x close

อภิสิทธิ์ ฉะเละ ระบบแอดมิชชั่น

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


อภิสิทธิ์ ฉะเละ ระบบแอดมิชชั่น (ไทยรัฐ)


          กรณีนักเรียน ม.6 ชำระเงินค่าแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูงหรือเอเน็ตไม่ทัน และทำเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จำนวน 572 คน ทำให้มีการนำเรื่องการแก้ปัญหาเอเน็ตเข้าสู่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมด้วย

          ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ปัญหาการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนั้น มีทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาระยะยาว โดยปัญหาเฉพาะหน้าคือ กรณีการสอบเอเน็ต ซึ่งตนเห็นว่ากรณีที่เด็กตั้งใจทำตามกติกา แต่มีปัญหาการชำระเงิน ก็ควรคืนสิทธิให้เด็ก ส่วนกรณีอื่นๆ ก็อย่าตำหนิเด็กเหล่านั้น และควรพิจารณาหาทางช่วยเหลือ โดยจะต้องไม่กระทบสิทธิของเด็กที่ทำตามกติกาอีก 1.9 แสนคน

          นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ส่วนระยะยาวเห็นว่าระบบการสอบคัดเลือกที่ผ่านมา หากปล่อยไปจะนำไปสู่วิกฤติ โดยมีสิ่งที่ฟ้องอยู่ 2 ประการคือ ประการแรก เด็กที่เข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบแอดมิชชั่น เรียนไม่ได้ ซึ่งเห็นได้ในคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ พบว่าเด็กปี 4 เกรดเฉลี่ยลดลง และมีจำนวนหนึ่งที่เรียนไม่ไหว เป็นสิ่งที่ฟ้องว่าระบบแอดมิชชั่นมีข้อผิดพลาด ไม่สามารถคัดคนที่มีความสามารถเข้าเรียนได้ และผลจากประการแรก ทำให้เกิดปัญหาประการที่ 2 คือ มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงมากขึ้น ซึ่งเป็นภาระและเพิ่มค่าใช้ จ่ายของเด็กมากขึ้น จึงฝาก ทปอ. คิดถึงการปรับปรุงระบบ โดยควรเริ่มคิดตั้งแต่เนิ่นๆ และปรับให้ดีทั้งระบบ ไม่ใช่ปรับทีละนิดๆ หากทำไม่ทันในปีหน้า ก็ทำในปี 2554 หรือ 2555 โดยส่วนตัวเห็นว่า ควรใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรหรือ จีแพ็กซ์ เป็นเพียงคุณสมบัติของผู้สมัคร ไม่ใช่องค์ประกอบ เพราะมาตรฐานโรงเรียนยังไม่เท่ากัน

          ด้านนพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ ในฐานะประธาน ทปอ. กล่าวว่า การปรับระบบแอดมิชชั่นตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี หากจะปรับจริงก็ต้องประกาศให้นักเรียนทราบก่อนล่วงหน้า 3 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 ซึ่งจะเป็นปีแรกที่มีการปรับระบบแอดมิชชั่น ก็จะยังคงใช้องค์ประกอบเดิมที่ประกาศไว้ คือ คะแนนทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ หรือโอเน็ต ร้อยละ 30 แบบทดสอบศักยภาพทั่วไปหรือ GAT ร้อยละ 10-50 แบบทดสอบศักยภาพทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT ร้อยละ 0-40 และคะแนนจีแพ็ก ร้อยละ 20 และเห็นว่า เรื่องแอดมิชชั่นควรเป็นวาระแห่งชาติ โดยในการประชุมวิชาการประจำปีของ ทปอ. ซึ่งเดิมกำหนดจัดในเดือนมกราคม 2553 ในปีนี้จะเลื่อนมาจัดประมาณเดือนมิถุนายน 52 และหยิบยกเรื่องแอดมิชชั่นมาพูดคุยกัน ถึงปัญหาของระบบบริหารจัดการและปัญหาอื่นๆ เพื่อให้แอดมิชชั่นปี 2553 เป็นไปอย่างราบรื่น และทำวิจัยเจาะลึกปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขต่อไป

          ส่วนปัญหาสอบเอเน็ตนั้น นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทปอ. เห็นชอบตามที่คณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา คืนสิทธิสอบเอเน็ตให้กับเด็กที่มีปัญหาสมัครแล้วชำระเงินไม่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องบาร์โค้ด โดยตนและอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมที่จะเข้าชี้แจงเหตุผลกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, กรรมาธิการชุดต่างๆ ของ ส.ว.และ ส.ส. ซึ่งรับเรื่องร้องเรียนจากเด็กและผู้ปกครอง และมั่นใจว่าหากได้ชี้แจงทุกฝ่ายจะเข้าใจว่า การตัดสินของคณะกรรมการอำนวยการฯ ยึดหลักสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มาร้องเรียน 572 คน หรือ เด็กที่สมัครไปเรียบร้อยแล้ว 1.9 แสนคน

          ขณะที่นายพิสิฐ กิตติเจริญฤกษ์ ผู้ปกครองนักเรียน กล่าวว่า ลูกตนไม่ได้อยู่ในกลุ่มบาร์โค้ดมีปัญหา โดยอยู่ในกลุ่มที่จำวันชำระเงินคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจไม่ได้รับการคืนสิทธิ ดังนั้นหากไม่ได้สิทธิจริงๆ ก็จะฟ้องศาลปกครอง โดยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ได้เข้าให้ข้อมูลกับนายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายเสน่ห์ก็เห็นว่า คนที่เป็นครูอาจารย์ควรให้โอกาสเด็กเป็นอันดับแรก กฎเกณฑ์ควรมาทีหลัง และในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จะมีการแถลงข่าวกรณีเอเน็ตด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อภิสิทธิ์ ฉะเละ ระบบแอดมิชชั่น อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 18:29:46 14,379 อ่าน
TOP