x close

ฮือฮา! พบดาวเคราะห์ดวงใหม่ ในระบบดาวเพื่อนบ้าน

ฮือฮา! พบดาวเคราะห์ดวงใหม่ ในระบบดาวเพื่อนบ้าน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  wordlesstech.com

          เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์เดลิเมลของอังกฤษ รายงานข่าวสุดฮือฮา เมื่อนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ ในระบบดาวอัลฟา เซนทอรี ซึ่งเป็นระบบดาวที่ใกล้กับระบบสุริยะของเรามากที่สุด เผยดาวเคราะห์ดวงนี้มีขนาดเท่า ๆ กับโลก

          โดยก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบเพียงว่า ในระบบดาวอัลฟา เซนทอรี ซึ่งอยู่ห่างระบบสุริยะออกไปเพียง 4.3 ปีแสง และเป็นระบบดาวเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กับระบบสุริยะของเรามากที่สุดนั้น ประกอบด้วยดาวเพียง 3 ดวง ได้แก่ ดาวอัลฟา เซนทอรี เอ, อัลฟา เซนเทอรี บี, และพร็อกซิมา เซนทอรี โดยดาวอัลฟา เซนทอรี เอ และบี เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างกว่าดวงอาทิตย์ และพร็อกซิมา เซนทอรี เป็นดาวแคระแดง ที่โคจรล้อมรอบดาวฤกษ์ทั้งสองดวงอยู่

          แต่ล่าสุด องค์ความรู้เดิมเกี่ยวกับระบบดาวอัลฟา เซนทอรี ก็ต้องเปลี่ยนไป เมื่อนักดาราศาสตร์ได้พบว่า มีดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่โคจรอยู่รอบดาวอัลฟา เซนทอรี บี ด้วย ดังนั้น ดาวเคราะห์ที่พบใหม่ดวงนี้จึงถูกตั้งชื่อว่า อัลฟา เซนทอรี บีบี (Alpha Centauri Bb)

          สำหรับอัลฟา เซนทอรี บีบี เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกเพียงนิดเดียวเท่านั้น คือราว 1.13 เท่า โคจรรอบดาวอัลฟา เซนทอรี บี ในระยะใกล้มาก คือห่างเพียง 6 ล้านกิโลเมตร (ใกล้กว่าระยะห่างระหว่างดาวพุธกับดวงอาทิตย์เสียอีก) ด้วยเหตุนี้ มันจึงมีอุณหภูมิสูงถึง 1,500 องศาเซลเซียส และใช้เวลาเพียง 3.24 วันเท่านั้นในการโคจรรอบดาวแม่

         อย่างไรก็ดี แม้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ถือว่าใกล้กับระบบสุริยะมากที่สุด แต่หากจะส่งยานไปสำรวจด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ต้องใช้เวลานานถึง 40,000 ปีในการเดินทางไปเยือนเลยทีเดียว



หมายเหตุ: แก้ไขข้อมูล ณ เวลา 20.00 น. วันที่ 19 ตุลาคม 2555
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฮือฮา! พบดาวเคราะห์ดวงใหม่ ในระบบดาวเพื่อนบ้าน โพสต์เมื่อ 19 ตุลาคม 2555 เวลา 09:50:08 4,068 อ่าน
TOP