x close

ไทยค้นพบหิ่งห้อย ชนิดใหม่ของโลก

หิ่งห้อย


         นักวิจัยไทยค้นพบหิ่งห้อยชนิดใหม่ของโลก เอกลักษณ์เด่นคือ ระยะตัวหนอนมีรูปร่างที่แตกต่างกันถึงสามแบบ ส่วนการกะพริบแสงไว้สื่อสารกันในช่วงผสมพันธุ์ มีมากถึงสี่แบบ ระบุขณะนี้สามารถคิดค้นเทคนิคการเพาะเลี้ยงได้สำเร็จ เล็งจดสิทธิบัตร เชื่อเป็นประโยชน์ด้านการศึกษา และพัฒนาเป็นยารักษาโรคหอบหืดในอนาคต รวมทั้งการอนุรักษ์หิ่งห้อยได้อย่างยั่งยืน

         เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดเสวนาเรื่อง "การถอดรหัสงานวิจัยหิ่งห้อย ปริศนาการกะพริบแสงสู่ความสำเร็จการเพาะเลี้ยง" โดย น.ส.อัญชนา ท่านเจริญ  อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้บรรยาย ในฐานะผู้ทำการศึกษาวิจัยด้านชีววิทยา และพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยน้ำจืด ภายใต้การสนับสนุนของโครงการปริญญาเอกกาญจนภิเษก (คปก.) และภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

         น.ส.อัญชนากล่าวว่า จากการศึกษาหิ่งห้อยน้ำจืดของประเทศไทยในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ได้ค้นพบหิ่งห้อยน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก และตั้งชื่อว่า Luciola aquatilis ซึ่งเดิมมีความเข้าใจว่าเป็นหิ่งห้อยอีกชนิดหนึ่ง ที่พบเห็นกันทั่วไป แต่เมื่อได้ศึกษาค้นคว้า ในส่วนของการผสมพันธุ์อย่างจริงจัง ปรากฏว่าเป็นหิ่งห้อยที่มีรูปร่าง และพฤติกรรมน่าสนใจ แตกต่างจากหิ่งห้อยชนิดอื่นๆ โดยสามารถพบเห็นได้ตามแหล่งน้ำจืด ที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ อีกทั้งผลการเพาะเลี้ยงในห้องทดลองพบว่า มีอัตราการรอดสูง แต่จะต้องเร่งศึกษาและพัฒนาเทคนิคอื่นๆ เพิ่มเติม ก่อนยื่นจดสิทธิบัตรการเพาะเลี้ยงหิ่งห้อยในอนาคต

         นักวิจัย ผู้ค้นพบหิ่งห้อยชนิดใหม่ของโลก กล่าวว่า จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของหิ่งห้อยชนิดนี้คือ บริเวณโคนปีกมีสีน้ำตาลเข้มกว่าปีกส่วนอื่นๆ ส่วนความพิเศษในช่วงระยะตัวหนอนนั้น มีรูปร่างถึงสามแบบ โดยเฉพาะการกะพริบแสงเพื่อถ่ายทอดภาษารัก มีมากถึงสี่แบบคือ ช่วงแต่งตัว ช่วงหาคู่ ช่วงเกี้ยวพาราสี และช่วงผสมพันธุ์ ขณะที่หิ่งห้อยในแถบยุโรปและอเมริกา มีการกะพริบแสงเพียงแบบเดียว

         "หิ่งห้อยตัวผู้ จะกะพริบแสงถี่เป็นจังหวะต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย หากตัวเมียกะพริบแสงตอบ  หิ่งห้อยตัวผู้จะเข้ามาขี่หลังตัวเมียเพื่อจับจอง พร้อมทั้งเริ่มกะพริบแสงช้าลง เมื่อผสมพันธุ์ทั้งตัวผู้ และตัวเมียจะหันก้นชนกัน ช่วงนี้มีการกะพริบแสงสว่างมาก และจังหวะมืดนาน เพื่อเตือนภัยไม่ให้สิ่งมีชีวิตอื่นเข้าใกล้" น.ส.อัญชนาระบุ

         สำหรับในส่วนของการเพาะเลี้ยงหิ่งห้อย ซึ่งเตรียมจดสิทธิบัตรนั้น น.ส.อัญชนา เผยว่า แม้ว่าหิ่งห้อยจะเป็นสัตว์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความยุ่งยากซับซ้อนในการเพาะเลี้ยง เนื่องจากมีวงจรชีวิตยาวนาน ตั้งแต่ระยะวางไข่ ตัวหนอน ดักแด้และตัวเต็มวัย แต่คณะวิจัยสามารถคิดค้นเทคนิคการเพาะเลี้ยงได้สำเร็จแล้ว โดยมีหลักการคือ จัดหาสภาพการเลี้ยง และชนิดอาหารที่เหมาะสมต่อหิ่งห้อยทั้งสี่ระยะ อย่างไรก็ดี ผลความสำเร็จจากการศึกษาครั้งนี้ ไม่เพียงช่วยให้เข้าใจถึงชีววิทยา และพฤติกรรมอันจะนำไปสู่การอนุรักษ์หิ่งห้อยอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้พัฒนาต่อยอดทางด้านการแพทย์ เนื่องจากในตำรายาโบราณพบว่า มีการนำมาใช้ในการรักษาโรคหอบหืดได้เป็นผลดี

         น.ส.อัญชนา กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศ เริ่มมีการศึกษาฤทธิ์ของสารชีวภาพในหิ่งห้อย สำหรับรักษาโรค แต่ยังถูกโจมตีจากนักอนุรักษ์ เพราะต้องจับหิ่งห้อยในธรรมชาติ ทั้งนี้ เมื่อเราสามารถเพาะเลี้ยงหิ่งห้อยได้ ก็เป็นผลดีในการจัดทำสวนหิ่งห้อยเพื่อส่งเสริมการศึกษา หรือการอนุรักษ์ โดยปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ และขณะนี้ได้มีประเทศรัสเซียและอเมริกา ติดต่อให้ไปเพาะเลี้ยง เพื่อจัดทำสวนจำลองหิ่งห้อย สำหรับการศึกษาของเยาวชนแล้ว และจะเตรียมนำไปจัดแสดง ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 8-22 สิงหาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไทยค้นพบหิ่งห้อย ชนิดใหม่ของโลก อัปเดตล่าสุด 24 กรกฎาคม 2551 เวลา 17:28:56 11,743 อ่าน
TOP