x close

กทม. เร่งเดินหน้ารถไฟฟ้าโมโนเรล นำร่องสาย จุฬาฯ-สีลม-สามย่าน


กทม. เร่งเดินหน้ารถไฟฟ้าโมโนเรล นำร่องสาย จุฬาฯ-สีลม-สามย่าน
 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

            กทม. ดึงภาคธุรกิจย่านสยามสแควร์ ลงขันสร้างโมโนเรลสายนำร่อง จุฬาฯ-สีลม-สามย่าน ปั้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเดินทาง ใช้งบ 7,200-9,600 ล้านบาท คาดเริ่มโครงการปี 2557 เปิดใช้จริงปี 2559

            วันนี้ (11 เมษายน) มีรายงานข่าวว่า นายมานิต เตชอภิโชค รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ว่าจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา ในการศึกษารายละเอียดพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง หรือระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายจุฬาฯ-สีลม-สามย่าน โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และประชาชนทั่วไปแล้วในครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา

            โดยโครงการนำร่องนี้ มีแนวเส้นทางสร้างเป็นระบบลอยฟ้า แบ่งออกเป็น 3 ระยะ รวมระยะทางทั้งหมด 6 กิโลเมตร มี 11 สถานี ค่าก่อสร้างเฉลี่ยกิโลเมตรละ 1,200-1,600 ล้านบาท หรืออยู่ที่ประมาณ 7,200-9,600 ล้านบาท โดยแผนระยะที่ 1 ประมาณ 4 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ สถานีเฉลิมเผ่า, สยามสแควร์, ปทุมวัน, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสามย่าน

            สำหรับแนวเส้นทางจะวิ่งเป็นวงรอบสยาม-สามย่าน เริ่มจากแยกเฉลิมเผ่า (ถ.อังรีดูนังต์) เลี้ยวเข้าสยามสแควร์ ซอย 7 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพญาไท ผ่านโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเลี้ยวขวาเข้าถนนพระราม 4 เลี้ยวขวาเข้าซอย จุฬา 5 ผ่านตลาดสามย่านใหม่ เลี้ยวขวาเข้าซอย จุฬา 12 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพญาไท แล้ววนกลับเส้นทางเดิมที่แยกเฉลิมเผ่า โดยจะเริ่มสร้างปี 2557 และเปิดบริการในปี 2559

            ส่วนระยะที่ 2 เป็นเส้นทางเดียวกับระยะที่ 1 แต่เพิ่มสถานีอีก 3 สถานี บริเวณสามย่าน (จุฬาฯ ซอย 5 และจุฬาฯ ซอย 12) คือ สถานีตลาดสามย่าน บรรทัดทอง และจุฬาฯ ซอย 12 เพื่อรองรับการเดินทางภายในพื้นที่สามย่านที่จะเพิ่มมากขึ้นตามแผนการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์ของจุฬาฯ ซึ่งตามแผนจะเปิดให้บริการปี 2561

            สำหรับระยะที่ 3 รถไฟฟ้าโมโนเรลจะวิ่งบริการเป็นวงรอบสยาม-จุฬาฯ ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร แนวเส้นทางจะเหมือนระยะที่ 2 แต่จะเพิ่มเส้นทางจากถนนพญาไทที่ผ่านโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระรามที่ 4 ผ่านจามจุรีสแควร์ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนอังรีดูนังต์ ผ่านสภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒปทุมวัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เลี้ยวซ้ายเข้าสยามสแควร์ ซอย 7 แล้วเลี้ยวซ้ายวกเข้าถนนพญาไท โดยมีสถานีเพิ่ม 2 สถานี คือ สถานีสภากาชาดไทย และราชกรีฑาสโมสร ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2563

            นายมานิต กล่าวอีกว่า เราจะดึงนักธุรกิจในย่านนี้ทั้งหมดมาเป็นพันธมิตรร่วมขันกันลงทุน เพราะโครงการนี้จะได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย เพราะเป็นเส้นทางเชื่อมถึงกันทั้งหมด และจะมีสกายวอล์กมาเสริมการเดินทางด้วย โดย กทม. จะออกค่าก่อสร้างบางส่วน ที่เหลือจะให้เอกชนย่านนี้มาลงทุน เช่น มาบุญครอง สยามเซ็นเตอร์ พารากอน สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ที่มีแผนจะพัฒนาโครงการย่านสามย่าน ซึ่งในอนาคตทำเลนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเดินทางอย่างแท้จริง

            อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 ผลการศึกษาจะเสร็จสิ้น จากนั้นจะเซ็นบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู ร่วมกับภาคเอกชนที่สนใจลงทุน คาดว่าจะเปิดประมูลและก่อสร้าง ระยะที่ 1 ก่อนเป็นลำดับแรกในปี 2557 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2559 ซึ่งโครงการนี้จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สายสีน้ำเงินตรงสถานีสามย่าน และรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีสยาม และยังเชื่อมต่อทางเดินยกระดับจากสถานีเฉลิมเผ่าไปยังสถานีประตูน้ำของรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยการประมูลก่อสร้างจะเป็นแบบเทิร์นคีย์ มีเอกชนรายเดียวที่ทำหน้าที่ทั้งก่อสร้างและจัดซื้อรถไฟฟ้ามาวิ่งบริการพร้อมกัน เพื่อให้ระบบและโครงสร้างรองรับกันได้

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กทม. เร่งเดินหน้ารถไฟฟ้าโมโนเรล นำร่องสาย จุฬาฯ-สีลม-สามย่าน โพสต์เมื่อ 11 เมษายน 2556 เวลา 09:35:48 2,543 อ่าน
TOP