x close

น้ำคร่ำเพชฌฆาตร้าย ฆ่าแม่-ลูกตายระหว่างคลอด

ตั้งครรภ์


น้ำคร่ำเพชฌฆาตร้าย ฆ่าแม่-ลูกตายระหว่างคลอด (แต่หมอสูติ ตกเป็นจำเลย..)

          เหตุการณ์แล้วเหตุการณ์เล่า ที่หลายครอบครัวต้องสูญเสียทั้งแม่และลูกไปจากการคลอด ซึ่งมีมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีสาเหตุได้หลายประการ ที่พบบ่อยที่สุดและวิทยาการก้าวหน้ายังไม่สามารถหยุดยั้งได้คือ เพชฌฆาตร้ายตัวนี้ 

          การเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าสลดนี้เกิดขึ้นในรอยต่อช่วงชีวิตอันงดงามที่ ทุกครอบครัวต่างเฝ้ารอคอยลูกที่น่ารัก และต้องกลับมาเสียทั้งแม่และลูกไปด้วยโดยไม่ได้ร่ำลา ยังความโศกเศร้าเสียใจอย่างยิ่งต่อสามี, แพทย์ผู้รักษา และต่อสังคมอย่างมาก หลายรายนำไปสู่การฟ้องต่อสื่อมวลชน ตำรวจ และศาล จากความรู้สึกผิดหวังร่วมกับความเสียใจที่สูญเสียคนรักไป...บทความนี้ขอนำท่านมารู้จักเพชฌฆาตร้ายรายนี้ในเบื้องต้นดังนี้

           1. น้ำคร่ำคืออะไร ... เมื่อแม่ตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายตัว มีเด็กล่องลอยอยู่ในถุงบางๆ ภายในบรรจุน้ำที่ทำให้เด็กลอยไปมา ชื่อว่า "น้ำคร่ำ" เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีการขับถ่ายของเสีย รวมถึงขี้ไคลจากผิวหนังหลุดออกมาและลอยละล่องปะปนอยู่ในน้ำคร่ำ ดังนั้นน้ำคร่ำจึงเต็มไปด้วยของเสียมากมายรวมถึงเศษเซลล์เล็กๆ ที่ลอกออกมาจากตัวเด็ก ที่มักไม่ใช่กลุ่มเลือดเดียวกับแม่ ถุงน้ำคร่ำนี้ปิดเหนียวแน่นจนของเสียเหล่านี้จะไม่สัมผัสกับแม่เลย ..จึงไม่เกิดปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์

           2. น้ำคร่ำเป็นน้ำ ทำไมไปอุดตันจนแม่ตายได้ ... โรคน้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด (Amniotic fluid embolism) ชื่อนี้มาจากสมัยก่อนเวลามีการคลอดแล้วแม่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ จะมีการนำไปผ่าศพชันสูตร พบว่า ปอดแม่จะมีเศษเนื้อ (เซลล์) ของเด็กอยู่ในเส้นเลือด จึงคิดเอาว่าแม่ตายจากการที่มีเศษขี้ไคลทารกจากน้ำคร่ำ เข้าไปอุดตันที่ปอดจนปอดเสียหาย หายใจไม่ได้และเสียชีวิตในที่สุด แต่ภายหลังก็ได้มีการศึกษาเรื่องอาการและกลไกต่างๆ จึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้ว มันไม่ใช่แค่การที่ปอดทำงานไม่ได้เท่านั้น ความตายเกิดจากหลายกลไกร่วมกัน

           3. แม่ตายจากอะไร ... จากน้ำคร่ำซึ่งเป็นของเสียของเด็ก ปกติจะต้องคลอดพร้อมเด็กและออกสู่ภายนอก ไม่มีการไหลย้อนเข้าไปในเลือดของแม่ เพราะจะเกิดปฏิกิริยา เช่นเดียวกับอาการแพ้รุนแรงได้ เนื่องจากเลือด น้ำเหลือง และสารต่างๆ เป็นคนละกรุ๊ปกัน ลองคิดง่ายๆ ว่าคล้ายกับการตายจากให้เลือดผิดกรุ๊ปนั่นเอง กระบวนการแพ้ชนิดรุนแรง หัวใจ ปอด ล้มเหลว เลือดไหลไม่หยุด และแม่ครึ่งหนึ่งตายใน 60 นาทีแรกหลังน้ำคร่ำรั่วเข้าไป 

           4. แม่ตายคลอดจากน้ำคร่ำอุดตันปอดมีมากเท่าไร ... โรคนี้น่ากลัวมากเพราะมีอัตราการเกิดถึงหนึ่งในแปดพันถึงสามหมื่น คนไทยคลอดปีละกว่าเจ็ดแสนคน (เฉลี่ยวันละสองพันคน) จะเกิดโรคนี้ ปีละ 26-100 คน หรือ ราว 2-8 คนต่อเดือน ทำให้มีข่าวมารดาเสียชีวิตขณะคลอดอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะหากอ่านแต่ข่าวโดยที่ไม่รู้จักโรคนี้ อาจจะสงสัยไปว่าทำไมการคลอดที่น่าจะปลอดภัยจึงกลับกลายเป็นเรื่องที่ถึงตายได้ง่ายๆ และโทษสาเหตุต่างๆ นานาได้

           5. ความร้ายแรงขนาดไหน ... ความรุนแรงสูงน่ากลัวมาก แม้ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือครบถ้วน เช่น โรงเรียนแพทย์ก็ตายได้ ไม่ใช่เฉพาะแต่โรงพยาบาบบ้านนอก ทั้งที่มีหมอล้อมรอบเตียงคนไข้ และรักษาอย่างเต็มที่ท่ามกลางยาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ช่วยชีวิตครบถ้วนก็ตาม สถิติบ่งว่าแม่ 6 ใน 10 รายจะเสียชีวิต 3 ราย พิการทางสมอง หรือเป็นเจ้าหญิงนิทรา และมี 1 จาก 10 รายเท่านั้นที่รอดเป็นปกติ 


น้ำคร่ำ



           6. ทำนายล่วงหน้าได้ก่อนไหมว่าจะเป็น ... ยากมากๆ ... เวลาเป็นข่าวมักพูดถึงอาการหลายๆ อย่างที่มีนำมาก่อนเป็นวันๆ หรือเป็นชั่วโมง เช่น เจ็บท้อง แน่น เหนื่อย เพลีย แต่หากถามคนเคยคลอด อาการเหล่าก็พบว่าเป็นกันแทบทุกคน ไม่มีอาการใดบ่งเฉพาะโรคนี้เลย และกลไกที่เกิดการรั่วของน้ำคร่ำใช้เวลาเป็นนาทีเข้ากระแสเลือดไปอุดปอด แพ้ช็อค เลือดออกไม่หยุดทันที เหมือนฉีดสารที่เราแพ้เข้าไปในเส้นเลือดฉับพลัน แม้รู้ล่วงหน้าว่ารักษาอย่างไรก็แทบจะใส่ยาแก้ไม่ทัน อาการที่รุนแรงทันที หัวใจหยุดเต้นและตายได้ หากรอดจากนาทีแรกๆ จะตายในชั่วโมงต่อไปด้วยเลือดไม่ยอมแข็งตัว ไหลจากแผลไม่หยุดตาย (คล้ายพิษงูบางชนิดของกัดตายนั่นเอง) และเกิดเลือดออกในสมอง หากรอดได้จะทำให้ส่วนหนึ่งเป็นอัมพาต หรือกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราไป 

           7. สาเหตุจากอะไร ... วงการแพทย์ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ทราบว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดคือ การที่มารดาอายุมาก, ตั้งครรภ์หลายท้อง, เบ่งแรง, เด็กตัวโตเกินไป, น้ำคร่ำมาก, เด็กผิดปกติ และมีการติดเชื้อในน้ำคร่ำ เป็นต้น

           8. ป้องกันได้ไหม ... โรคนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณมาจวบจนทุกวันนี้ แต่กลับเป็นสิ่งที่วิทยาการการแพทย์ปัจจุบันยังเอาชนะไม่ได้ แม้การฝากท้องที่ดีและสม่ำเสมอ จะลดปัจจัยเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง ทำให้โอกาสเกิดลดลง แต่การจะป้องกันให้ได้ 100 % คงจะยังทำไม่ได้ ในยุคปัจจุบัน

           9. การรักษาอย่างไร ... มีมาตรฐานการรักษาตามแนวทางราชวิทยาลัยสูติ-นรีแพทย์ ชัดเจน สูติแพทย์ทุกท่านเรียนรู้อย่างดียิ่ง และในมาตรฐานเหล่านั้นก็ระบุว่าโรคฉับพลันนี้ แม้ให้การรักษาเต็มที่แล้วส่วนใหญ่จะเสียชีวิต มีโอกาสรอดปกติเพียง 1 ใน 10 ราย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลดีที่สุด ในมืออาจารย์สูติแพทย์ที่ทำคลอดมาชั่วชีวิต ให้กำเนิดเด็กนับพันราย มีเครื่องมือพร้อมมูล ก็ไม่อาจช่วยชีวิตแม่ได้ทันเหมือนกัน และหลายโอกาสที่แพทย์ต้องเป็นผู้ตัดสินใจช่วยชีวิตลูกในครรภ์ ยามที่แม่มีอาการรุนแรงจนไม่สามารถฟื้นคืนได้อีก ท่ามกลางความเจ็บปวดของวิชาชีพที่ต้องรักษาชีวิตน้อยๆ เหล่านั้น แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่สำเร็จ หรือหากสำเร็จก็กลายเป็นลูกกำพร้าแม่ ตั้งแต่วันแรกเกิดซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่มีแพทย์ผู้ใดอยากให้เป็นเช่นนั้น 

           10. การวินิจฉัยโรคนี้ ... ต้องพิสูจน์ด้วยผลการผ่าชันสูตรชิ้นเนื้อเป็นมาตรฐาน เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดการเสียชีวิตในลักษณะเดียวกัน เช่น มดลูกแตกจากเหตุอื่นๆ หรือโรคอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน

          หากวันนี้ท่านเติบโตมีคุณแม่ดูแลจนมาได้อ่านบทความนี้ แสดงว่าท่านรอดพ้นจากเพชฌฆาตน้ำคร่ำ ที่จะหลุดไปในกระแสเลือดของแม่ขณะคลอด ซึ่งเกิดขึ้นเดือนละ 2-8 รายนี้ รายจากเด็กทารกไทยที่เกิดใหม่ปีละกว่าเจ็ดแสนคน โรคนี้เป็นโรคที่หมอสูติทุกคนกลัวเกรงความร้ายกาจ จากการเกิดฉับพลัน ป้องกันไม่ได้ ไม่รู้ล่วงหน้าและเกือบทุกรายตายหรือพิการ ที่สำคัญคือทุกการคลอด...แม่ของเราทุกคน ต้องเสี่ยงชีวิตกับเพชฌฆาตน้ำคร่ำ ในวันที่เราเกิดมาด้วยกันทั้งนั้น หากแต่ไม่มีผู้ใดรู้ว่าใครจะเป็นผู้โชคร้าย..รายต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นาวาอากาศเอก(พิเศษ)นายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ
กรรมการแพทยสภา
2  กุมภาพันธ์ 2552
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก familyplaning.in.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำคร่ำเพชฌฆาตร้าย ฆ่าแม่-ลูกตายระหว่างคลอด อัปเดตล่าสุด 2 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 17:07:35 41,396 อ่าน
TOP