สรุปข้อมูลโดย กระปุกดอทคอม
ภาพประกอบจาก นิตยสาร ฅ คน ฉบับที่ 40 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2552
ชายร่างกายสูงใหญ่ กำยำ แต่งกายด้วยเสื้อยืดรัดรูป เน้นให้เห็นกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ท่อนแขน และฝ่ามือที่ใหญ่ บ่งบอกถึงการเคี่ยวกรำงานหนักมาเป็นเวลานาน กางเกงยีนส์ ที่ถูกรัดด้วยเข็มขัดกระดูกงูเห่าดง ขนาดยาวเกือบ 4 รอบเอว รองเท้าบูท หมวกคาวบอย หินก้อนโตห้อยไว้คล้ายเป็นเครื่องประดับ และเป้สัมภาระสะพายหลังอีก 1 ใบ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ที่เขาจะพกพาติดตัวไปทุกที่ เสมือนเป็นเพื่อนคู่ใจ ก็คือ "ปืนแก๊ป" ขนาดใหญ่สูงท่วมหัว ซึ่งเป็นที่มาทำให้ทุกคนที่พบเห็น ขนานนามเขาว่า "น้อย ปืนโต" พรานป่าแห่งตะนาวศรี... ผู้ชายผมดำยาวประบ่า หาความหงอกแทบไม่เจอ แต่ใครจะรู้บ้างว่าอายุของเขาปาเข้าไป 68 ปีแล้ว . . .
จากอดีตคนงานเหมืองแร่ ที่สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ เมื่อถึงเวลาที่มีการยกเลิกการทำเหมืองแร่ คนงานต่างก็แยกย้าย เดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง แต่สำหรับ "น้อย ปืนโต" ป่าบนเทือกเขาตะนาวศรี กลับกลายเป็นเสมือนบ้าน ที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างลำพัง บนเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้วที่เขาอาศัยอยู่ในกระท่อมหลังเล็กๆ ที่โอบล้อมด้วยขุนเขา และต้นไม้น้อยใหญ่ ในพื้นที่ห้วยขมิ้น อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขตติดต่อกับชายแดนพม่า ซึ่งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านราว 6 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินเท้าราว 3 ชั่วโมง
บ้านของ "น้อย ปืนโต" ลักษณะเป็นกระท่อมสร้างด้วยไม้ มุงหลังคาด้วยสังกะสีเก่าๆ หลังคาเป็นจั่ว ปิดลงมาเกือบติดพื้น ใต้กระท่อมขุดอุโมงค์สำหรับหนีช้าง ภายในกระท่อมมีเพียงสิ่งของที่จำเป็น ไร้ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ทั้งสิ้น โดยเขาอาศัยปืนแก๊ปคู่ใจ สำหรับล่าสัตว์ในป่า และหาของป่ามาเป็นอาหาร เพียงเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่รอดเท่านั้น
"แหลม สมชาย สินธุวานิช" เพื่อนสนิทผู้มีอายุคราวลูกของพี่น้อย เล่าให้ฟังว่า "น้อยเขาจะอยู่แบบพึ่งพาธรรมชาติ สัตว์นี่เขาจะล่าเพื่อกินเป็นอาหารเท่านั้น ไม่มีการล่าไปขายเอาเงินเอาทอง นอกจากนั้น สัตว์ใหญ่กับสัตว์มีลูกเขาจะไม่ล่า บางครั้งเขาก็จะตัดปัญหาด้วยการหันมากินพวกเถาวัลย์ หัวมันที่มีอยู่ในป่า หรือไม่ก็พวกสมุนไพรทั้งหลายแหล่ที่เขาปลูกเอาไว้ อย่างพวกมะเขือพวง ใบเหลียง อ้อย กล้วย มันสำปะหลัง"
. . . ในยุคสมัยที่มนุษย์ถูกชั่งตวงคุณค่าโดยการมองปราดเดียวจากหน้าตา การแต่งตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ฐานะทางการเงิน มนุษย์สันโดษคนหนึ่งที่แทบไม่มีใครรู้จักกำลังแสดงให้เห็นอยู่ทุกวันว่า มาตรฐานดังกล่าวเป็นได้แค่เพียงความคิดผิดๆ
คุณค่าของคนที่มีความคิดไม่อยู่กับร่องกับรอยในสายตาของคนทั่วไปอย่าง "น้อย ปืนโต" หาใช่หยุดอยู่ที่การพยายามไม่เอาเปรียบธรรมชาติเท่านั้น ในทางกลับกัน เขายังช่วยไม่ให้ผืนป่าต้องถูกทำลายมากกว่าที่เคยเป็น ด้วยเหตุนี้การดำรงอยู่ของ "น้อย ปืนโต" จึงไม่ต่างอะไรจากการปกป้องรักษาแผ่นดินถิ่นเกิด ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือ และการแสวงหาผลประโยชน์ของผู้ไม่หวังดี
"เราว่าถ้าพี่น้อยไม่อยู่บนนั้น รับรองเลยว่าป่าจะสูญไปอีกเยอะ คงจะมีนายทุนและคนข้างล่างมาจับจองเอาที่ตรงนั้นอีกหลายคน แต่พอพี่น้อยอยู่ เขาจะขึ้นมาดู มาขาย มาทำอะไรก็ไม่กล้า เขาก็บอกต่อๆ กันว่าอย่ามาเลย ส่วนหนึ่งเป็นไปได้ว่า ชาวบ้านข้างล่างอาจจะเกรงใจพี่น้อย เขาคงรู้ว่าถ้ามีคนหรือนายทุนขึ้นมาจับจองกันหมด พี่น้อยก็จะไม่มีที่อยู่อาศัย" . . . ความเกรงใจมีหรือเปล่านั้นไม่รู้ แต่ความเกรงกลัวนั้นมีแน่ เนื่องจากหากเพ่งพิศจากร่างกายที่สูงใหญ่ ผมเผ้ายาวรุงรัง กล้ามเนื้อแผงอกที่อัดแน่นเป็นมัดๆ และขนาดมือที่หนาใหญ่ราวกับอุ้งตีนหมีแล้ว "น้อย ปืนโต" ก็ดูไม่ต่างอะไรจากมนุษย์กินคน ผิดแต่เป็นมนุษย์กินคนที่มีปืนยาวขนาดเกือบสองเมตรติดตัวอยู่ด้วยเท่านั้นเอง
"ปืนนี่เป็นเพื่อนตายของเขาเลย ต้องมีติดตัวตลอด ขาดไม่ได้ มีแล้วอุ่นใจ เรียกว่าถ้าไม่ได้ยิงขอให้ได้แบกก็ยังดี บางทีแบกอยุ่เป็นเดือนๆ ยังไม่ได้ยิงเลยสักนัด... มันมีอยู่วันหนึ่งแกออกล่าสัตว์ แต่พอยิงปืนออกไปแล้วปืนมันแตก บั้นท้ายปืนมันมากระแทกเส้นประสาทที่กรามแกอย่างแรง ด้วยความที่ปืนแกใหญ่มาก มันคงเกิดการกระทบกระเทือนแกอย่างหนักไปถึงสมอง เลยทำให้แกหลุดๆ รั่วๆ ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา" แหลมเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้สติของ น้อย ปืนโต ฟั่นเฟือนอยู่ในปัจจุบัน
ด้วยภาวะทางสมองที่สมรรถภาพถูกลดทอนลง ทำให้มนุษย์ไพรวัยเฉียดเลขเจ็ด จะพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดอยู่ในขณะนั้นไปเรื่อยเปื่อย โดยไม่สนใจคำถามของคู่สนทนา มีหลายครั้งที่เขาทำท่านิ่งคิด แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาก็ยังคงเป็นคนละเรื่องกับประโยคที่ถามไป...
"พี่น้อยปีนี้อายุเท่าไหร่แล้ว"
"ตอนที่ผมยิงหมีขอนี่ ผมยิงนัดเดียวตัดขั้วหัวใจเลย ส่วนไอ้โมเช ดายัน มันไว กว่าจะได้กินต้องตามยิงอยู่หลายนัด"
"?????????????????????????????"
คำตอบของ "น้อย ปืนโต" นอกจากจะทำให้คู่สนทนาต้องกรอกยาแก้ปวดขมับแล้ว คำพูดของเขายังเต็มไปด้วยรหัสอันซับซ้อน ยากแก่การทำความเข้าใจ เชื่อแน่ว่าหากนั่งฟังแกพูดทั้งวัน บุคคลผู้นั้นอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าแมวเป็นสัตว์มีปีก
หากมองกันอย่างหยาบๆ "น้อย ปืนโต" น่าจะเป็นมนุษย์ที่หาแก่นสารอันใดไม่ได้ในชีวิต ค่าที่เขาดำรงอยู่ในป่าไปวันๆ โดยที่ไม่มีสาระสำคัญอะไรให้ทำมากไปกว่าการล่าสัตว์ หาพืชมากิน ขับถ่าย แล้วก็นอน ไม่มีความต้องการสิ่งใดเป็นรูปธรรม ไม่มีอนาคต . . . อย่างไรก็ตาม นั้นเป็นการด่วนสรุปเกินไป หากจะตีค่าความเป็นคนของเขาเช่นนั้น เพราะโดยแท้จริงแล้วคนป่าอย่าง "น้อย ปืนโต" ก็มีความฝันเป็นของตัวเองเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่สำคัญ มันเป็นความฝันที่ทำให้เขาเลือกที่ใช้ชีวิตในแบบที่เป็นอยู่ อย่างมีความหวังและจุดหมาย
"ในป่าที่นี่มีสมบัติเพชรพระอุมา"
น้ำเสียงที่พูดออกมา แม้ไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นความจริงหรือไม่ แต่ก็เจือปนด้วยความโน้มน้าวให้เห็นด้วย... ดูเหมือนความฝันของ น้อย ปืนโต จะเต็มไปด้วยเรื่องราวแปลกๆ ไม่แพ้รูปแบบในการดำเนินชีวิต ความฝันของเขา ไม่ใช่การต้องมีเงินทองมากมายเป็นหมื่นล้านแสนล้าน ไม่ใช่การมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับนับหน้าถือตาของใครต่อใคร... ความฝันของ "น้อย ปืนโต" ในชีวิตทุกวันนี้มีอยู่เพียงอย่างเดียว คือ การตามหาทรัพย์สมบัติที่เขาคิดว่ามีอยู่จริงบนผืนป่าแห่งนี้
"พี่น้อยเขาจะเชื่อว่ามีสมบัติซ่อนอยู่ใต้ดิน ตรงแถวๆ ห้วยขมิ้นที่แกอยู่นั่นแหละ แกบอกว่าเป็นสมบัติเพชรพระอุมา เป็นถ้ำใต้ดิน มีเพชร พลอย รถแทรกเตอร์ แร่มหาศาล แกคิดทุกวันว่าจะต้องเจอ เรียกว่าเชื่อแบบเป็นจริงเป็นจังเลยแหละ" เพื้อนซี้ของ "น้อย ปืนโต" บอกว่า พี่น้อยมักเล่าให้ฟังอยู่เสมอว่า ในยุคที่ยังทำเหมืองจะเกิดการปล้นกันอยู่บ่อยๆ เมื่อปล้นเสร็จพวกโจรก็จะเอาสมบัติมาฝังไว้ตรงใกล้ๆ กับที่แกอยู่ในปัจจุบัน
ไม่มีใครล่วงรู้ว่าชายชราผู้แข็งแรงไปเอาความคิดดังกล่าวมาจากไหน แต่ที่แน่ๆ เขาพูดในสิ่งเดียวกันนี้มาไม่ต่ำกว่าสิบปีเข้าให้แล้ว "แกพูดเรื่องนี้มานานแล้วแหละ เป็นสิบกว่าปีน่าจะได้มั้ง แกไม่ได้พูดนานๆ ครั้งนะ แต่พูดแทบทุกครั้งที่เจอกัน แล้วก็ไม่ได้พูดแค่กับพรรคพวกเรา แต่แกเจอใครก็พูดให้เขาฟังหมด" แหลม กล่าว
ทาร์ซานแห่งเทือกเขาตะนาวศรี ไม่ใช่มนุษย์ที่นั่งคอยโชคลาภหล่นมาจากท้องฟ้า แม้ความคิดของเขาจะถูกมองว่า เป็นเรื่องไร้สาระไม่มีวันเป็นจริง แต่ "น้อย ปืนโต" ก็เลือกที่จะลงมือทำตามสิ่งที่ฝันอย่างตั้งใจด้วยตนเอง
การขุดอุโมงค์ไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จุดหมาย โดยมีเครื่องทุนแรงเพียงแค่จอบ เสียม และชะแลงไม่กี่อัน ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำกันได้ง่ายๆ ต้องอาศัยแรงกายแรงใจ รวมทั้งความอดทนเพียรพยายาม อุตสาหะอย่างสูง "ขุดไปแล้วก็ยังไม่เห็นเจออะไร แต่แกก็ยังเชื่อของแกว่ามีสมบัติอยู่ แกบอกต้องขุดให้ลึกเข้าไปอีกถึงจะเจอ พี่น้อยนี่ถ้าเชื่ออะไรแล้วแกเชื่ออยู่อย่างนั้น ขุดวันนี้ยังไม่เจอ แกก็คงขุดไปเรื่อยจนกว่าจะเจอ ไอ้เราก็ลุ้นให้เจอเสียที จะได้เลิกขุด"
เขามักบอกกับผู้คนที่หัวเราะเยอะเขาเสมอว่า ถ้าหากผืนดินที่ว่าไม่มีอะไรเลย แกเองก็คงไม่เสียเวลามาเป็นสิบๆ ปี เพื่อมานั่งเฝ้ามัน การเฝ้าสมบัติน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ "น้อย ปืนโต" เลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในป่า นอกเหนือไปจากความผูกพันกับธรรมชาติที่มีอยู่ตั้งแต่วัยเยาว์
ทุกวันนี้ "น้อย ปืนโต" ยังคงตามหาสมบัติเพชรพระอุมาของเขาอยู่เสมอ แต่ไม่ว่าจะเจอสิ่งที่ฝันไว้หรือไม่ก็ตาม นั่นคงไม่สำคัญเท่ากับการที่บรรดาคนใกล้ชิดทุกคน ต่างก็มองเห็นสมบัติที่มีอยู่ในตัวของ "น้อย ปืนโต" เป็นทรัพย์อันมีค่าที่พวกเขาสัมผัสได้ตรงกัน... ทรัพย์ที่ว่านั้น คือ "ความดี"
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
นิตยสาร ฅ คน ฉบับที่ 40 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2552
แนะนำเนื้อหาในนิตยสาร ฅ คน ฉบับที่ 40 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2552
เรื่องจากปกน้อย ปืนโต
- แบกปืนยาวที่ไม่ได้ยิงมานานเป็นปี เดินท่อมๆ อยู่เดียวดายในป่ากลางเทือกเขาตะนาวศรี น้อย ปืนโต ออกตามหาขุมทรัพย์เร้นลับ โดยหารู้ไม่ว่า เขาเองที่เป็นคนเฝ้าสมบัติสุดท้ายนั้นด้วย
คนกับวิถีหมู่บ้านผักประสานใจ
- ถ้าคนปลูกยังไม่กล้ากินเอง ผักชนิดนั้นก็ไม่สมควรเรียกว่าผัก ที่นี่คนปลูกตื่นแต่เช้า เพื่อเช็ดน้ำค้างบนใบผักเพราะกลัวใบเขียวๆ จะหมองก่อนถึงมือคนกิน จะมีอะไรดีไปกว่านี้ ถ้าผักคือตัวแทนแห่งมิตรภาพ
สกูปพิเศษ การต่อสู้ที่หัวมุมถนน
- ถ้า อนารยชนรุกราน แน่นอน คุณต้องร่วมใจกันลุกขึ้นสู้ แต่หากอนารยชนผู้ซ่อนอำพรางเข้ามาในรูปของการพัฒนา การต่อสู้ของผู้คนสองฟากฝั่งถนนจะดำเนินไปเช่นไร
ทะเลคน ทะเลใจ จากผู้ฆ่า สู่ผู้ให้
- นักฆ่าอย่างเขาถูกขัดเกลาหัวใจในบ้านแห่งโอกาส ฝันร้ายในวัยเยาว์จึงปิดฉาก พร้อมกับความหวังว่าจะฉุดดึงคนอีกคนให้ผ่านช่วงเวลาร้ายกาจไปให้ตลอดรอดฝั่ง
สัมภาษณ์พิเศษ ดร. ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง
- ลูกสาวชาวกาดหลวง และเลขาธิการมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง กับเรื่องราวของเชียงใหม่บนหนทางสู่ความเป็นเมืองที่ยั่งยืน บางทีเรื่องพวกนี้อาจไม่เคยมีในหนังสือท่องเที่ยวเล่มใด