x close

เตือนรัฐ ยกเลิกMOUทางทะเล อาจเข้าทางกัมพูชา



เตือนรัฐ ยกเลิกMOUทางทะเล อาจเข้าทางกัมพูชา (ไทยรัฐ)

          อดีต ส.ว. เตือนรัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยูทางทะเล อาจเข้าทางกัมพูชาให้สามารถดูดก๊าซธรรมชาติได้อย่างสะดวก...

          คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนา เรื่อง "ยกเลิกเอ็มโอยูกัมพูชา - ไทยได้อะไร-เสียอะไร" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฉลองโอกาสครบรอบหนึ่งทศวรรษโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา โดยในตอนหนึ่งของการเสวนา นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.ตาก กล่าวว่า เมื่อ ค.ร.ม.มีมติให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา แล้ว ตามความเห็นของตนคิดว่าควรจะต้องนำมาขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ด้วย 

          เพราะการจะยกเลิกสัญญาใดจะต้องเป็นความยินยอมของทั้งสองฝ่าย โดยต้องทำสัญญาเพื่อยกเลิกสัญญานั้นนั่นเอง เมื่อได้ศึกษารายละเอียดต่าง ๆ แล้วรู้สึกเป็นห่วงว่าการยกเลิกครั้งนี้อาจเข้าทางกัมพูชา ที่อาจสำรวจจนมั่นใจแล้วว่าพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลช่วงดังกล่าวมีก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาล และเตรียมให้สิทธิเอกชนเข้าไปขุดเจาะก๊าซบริเวณดังกล่าวได้อย่างสะดวกจนอาจทำให้ท้ายสุดเขาก็สามารถสูบก๊าซบริเวณรอบ ๆ ไปได้จนหมด 

          ทั้งนี้จากการศึกษาเห็นว่าบันทึกข้อตกลงที่รัฐบาลไทยควรจะยกเลิกกับรัฐบาลกัมพูชา บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 ที่ลงนามไว้ในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศในขณะนั้น เนื่องจากฝ่ายกัมพูชาได้ทำผิดข้อตกลงไปแล้วโดยละเมิดสร้างถนนขึ้นปราสาทพระวิหารในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายไทยก่อน 

          ด้าน นายกวีพล สว่างแผ้ว นักวิชาการด้านกิจการการขนส่ง มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า เมื่อพิจารณาบันทึกความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย - กัมพูชา ปี 2544 แล้วรู้สึกหนักใจ เนื่องจากเนื้อหาได้กล่าวถึง "ไหล่ทวีป" ซึ่งความหมายกว้างมาก ส่วนคำว่า "พื้นที่ทับซ้อน" ก็หมายถึงกรณีที่มีพื้นที่ประชิดติดกัน ทำให้ต้องแก้ไขปัญหา ทางออกเรื่องนี้เมื่อพิจารณาอนุสัญญาเจนีวา และอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลของสหประชาชาติ ได้กำหนดวิธีการไกล่เกลี่ยด้วยการเจรจา หากเจรจากันไม่ได้ให้หาวิธีอื่นที่เป็นวิธีการทางกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาจะใช้วิธีการเจรจา แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องผลประโยชน์ของทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อน ขอชี้แจงว่าผลประโยชน์ที่ระบุว่ามีมากถึง 5 ล้านล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขที่เกิดจากการประเมิน ซึ่งตราบใดที่ทั้งสองประเทศยังตกลงกันไม่ได้ก็ย่อมไม่มีประเทศใดที่มีสิทธิเข้าไปสำรวจในพื้นที่นั้น ๆ  

          ด้านนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยอมรับว่าอยู่ในสถานะที่ลำบาก ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดคลั่งชาติที่พยายามปั่นให้ประชาชนของสองประเทศขัดแย้งกันโดยใช้เหตุผลเรื่องพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร หรือเรื่องข้อตกลงทางทะเล ยกมาเป็นประเด็น เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง ไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์ในเชิงความขัดแย้งและการพึ่งพิงกันทั้งมิติของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การสร้างความเกลียดชังต่อตัวผู้นำกัมพูชาและประชาชนกัมพูชาโดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความหายนะ เพราะชาวบ้านที่อยู่ตามแนวชายแดนล้วนไม่ต้องการความรุนแรง จึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องจัดการโดยสันติวิธี มิเช่นนั้นจะมีผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการค้าบริเวณพรมแดนซึ่งไทยมีผลประโยชน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 จากการส่งออก ยังไม่รวมถึงธุรกิจ บ่อนกาสิโน โรงแรมและสถานีโทรทัศน์ที่คนไทยเป็นเจ้าของด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนรัฐ ยกเลิกMOUทางทะเล อาจเข้าทางกัมพูชา อัปเดตล่าสุด 23 พฤศจิกายน 2552 เวลา 17:27:03 7,912 อ่าน
TOP