง เป็นต้น

          "การสอนเพศศึกษายังมีอคติ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงถูกวางอยู่ในฐานะที่เปราะบาง และเป็นผู้สูญเสียมากกว่าผู้ชาย ทั้งยังมีการสร้างวาทกรรมของการทำแท้งว่าเป็นการทำลายจิตวิญญาณของความเป็นผู้หญิง และความเป็นแม่ แต่ไม่มีการให้ความรู้เรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัย เพื่อเป็นทางออกสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม" นักเขียนชื่อดังกล่าว

          ด้านพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมไทยมีข้อจำกัดในการให้ความรู้เรื่องเพศ ที่ความรู้บางเรื่องไม่ได้บรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้เด็กไม่สามารถขอคำแนะนำจากครูได้ เด็กเลยต้องเลือกใช้สื่อลามกเป็นทางออก ซึ่งความรู้จากสื่อลามกนั้นมีทั้งส่วนที่ถูกและผิด และให้ความรู้เฉพาะเรื่องการร่วมเพศเท่านั้น 

          "คำว่าเพศสัมพันธ์มีความหมายกว้างกว่าการสอดใส่ คือยังมีเรื่องของสุขอนามัย เรื่องของฮอร์โมน ความสัมพันธ์ และโครงสร้างทางสังคม ที่ทุกคนเข้าใจร่วมกันได้ ทั้งนี้ต้องเน้นเรื่องความรับผิดชอบของคนมากกว่าความถูกผิดทางศีลธรรม" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์กล่าว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กันทิมา เพชรคง องค์การแพธ

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ตไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หนูมีลูก... และขอมีอนาคตด้วยได้ไหม? โพสต์เมื่อ 9 มิถุนายน 2551 เวลา 17:06:26 3,008 อ่าน
TOP