x close

นิด้า เผย 7 จุดใน กทม. พื้นที่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          นิด้า เผย 7 จุดใน กทม. พื้นที่เสี่ยงมะเร็งปอด หลังพบสารก่อมะเร็งเฉลี่ยเกินมาตรฐาน 2.2 เท่า ส่วนสาเหตุหลักมาจากปริมาณรถในถนนที่เพิ่มขึ้น

          เมื่อวันที่ 30 เมษายน นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า จากผลวิจัยวัดค่าฝุ่นละอองในอากาศ ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ของกรมควบคุมมลพิษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2552 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 7 สถานี ได้แก่ การเคหะชุมชนคลองจั่น, โรงเรียนนนทรีวิทยา, โรงเรียนสิงหราชพิทยาคม, การไฟฟ้าย่อยธนบุรี, สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย 4, การเคหะชุมชนดินแดง และโรงเรียนบดินทรเดชา พบว่า มีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของสารก่อมะเร็ง PAHs อยู่ที่ 554 พิโคกรัมเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานความปลอดภัยของ UK-EPAQS ควรมีไม่เกิน 250 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ทั้ง 7 สถานที่ เกินมาตรฐานถึง 2.2 เท่า

          นายศิวัช กล่าวต่อไปว่า สำหรับ จุดที่มีค่าความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งในอากาศสูงสุด คือ การเคหะชุมชนดินแดงมีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นสูงสุดอยู่ที่ 990 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐาน 3.96 เท่า รองลงมา คือ สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย 4 อยู่ที่ 704 พิโคกรัม สูงกว่ามาตรฐาน 2.8 เท่า ตามด้วยการไฟฟ้าธนบุรี 603 พิโคกรัม สูงกว่ามาตรฐาน 2.4 เท่า และโรงเรียนนนทรีวิทยา มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ 292 พิโคกรัม

          อย่างไรก็ดี เมื่อนำค่าเฉลี่ยสารก่อมะเร็งในกรุงเทพฯ ไปเปรียบเทียบกับเมืองต่าง ๆ ของทวีปเอเชีย กรุงเทพฯ จัดอยู่ในลำดับ 13 ส่วนอันดับ 1 คือ เมืองเป่าจี จากประเทศจีน เกินค่ามาตรฐาน 98 เท่า ขณะที่อันดับ 2 คือ กรุงปักกิ่ง จากประเทศจีน เช่นเดียวกัน เกินมาตรฐาน 33 เท่า

          นอกจากนี้ นายศิวัช ยังกล่าวอีกว่า เมื่อหาสาเหตุของสารก่อมะเร็งในกรุงเทพฯ ผลวิจัยพบว่า ร้อยละ 80 มาจากไอเสียของยานพาหนะ ซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราที่สูงมาก แม้ว่าภาครัฐจะสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์เพื่อลดมลพิษในอากาศก็ตาม ส่วนสาเหตุที่สารก่อมะเร็งเพิ่มขึ้น เป็นเพราะปริมาณรถยนต์บนท้องถนนที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ถ้าหากภาครัฐอยากแก้ปัญหานี้ ต้องหันมารณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดปริมาณรถบนท้องถนน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นิด้า เผย 7 จุดใน กทม. พื้นที่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด โพสต์เมื่อ 1 พฤษภาคม 2556 เวลา 11:49:32 1,760 อ่าน
TOP