x close

ยกคำร้อง! ศาล ชี้ แก้รัฐธรรมนูญไม่ล้มล้างการปกครอง


ศาลรัฐธรรมนูญ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปกดอทคอม 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส

         รอด! ศาลยกคำร้อง ชี้ แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ล้มล้างการปกครอง แต่ระบุแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ ไม่ยุ่งสภาฯ โหวตวาระ 3 เสื้อแดงเฮลั่น

          วันนี้ (13 กรกฎาคม) ผู้สื่่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.45 น.ที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีแก้รัฐธรรมนูญแล้ว โดยในประเด็นแรกที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการรับคำร้องวินิจฉัยคดีนี้หรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่า อำนาจหน้าที่ในการรับวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว ตามมาตรา 68 วรรคสอง โดยอัยการสูงสุดมีหน้าที่แค่พิจารณาเบื้องต้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสิทธิการร้องของบุคคลโดยตรง


          ขณะที่ในประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรมนูญ มาตรา 291 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 จะเป็นอำนาจรัฐสภา แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ เพราะเป็นการผ่านการลงประชามติโดยประชาชน ดังนั้น ควรถามประชาชนก่อนแก้ไข

          ส่วนประเด็นที่ 3 ที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะชี้ชัดได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดการล้มล้างการปกครอง เพราะเป็นเพียงการกล่าวอ้าง และแสดงความเป็นห่วงเท่านั้น จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้ง 5 คำร้อง

          ทั้งนี้ เมื่อศาลวินิจฉัยให้ยกคำร้องทั้งหมดแล้ว ดังนั้น ในประเด็นที่ 4 เกี่ยวกับการยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมือง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาต่อไป


           ภายหลังจากศาลอ่านคำวินิจฉัย นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมทีมโฆษก ได้แถลงข่าวโดยกล่าวว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงด้วยวาจาและลงมติใน 4 ประเด็น ที่ศาลกำหนด คือ ประเด็นแรกมติ 7 ต่อ 1 ศาลมีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 ประเด็นที่ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 291 เป็นการยกเลิกทั้งฉบับหรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ถึงแม้รัฐสภามีอำนาจในการแก้ แต่หากแก้ทั้งฉบับจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่มาจากการทำประชามติ แต่หากแก้เป็นรายมาตรานั้น เป็นอำนาจของรัฐสภาอยู่แล้ว 

           ส่วนประเด็นที่ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1 หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง เนื่องจากยังไม่เกิดขึ้น และประเด็นสุดท้าย เป็นเหตุให้ไปสู่การยุบพรรคการเมืองหรือไม่นั้น เห็นว่าไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง จึงไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ ศาลจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 ในประเด็นที่ 2, 3 และ 4 ยกคำร้องทั้ง 5 ผู้ร้อง          

           ทั้งนี้ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญแถลง ก็ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงที่รอฟังคำตัดสินอยู่ต่างพากันส่งเสียงโห่ร้องด้วยความดีใจ


          ขณะที่ พล.ต.ต.คํารณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้สั่งเสริมกำลังบริเวณด้านหน้าอาคารศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยยกคำร้อง โดยระบุว่า เป็นการเสริมกำลังเพื่อป้องกันเหตุการณ์ความวุ่นวายตามแผนเดิมที่ได้มีการวางเอาไว้ พร้อมกับรอดูท่าทีของมวลชนที่ชุมนุมอยู่บริเวณอยู่ด้านหน้าอาคารศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป ซึ่งหากจะมีการบุกรุกสถานที่ราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะยอมไม่ได้อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันระหว่างนี้ก็ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลและอำนวยความสะดวกให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางกลับอย่างปลอดภัย และหากระหว่างทางพบมีมือที่สามป่วน ให้แจ้งเข้ามาที่ 191 ได้ทันที

          ทั้งนี้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ยังกล่าวด้วยว่า จากนี้ไปขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมยอมรับคำตัดสินของศาล ซึ่งเป็นคำตัดสินสูงสุด และขอบคุณที่กลุ่มผู้ชุมนุมชุมนุมอย่างสงบ พร้อมกับยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการทุกอย่างด้วยความเป็นกลาง ขณะที่ในคืนนี้เจ้าหน้าที่ก็จะมีการตั้งจุดตรวจ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป











จับตา! ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยวันนี้ (13 กรกฎาคม)

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายของวันนี้ (13 กรกฎาคม) ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อกังวลของหลายฝ่าย ว่าการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68 หรือไม่

           ทั้งนี้ นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ พร้อมด้วย นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมแถลงรายละเอียดขั้นตอนการอ่านคำวินิจฉัยคดีแก้รัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ในวันนี้ เวลา 09.30 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมเพื่อเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน จากนั้นจะพิจารณาวาระปกติในคดีอื่น อีก 3 คดี จึงจะมีการพิจารณา 5 คำร้องตามลำดับ และในระหว่างนี้ ทางศาลรัฐธรรมนูญจะนำคำร้องของแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ขอให้ชะลอการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าหารือด้วย

           นายสมฤทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนการอ่านคำวินิจฉัยกลางนั้น จะเริ่มในเวลา 14.00 น. โดยคาดว่าจะใช้เวลาอ่านไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน ทั้งนี้ ตนขอยืนยันว่า ไม่มีตุลาการคนใดถอนตัว ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากการพิจารณาก็ตาม

           ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่อยากให้กังวลมากเกินไป เพราะต้องรอผลก่อน แล้วค่อยนำผลที่ว่ามาคุยกัน ทั้งนี้ตนเชื่อว่า คนไทยด้วยกันสามารถคุยกันได้อยู่แล้ว ส่วนแกนนำเสื้อแดงที่จะชุมนุมนั้น ตนก็ขอให้ชุมนุมกันอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย อย่าใช้ความรุนแรง

           ส่วนทางด้าน นพ.ประเวศ วะสี นักวิชาการด้านสันติวิธี กล่าวว่า ตนอยากจะเตือนให้ประชาชนรอบคอบ อย่าตกเป็นเครื่องมือของการแย่งชิงอำนาจ เนื่องจากสถานการณ์ที่ขัดแย้งจะทำให้ต่างฝ่ายต่างเกลียดกัน จนอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงถึงขึ้นกลียุค แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับคำวินิจฉัยในวันนี้ ตนเชื่อว่าจะไม่ออกผลแบบสุดโต่งตามที่หลายฝ่ายกังวลอย่างแน่นอน

           อย่างไรก็ตาม สำหรับการดูแลความปลอดภัยตุลาการ ทางด้าน นายสมฤทธิ์  กล่าวในเรื่องนี้ว่า ตนได้นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแล้ว แต่คงไม่ถึงขั้นต้องใช้รถกันกระสุน ส่วนแผนใช้เฮลิคอปเตอร์อพยพตุลาการหากมีเหตุฉุกเฉินนั้น เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการ แต่คาดว่าคงไม่ถึงขั้นนั้น ส่วนการเพิ่มกำลังคุ้มกันนั้น สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและกองบัญชาการตำรวจนครบาลคงประเมินสถานการณ์เป็นอย่างไร ก็เพิ่มเติมตามความจำเป็น

           ขณะที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ กล่าวว่า ต้องดูผลการวินิจฉัยของศาลก่อน เพราะจะเป็นเงื่อนไขของสถานการณ์ว่าจะมีแนวโน้มอย่างไร แต่ยังไม่มีอะไรน่าห่วง และคิดว่ากำลังตำรวจทั้ง 13 กองร้อย น่าจะเพียงพอรับสถานการณ์ แต่ทั้งนี้ ตนไม่อยากให้มองว่าสถานการณ์จะรุนแรงมาก




ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย 4 ประเด็น คาดแบ่ง 3 แนวทาง

            ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยมีจำนวน 4 ประเด็น ประกอบด้วย...

           1.สิทธิและอำนาจการฟ้องคดีตามมาตรา 68 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ

           2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่

           3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 มีปัญหาว่า เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

           4. หากมีการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องมีการยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง ตามมาตรา 68 วรรคสามและวรรค 4 หรือไม่

            แนวทางคำวินิจฉัยของศาลที่ออกมาน่าจะมีอยู่ 3 แนวทาง คือ...

           1. หากศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามที่ "รัฐบาล-พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย" วางกรอบเอาไว้

           2. ไม่สามารถแก้ได้ทั้งฉบับตามมาตรา 291 โดยให้ไปยกร่างใหม่เป็นรายมาตรา ซึ่งแนวทางนี้อาจจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดลงบ้าง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังสามารถเดินหน้าต่อได้

           3. เข้าข่ายกระทำความผิดตาม มาตรา 68 จะส่งผลถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งแนวทางนี้ถือว่าเลวร้ายที่สุด เพราะจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องหยุดลงทันที และอาจจะส่งผลกระทบไปยัง "คณะรัฐมนตรี-พรรคเพื่อไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา" ที่จะถูกยุบพรรคในฐานะที่เป็น ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ




ขั้นตอนการอ่านคำวินิจฉัย คดีแก้ รธน. คาดใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง

          ทางโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดเผยเกี่ยวกับขั้นตอนการอ่านคำวินิจฉัยกลางคดีแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองขัดต่อมาตรา 68 หรือไม่ ในวันนี้ ว่า จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยในช่วงเช้าทางตุลาการรัฐธรรนูญจะนัดประชุม เพื่ออภิปรายคำวินิจฉัยส่วนตนและลงมติ ก่อนที่จะนำมาประมวลเป็นเสียงข้างมากหรือ คำวินิจฉัยกลางและนั่งบังลังก์อ่านคำวินิจฉัยในช่วงบ่าย

         โดยตั้งแต่เวลา 9.30 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะเดินทางมายังศาลรัฐธรรมนูญ อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติเพื่อประชุมอภิปรายคำวินิจฉัยส่วนตนด้วยวาจาและลงมติ โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเพียง 1 หรือ 2 คนเท่านั้น และจากนั้นจะเข้าไปช่วยเหลือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนในการบันทึกจัดทำคำวินิจฉัยกลาง และมติเพื่ออ่านคำวินิจฉัยคดีให้กับคู่กรณีได้ฟัง ในเวลา 14.00 น.

         สำหรับกระบวนการประชุมอภิปรายจนถึงการลงมตินั้น ทางตุลาการจะดำเนินการจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยจะไม่มีการออกจากที่ประชุม หรือรับโทรศัพท์ใด ๆ และในขณะเดียวกันก็จะมีการจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปอำนวยความสะดวกภายในห้องประชุมด้วย พร้อมห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องทุกชนิด อีกทั้งจะตัดสัญญาณโทรศัพท์รอบ ๆ บริเวณสำนักงานตลอดการประชุม และบริเวณหน้าห้องประชุมจะมีเครื่องตรวจจับสัญญาณติดตั้งไว้อีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากทางคณะตุลาการไม่ต้องการให้มีการรั่วไหลของคำวินิจฉัยออกไป จนกระทั่งจะถึงเวลาอ่านคำวินิจฉัย




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
   http://news.thaipbs.or.th/content/ศาลรธนอ่านคำวินิฉัยแก้รธนวันนี้-ตรเตรียมรับมือม็อบเชื่อไม่รุนแรง      




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยกคำร้อง! ศาล ชี้ แก้รัฐธรรมนูญไม่ล้มล้างการปกครอง โพสต์เมื่อ 13 กรกฎาคม 2555 เวลา 08:34:46 10,774 อ่าน
TOP