x close

11 ส.ค. กฎหมายประกันเงินฝาก บังคับใช้ .... ปรับตัวหรือยัง?

กฎหมายประกันเงินฝาก



กฎหมายประกันเงินฝาก มีผลบังคับใช้ เรียนรู้...วางแผนปรับตัวหรือยัง? 


          นับจากวันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ประชาชนที่ยังยึดติดกับคำว่า "แบงก์ล้มไม่ได้" คงต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ เพราะจากนี้ไปธนาคารที่ไม่แข็งแรง ไม่มีระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีพอ คงต้องล้มและปิดกิจการไป โดยจะไม่มีคำว่า "ทางการเข้ามาอุ้ม" อีกต่อไป 

          ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็น สำหรับคนที่มีเงินฝากกับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะที่มีมากกว่า 1 ล้านบาท จะต้องดูแลเงินฝากของตัวเองให้ดี ไม่ใช่ปล่อยทิ้งปล่อยขว้างเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

          แต่ไม่ได้หมายความว่า การดูแลเงินฝากของประชาชนจากทางการจะจบลงทันที ในวันที่ 11 สิงหาคม เพราะ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะยังให้การคุ้มครองเงินฝากที่ครอบคลุม ทั้งธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศ บริษัทเงินทุน (บง.) และบริษัทเครดิต ฟองซิเอร์ (บค.) เต็มจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ย ที่ปรากฏในบัญชีในปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย 

          จากนั้นจะค่อยๆ ลดจำนวนลง เริ่มจากปีที่ 2 จะคุ้มครองไม่เกิน 100 ล้านบาท ในแต่ละแห่ง และไม่เกิน 50 ล้านบาท ในปีที่ 3 ส่วนปีที่ 4 สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะคุ้มครองไม่เกิน 10 ล้านบาท สุดท้ายจากปีที่ 5 เป็นต้นไป เงินฝากที่จะได้รับการคุ้มครองจากทางการ ในแต่ละบัญชีและแต่ละสถาบันการเงินจะไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น

          จึงเป็นคำถามตามมาว่าหลังจากปีที่ 5 ไปแล้ว ผู้ที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ควรจะบริหารจัดการอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละแห่งเองก็ตื่นตัวในเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ที่ประชาชนยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร

          สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อว่ากฎหมายฉบับดังกล่าว จะไม่มีผลกระทบต่อระบบมากนัก เพราะปัจจุบันผู้ฝากเงินกว่า 98% เป็นรายย่อย ที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท และมีผู้ฝากเงินเพียง 5,000 ราย หรือราว 0.005% เท่านั้น ที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท

          ถึงแม้ผู้ฝากเงินรายใหญ่จะมีภาระเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะผู้ฝากเงินรายใหญ่ๆ มีความสามารถในการดูแลเงินฝากของตัวเองได้อยู่แล้ว และการดูแลเงินฝาก ยังเป็นการช่วยให้ระบบสถาบันการเงิน แข็งแกร่งมากขึ้นด้วย

          เรื่องนี้ นายพงศ์อดุล กฤษณะราช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ สายสถาบันการเงิน ธปท.ประเมินว่า ช่วงเวลา 15 วันก่อน พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะมีผลบังคับใช้ ยังไม่มีการถอนเงินจนผิดปกติ ส่วนหนึ่งเพราะหน่วยงานทางการกระจายข่าวให้ประชาชนรับทราบมาเป็นระยะๆ และในปีแรกก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงวงเงินที่จะคุ้มครอง จะต้องติดตามดูต่อไปอีก 15 วันหลังจากนี้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ 

          "เราคิดว่าหากเงินฝากธนาคารจะกระเพื่อม น่าจะเป็นช่วง 15 วันก่อนและหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ยังไม่เห็นอะไรที่ผิดปกติและน่าเป็นห่วง แต่ที่น่าห่วงน่าจะเป็นตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2552 ที่วงเงินที่คุ้มครองจะเหลือเพียง 100 ล้านบาท เราได้ให้สถาบันการเงินทำแผนรองรับว่า กรณีที่เลวร้ายคือประชาชนถอนเงินออกทั้งจำนวนจะรองรับสภาพคล่องอย่างไร หรือแค่ถอนส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท จะทำอย่างไร ที่เสนอมาก็จะเป็นการดูแลสภาพคล่องการระดมทุนเงินเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น หาพันธมิตรใหม่ หรือกู้ยืมจากตลาดเงิน"

          สำหรับ บค. และ บง. ที่มีในระบบ 7 แห่งขณะนี้ คือ บง.กรุงเทพธนาทร บง.ฟินันซ่า บง.สินอุตสาหกรรม บง.แอ็ดวานซ์ บค.ลินน์ฟิลลิปส์ มาร์ทเก็จ บค.สหวิริยา และ บค.เอเชีย จะต้องทำการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) ของลูกค้ามาเป็นสมุดคู่ฝากหรือบัตรเงินฝากหรือใบรับฝากเงิน เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว พบว่าขณะนี้กว่า 90% ลูกค้าได้มาเปลี่ยนแล้ว ส่วนที่เหลือบริษัทเองได้พิมพ์ชื่อลูกค้าเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอให้ลูกค้ามาดำเนินการเท่านั้น

          ในด้านตลาดทุน นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยอมรับว่า พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 11 สิงหาคม จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนผู้ฝากเงินทั่วไปสนใจ และตื่นตัว ในการจัดการด้านการเงินและการลงทุน ขณะเดียวกันผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระบบที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ประชาชนบางส่วนมองหาช่องทางการสร้างผลตอบแทน ให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ การลงทุนในหลักทรัพย์ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่ได้รับความสนใจ 

          ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์จึงมองเห็นโอกาสที่ดี ที่จะให้การสนับสนุนให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ เปิดให้มีการทำธุรกรรมผ่านสำนักงานสาขาของบริษัท ที่ตั้งอยู่ในธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขยายฐานผู้ลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทหลักทรัพย์กับธนาคารพาณิชย์ จะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย เพราะสามารถลดต้นทุนในการเปิดสาขาของบริษัทหลักทรัพย์ และยังสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของธนาคารได้สะดวกยิ่งขึ้น ขณะที่ลูกค้าธนาคารเองจะได้รับความสะดวกในการทำธุรกรรมในตลาดทุนมากขึ้น

          ขณะที่ นายพิชิต อัครทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า ปีแรกของการบังคับใช้ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มรองเงินฝาก จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ บลจ. ลูกค้ากองทุนน่าจะมีความเข้าใจมากกว่าลูกค้าเงินฝาก เพราะการลงทุนของกองทุนรวมจะมีรูปแบบคล้ายการคุ้มครองเงินอยู่แล้ว จะมีทั้งกองทุนที่คุ้มครองเงินต้น รับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ มีความคล่องตัว 

          การนำ พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากมาใช้ จะเป็นผลดีกับระบบกองทุนรวมอยู่แล้ว เพราะการคุ้มครองเงินฝากในธนาคารที่ลดลง จะทำให้การฝากเงิน จะขึ้นกับอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารเป็นหลัก ประชาชนจะเลือกฝากเงินในธนาคารที่มีความมั่นคง ดังนั้น ธนาคารที่ความมั่นคงมีน้อยก็ต้องให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเพื่อดึงเงินฝาก ขณะที่เงินส่วนหนึ่งจะไหลมาที่กองทุน ดังนั้น ธนาคารที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดีน่าจะได้เปรียบมากกว่า 

          ถึงแม้ที่ผ่านมาสถาบันการเงินแต่ละแห่ง พยายามสร้างความรู้ความเข้าใจกับลูกค้าผ่านรูปแบบต่างๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากการสอบถามประชาชนผู้ออมและนิติบุคคลหลายแห่ง ยังไม่รู้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะกระทบต่อสิทธิของผู้ฝากอย่างไร เพราะที่ผ่านมาอาจละเลยต่อการทำความเข้าใจกับกฎหมาย แม้ทุกฝ่ายจะพยายามกระตุ้นให้ประชาชนทุกคนตื่นตัว กับความจำเป็นในการศึกษาความรู้ด้านการเงิน เพื่อสามารถวางแผนและจัดการการเงินส่วนบุคคลของตัวเองได้ต่อไป

          ทั้งนี้ ในหลายประเทศที่มีกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ บังคับใช้ไปก่อนหน้าไทยหลายปี อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ก็ยังต้องเดินสายชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนจนถึงทุกวันนี้ 

          นับจากนี้ไป ใครคิดจะฝากเงินก็ต้องวางแผนการออมให้ดี ว่าจะแบ่งบัญชีไปฝากธนาคารและลงทุนด้านใดบ้าง โดยชั่งน้ำหนักเรื่องความมั่นคงของสถาบันการเงินแต่ละแห่งให้ดี



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
11 ส.ค. กฎหมายประกันเงินฝาก บังคับใช้ .... ปรับตัวหรือยัง? อัปเดตล่าสุด 11 สิงหาคม 2551 เวลา 18:54:25 17,529 อ่าน
TOP