x close

รู้จัก พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง

พันธบัตร

ประชาชนแห่จองพันธบัตรออมทรัพย์ไทยที่ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่




สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

          ฮือฮากันตั้งแต่ยังไม่เปิดให้จองเลยทีเดียว สำหรับ "พันธบัตรรัฐบาล" หรือ "พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง" ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าจับจอง และด้วยดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไปนี่เองจึงทำให้หลายๆ คนสนใจ และอยากทราบรายละเอียดของ "พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง" มากขึ้น วันนี้เราจึงนำข้อมูลมาบอกต่อกันค่ะ

 พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง คืออะไร

          ก่อนอื่น ต้องมารู้จักคำว่า "พันธบัตรรัฐบาล" เสียก่อน "พันธบัตรรัฐบาล" คือ ตราสารที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออก เพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชนโดยตรง และสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นให้แก่ผู้ถือเมื่อครบกำหนด หรือจะจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆ แล้วแต่จะตกลงกัน โดยผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลตามกฎหมาย และถือเป็นตราสารที่ไม่มีความเสี่ยง

          สำหรับ "พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง" เป็นพันธบัตรรัฐบาล ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ตามแผนการกู้เงินภาครัฐในปีงบประมาณ 2552 และมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป การออก "พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง" นี้ เพื่อระดมทุนนำงบประมาณที่ได้ ไปใช้ตามโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ที่รัฐบาลวางแผนไว้ ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 6,000 โครงการ

 อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง

          สำหรับอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ใน 2 ปีแรก ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลจะได้รับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 และในปีที่ 3 จะได้รับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 4 ส่วนในปีที่ 4 และ 5 จะได้รับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 5 โดยการจ่ายดอกเบี้ยจะจ่ายปีละ 2 ครั้ง ทุกวันที่ 13 มกราคม และ 13 กรกฎาคมของทุกปี

 ข้อแตกต่างของพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง กับพันธบัตรอื่นๆ

          1. มีวงเงินสูงถึง 50,000 ล้านบาท (ล่าสุดรัฐบาลประกาศเพิ่มวงเงินอีก 30,000 ล้านบาท รวมเป็น 80,000 ล้านบาท)

          2. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นแบบขั้นบันได 

          3. กำหนดเพดานการซื้อพันธบัตรชัดเจน 

          4. มีธนาคารเข้าร่วมเป็นตัวแทนจำหน่ายถึง 7 แห่ง โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมจากรัฐบาล 

          5.เงินที่ได้จากการระดมทุนซื้อพันธบัตร จะนำไปใช้ลงทุนผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง

 ผู้มีสิทธิ์ซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง

          บุคคลธรรมดา ที่มีสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย, สภากาชาดไทย, มูลนิธิ, สมาคม, สหกรณ์, วัด, สถานศึกษาของรัฐ, โรงพยาบาลของรัฐ และนิติบุคคลอื่นใดที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร

 ผู้ไม่มีสิทธิ์ซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ได้แก่

          ธนาคาร, บริษัทเงินทุน, บริษัทหลักทรัพย์, บริษัทเครดิตฟองซิเอร์, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน, บริษัทประกัน, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนส่วนบุคคลที่บริหารโดยสถาบันการเงิน, คณะบุคคล, บรรษัท, สำนักงานประกันสังคม, รัฐวิสาหกิจ, บริษัท, ห้างร้าน, นิติบุคคลที่แสวงหากำไร, นิติบุคคลอาคารชุด, โรงพยาบาลเอกชน และสถานศึกษาเอกชน

 การเปิดจองพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง 

          กระทรวงการคลังได้เปิดจำหน่าย หรือเปิดให้จองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของกระทรวงการคลัง วงเงิน 50,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี โดยกำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำคนละ 1 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยจะเปิดจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 13-21 กรกฎาคม โดยแบ่งเป็น 3 รอบ ดังนี้

           รอบที่ 1 จำหน่ายวันที่ 13-14 กรกฎาคม วงเงิน 15,000 ล้านบาท เปิดให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจองซื้อได้ตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท 

           รอบที่ 2 เปิดขายวันที่ 15-16 กรกฎาคม วงเงิน 15,000 ล้านบาท เปิดจำหน่ายให้บุคคลธรรมดา (รวมผู้สูงอายุ) ที่มีสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร วงเงิน 10,000 บาทขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท 

           รอบที่ 3 จำหน่ายระหว่างวันที่ 17, 21 - 22 กรกฎาคม วงเงิน 20,000 ล้านบาท เปิดจำหน่ายให้บุคคลธรรมดา (รวมผู้สูงอายุ) ที่มีสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร โดยไม่จำกัดวงเงินการซื้อ

          และล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ครม. ได้อนุมัติให้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ล็อตที่ 2 ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท หลังจากการจำหน่ายในวันแรก (13 กรกฎาคม) ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งนี้ได้กำหนดผู้มาจองหรือซื้อต้องมาที่ธนาคารด้วยตัวเอง และ 1 คน สามารถรับได้ 1 ใบจองเท่านั้น โดยจะใช้ระบบออนไลน์พร้อมกันทั่วประเทศ

          สถานที่เปิดให้จองพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ประชาชนสามารถไปจองซื้อพันธบัตรได้ทุกสาขาของธนาคารที่เป็นผู้แทนจำหน่าย 7 แห่ง คือ

          • ธนาคารกรุงเทพ ได้รับวงเงินจำหน่ายพันธบัตร  11,800 ล้านบาท
          • ธนาคารกรุงไทย 10,100 ล้านบาท
          • ธนาคารไทยพาณิชย์ 8,700 ล้านบาท
          • ธนาคารกสิกรไทย 7,800 ล้านบาท
          • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 4,500 ล้านบาท
          • ธนาคารทหารไทย 3,800 ล้านบาท
          • ธนาคารนครหลวงไทย 3,200 ล้านบาท

 เอกสารที่ใช้ในการจองซื้อพันธบัตร

          1. คำเสนอขอซื้อพันธบัตร สามารถรับได้ที่ธนาคาร หรือดาวน์โหลดทางเว็บไซต์ของ 7 ธนาคาร  
          2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
          3. สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากประจำ)

          กรณีเป็นชาวต่างชาติ จะต้องนำใบสำคัญแสดงถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวมาแสดง

          กรณีเป็นนิติบุคคล จะต้องมีสำเนาหนังสือจดทะเบียนจัดตั้ง หนังสือมอบอำนาจจากผู้มีอำนาจลงนาม ตัวอย่างลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจพร้อมลงนาม รับรองสำเนาถูกต้อง, สำเนาหนังสือหรือประกาศของกรมสรรพากรแสดงว่าได้รับยกเว้นภาษี (ถ้ามี)

 การชำระเงิน มี 3 วิธี

          1.เงินสด

          2. แคชเชียร์เช็ค, เช็คส่วนตัว (เฉพาะเช็คในเขตสำนักงานหักบัญชีเดียวกัน) ในวันเสนอขอซื้อพันธบัตร โดยเช็คลงวันที่ไม่เกินวันที่เสนอขอซื้อพันธบัตร เช็คขีดคร่อม สั่งจ่าย "บัญชีจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง"

          3. หักบัญชีธนาคารในวันเสนอขอซื้อพันธบัตร 

          ทั้งนี้ในวันทำการสุดท้ายของการจำหน่ายพันธบัตร ผู้ซื้อพันธบัตรจะต้องชำระด้วยเงินสด หรือหักบัญชีเงินฝากเท่านั้น และจะต้องชำระก่อนเวลา 15.00 น.)

          บุคคลธรรมดาผู้ถือพันธบัตรจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละงวด โดยส่วนเงินฝากและพันธบัตรของ ธปท. มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายอัตราภาษีตามประเภทผู้ถือพันธบัตรมีรายละเอียดดังนี้

         • บุคคลธรรมดาที่อยู่ในไทย หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
         • บุคคลธรรมดาที่มิได้อยู่ในไทย หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

          อย่างไรก็ตาม หากผู้ซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ต้องการขายก่อนครบกำหนด หรือโอนกรรมสิทธิ์ สามารถทำได้หลังจากพันธบัตรมีอายุครบ 6 เดือน นับจากวันเปิดจำหน่ายวันแรก หรือตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2553 เป็นต้นไป





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
   
กระทรวงการคลัง,ธนาคารกรุงเทพ,สหกรณ์ออมทรัพย์ป่าไม้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง อัปเดตล่าสุด 16 กรกฎาคม 2552 เวลา 14:47:15 66,921 อ่าน
TOP