x close

จาตุรนต์ ฉายแสง ประวัติอดีตคนเดือนตุลา สู่เส้นทางการเมือง


จาตุรนต์ ฉายแสง

จาตุรนต์ ฉายแสง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก จาตุรนต์ ฉายแสง

          จาตุรนต์ ฉายแสง กับประวัติชีวิต ตั้งแต่เข้าป่าสมัยเป็นนักศึกษายุค 6 ตุลาคม 2519 สู่เส้นทางการเมืองจวบจนปัจจุบัน

          หลังจากที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศควบคุมอำนาจในการปกครอง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา พร้อมกับออกคำสั่งให้บุคคลหลายฝ่ายทั้งในภาคการเมือง ข้าราชการ เอกชน เข้ามารายงานตัว แต่กลับมีบางคนไม่มารายงานตัวต่อ คสช. โดยบุคคลที่ประกาศตัวชัดเจนที่สุด ก็คือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กชัดเจนว่า ไม่ไปรายงานตัว ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือว่าขัดต่อประกาศของ คสช. แต่แล้วในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 นายจาตุรนต์ก็ถูกทหารบุกจับตัว ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ หลังจากพ้นเส้นตายการรายงานตัวที่ คสช. ตั้งไว้

          ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีหลายคนเริ่มอยากสนใจใคร่รู้ว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง เพราะเขาคนนี้ก็ถูกเรียกว่าเป็น "คนเดือนตุลา" เช่นกัน


 จาตุรนต์ ฉายแสง ประวัติและชีวิตสมัยเรียน

          นายจาตุรนต์ ฉายแสง เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2499 ที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีชื่อเล่นว่า อ๋อย โดยเป็นบุตรของนายอนันต์ ฉายแสง อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา และนางเฉลียว ฉายแสง อีกทั้งยังเป็นบุตรคนโตในจำนวนบุตร 4 คนอีกด้วย ซึ่งน้องชายของนายจาตุรนต์ คือ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง ส่วนน้องสาวคือ นางฐิติมา ฉายแสง ทั้งคู่ได้เข้าสู่วงการการเมืองเหมือนนายจาตุรนต์ ต่อมา นายจาตุรนต์ ได้เข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนมาเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

          อย่างไรก็ตาม ชีวิตของ จาตุรนต์ ฉายแสง เริ่มมีจุดเปลี่ยนเมื่อเข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเขาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจวบกับช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการกวาดล้างผู้นำนักศึกษา นายจาตุรนต์จึงต้องหลบหนีเข้าป่าไประยะหนึ่ง คล้ายกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พร้อมกับจัดตั้งชื่อว่า สหายสุภาพ เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง นายจาตุรนต์กลับมาศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี และเรียนต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา


จาตุรนต์ ฉายแสง กับเส้นทางทางการเมือง

          กระทั่งเมื่อเข้าสู่ปี 2529 นายจาตุรนต์ ฉายแสง ก็ได้กระโดดเข้ามาสู่วงการการเมืองตามคำชักชวนของบิดา ด้วยการรับสมัครเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ จ.ฉะเชิงเทรา และได้รับเลือกทั้งหมด 2 สมัย ก่อนที่จะย้ายพรรคมาอยู่พรรคประชาชน และพรรคชาติไทย แต่ก็ไม่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.

          อย่างไรก็ตาม เมื่อนายจาตุรนต์เข้าสังกัดพรรคความหวังใหม่ ปี 2535 ก็ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. อีกครั้ง นอกจากนี้ จาตุรนต์ ฉายแสง ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ ตามมาด้วยตำแหน่งโฆษกพรรคความหวังใหม่ และเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ กระทั่ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี นายจาตุรนต์ จึงได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในชีวิต

          ต่อมา เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนำพรรคไทยรักไทย ลงสู่สนามเลือกตั้งปี 2544 จาตุรนต์ ฉายแสง ก็ได้ย้ายสังกัดมาอยู่ที่พรรคไทยรักไทย พร้อมกับได้รับเลือกเป็น ส.ส. 2 สมัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนที่ 40 ของประเทศไทย

          ทว่าเมื่อเกิดรัฐประหารปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ จึงเข้ามาเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคแทน ก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะถูกยุบพรรคในปี 2550 และนายจาตุรนต์ ก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรค และภายหลังที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค นายจาตุรนต์ก็ประกาศว่า เป็นคำตัดสินที่ไม่เป็นธรรม


จาตุรนต์ ฉายแสง

จาตุรนต์ ฉายแสง กับชีวิตทางการเมืองหลังพ้นโทษแบน

          และแล้ว เวลาก็ผ่านไป 5 ปี จาตุรนต์ ฉายแสง และสมาชิกพรรคไทยรักไทยคนอื่น ๆ หรือเรียกกันภาษาปากว่า บ้านเลขที่ 111 ก็พ้นโทษแบน ซึ่ง ณ เวลานั้นก็เป็นช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น นายจาตุรนต์ จึงถูกทาบทามให้มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง แทนที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่จะเป็นรองนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว ซึ่งเมื่อนายจาตุรนต์กลับมารับตำแหน่ง เขาก็บอกว่า รู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน

          ทั้งนี้ การมาเป็น รมว.ศึกษาธิการ ครั้งนี้ จาตุรนต์ ฉายแสง ก็ได้สานต่อนโยบายการแจกแท็บเล็ตของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกหลายฝ่ายโจมตีทั้งในเรื่องความเหมาะสมว่าควรจะพัฒนาครูมากกว่า รวมถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ด้วย

          กระทั่งเมื่อมีการยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 จาตุรนต์ ฉายแสง ก็กลับเข้ามาลงสมัครเป็น ส.ส. อีกครั้ง ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย แต่สุดท้าย การเลือกตั้งครั้งนี้เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ จากนั้นอีก 3 เดือน ก็เกิดการควบคุมอำนาจในการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในที่สุด

          และหลังจากที่ คสช. มีอำนาจในการปกครองประเทศ ก็ได้ออกคำสั่งเรียกตัว จาตุรนต์ ฉายแสง ตามที่ได้ระบุไว้แล้ว



จาตุรนต์ ฉายแสง กับชีวิตครอบครัว

          สำหรับชีวิตครอบครัวของนายจาตุรนต์ ฉายแสงนั้น ได้สมรสกับนางจิราภรณ์ ฉายแสง อดีตเลขานุการหน้าห้องของนายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ขณะดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2546



จาตุรนต์ ฉายแสง facebook

          เฟซบุ๊กของ จาตุรนต์ ฉายแสง คือ เฟซบุ๊ก จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งเขามักใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางกระจายข่าวสาร แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งการประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)



จาตุรนต์ ฉายแสง

สรุปประวัติทางการเมืองคร่าว ๆ ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง

    สังกัดพรรค

        2529-2531 พรรคประชาธิปัตย์
        2531-2532 พรรคประชาชน
        2532-2534 พรรคชาติไทย
        2535-2544 พรรคความหวังใหม่
        2544-2550 พรรคไทยรักไทย
        2556-ปัจจุบัน พรรคเพื่อไทย


    ตำแหน่งในพรรคการเมือง

        2535-2538 โฆษกพรรคความหวังใหม่
        2540-2542 รองเลขาธิการพรรคความหวังใหม่
        2542-2544 เลขาธิการพรรคความหวังใหม่
        2544-2549 รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
        2549-2550 รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย


    ตำแหน่งในการบริหาร

        2539-2540 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
        2544-2545 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
        2545           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
        2545-2548 รองนายกรัฐมนตรี
        2548           รองนายกรัฐมนตรี
        2548-2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
        2556-2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, เฟซบุ๊ก จาตุรนต์ ฉายแสง


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จาตุรนต์ ฉายแสง ประวัติอดีตคนเดือนตุลา สู่เส้นทางการเมือง อัปเดตล่าสุด 30 พฤษภาคม 2557 เวลา 11:52:39 15,575 อ่าน
TOP