x close

ปมร้อน! ปิยบุตร เสนอค้านกษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ



 ประเทศไทย


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Youtube โพสต์โดย fujikoSNL 
 
          หลังจากคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยเรื่องของพระมหากษัตริย์ ก็ทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคม โดยมีคนส่วนหนึ่งสนับสนุนความคิดนี้ ขณะที่คนอีกหลายกลุ่มก็ออกมาคัดค้านกับแนวคิดดังกล่าว และวิพากษ์วิจารณ์ถึงผู้เสนอแนวคิดนี้อย่างรุนแรง
 
          และจากประเด็นร้อนนี้เอง ก็ทำให้ชื่อของ "รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" ในนามของกลุ่มนิติราษฎร์ เข้ามาอยู่ในกระแสข่าว พร้อม ๆ กับชื่อของ "ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล" หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ ที่ถูกกล่าวถึงในช่วงนี้เช่นกัน เพราะเป็นผู้ที่เคยเสนอแนวคิดอย่างสุดโต่งเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไว้ในการเสวนาเมื่อปลายปีที่แล้ว
 
          ย้อนไปในงานเสวนาเรื่อง "เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2554 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เคยแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวไว้ว่า สถานะของสถาบันที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีอำนาจมากเกินควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย และไม่ได้เป็นมาแต่ไหนแต่ไรตามที่หลาย ๆ คนอาจได้รับรู้ เนื่องจากในความเป็นจริง สถาบันกษัตริย์ถูกยกระดับให้มีอำนาจเท่าที่เป็นในปัจจุบันตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นเพียง 40-50 ปี ของการช่วงชิงทางความคิดและอุดมการณ์ระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์เท่านั้น
 
          ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล มองว่า การช่วงชิงอำนาจดังกล่าวก็เช่นเดียวกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองจากการเลือกตั้ง และฝ่ายจารีตนิยมที่ใช้การโฆษณาชวนเชื่อ ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินไปของสนามที่ต่อสู้เชิงความคิดที่ยังไม่สิ้นสุดในสังคมไทย
 
          นอกจากนั้นแล้ว ดร.ปิยบุตร ยังแสดงทัศนะด้วยว่า สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใด ๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และต้องสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ เป็นต้น
 

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ปิยบุตร แสงกนกกุล


          อย่างไรก็ตาม ทัศนะดังกล่าวของ ดร.ปิยบุตร ก็ทำให้นักวิชาการ และผู้ที่รับทราบข้อมูลนำมาวิเคราะห์ และวิพากษ์วิจารณ์กันหลายประเด็น ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยที่ได้แสดงความคิดเห็นว่า การที่ ดร.ปิยบุตรแสดงทัศนะเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมายังมีคนเข้าใจคลาดเคลื่อน และดึงเอาสถาบันสูงสุดลงมาพัวพันกับการเมือง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่ามีความจงรักภักดีหรือไม่
 
          ขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่ควรไปแตะต้องกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งดูแล้วเป็นการลดทอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยทั้งแผ่นดิน พร้อมกับมองว่า จริง ๆ แล้วเป้าหมายของประชาธิปไตยคือการพัฒนาคน และพัฒนาประเทศชาติมากกว่าที่จะดึงสถาบันลงมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย
 
          ทั้งนี้ แม้ประเด็นดังกล่าวจะยังไม่มีข้อสรุป แต่ ณ เวลานี้ แนวคิดข้างต้นก็ได้เพิ่มอุณหภูมิร้อนให้กับสังคมไทยเป็นวงกว้างแล้ว
 
          สำหรับ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท จาก D.E.A. de droit public, l’Université de Nantes ประเทศฝรั่งเศส และปริญญาเอก สาขากฎหมายมหาชน ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในกลุ่ม 5 อาจารย์นิติศาสตร์ที่ร่วมกันก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ โดยนำเสนอบทความทางวิชาการต่าง ๆ และจัดงานเสวนาวิชาการเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งก็ทำให้เกิดข้อวิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม ทั้งจากผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปมร้อน! ปิยบุตร เสนอค้านกษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ อัปเดตล่าสุด 27 มกราคม 2555 เวลา 14:41:59 138,321 อ่าน
TOP