x close

นิทานอีสป ตำนานสอนใจอมตะนิรันดร์กาล

         นิทานอีสป ตำนานนิทานสอนใจยอดนิยมอันแสนล้ำค่าสุดคลาสสิก ที่สอนใจเราทุกคนมาตั้งแต่วัยเด็กว่าให้ได้เรียนรู้ เติบโตมาเป็นผู้ใหญที่ดี ปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์ของสังคม
นิทานอีสป นิทานอมตะนิรันดร์กาล เล่าขานโลกจารึก

         หากกล่าวถึง นิทานอีสป (Aesop's Fables) หลายคนอาจจะนึกถึงห้วงเวลาแห่งความทรงจำในวัยเด็กอันแสนมีความสุขกับการนอนฟังนิทานอีสปที่มีเนื้อหาชวนจินตนาการไปกับตัวละครสัตว์พูดได้ ซึ่งทุกครั้งที่นิทานจบลง คำถามของเด็กน้อยก็มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอว่า ทำไมเรื่องราวถึงจบลงอย่างนั้น ทำไมการทำตัวดีถึงได้รับการชื่นชม ทำไมการทำตัวไม่ดีถึงต้องถูกลงโทษ ซึ่งคำถามเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการสอดแทรกแง่คิด รวมไปถึงการปลูกฝังคุณธรรมความดี ที่นับว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของนิทานอีสป

         เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะเคยสงสัยว่า เอ๊ะ นิทานอีสปที่ถูกเล่ากันมาแบบรุ่นต่อรุ่นนี้ มีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร ใครเป็นผู้แต่ง วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบ
         
ตำนานบุรุษผู้ให้กำเนิดนิทานอีสป

         นิทานอีสปเป็นอมตะนิทานเหนือกาลเวลา มีอายุการเล่าขานมาหลายพันปี ความเป็นมาของนิทานอีสปจึงมีอยู่หลากหลายกระแส แต่บรรดานักค้นคว้าประวัตินิทานอีสปก็ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวที่ถูกต้องสมบูรณ์มากที่สุด โดยตามตำนานเล่าว่า ชายผู้เป็นเจ้าของตำนานเรื่องเล่าอันแสนสนุกนี้ไม่ใช่นักปราชญ์แต่อย่างใด เขาเป็นทาสชาวกรีกที่ไร้การศึกษาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเชาวน์ปัญญา นามว่า อีสป (Aesop)

         อีสป มีอายุอยู่ในช่วง 560-620 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ 208 ปี ก่อนพุทธศักราช (พระพุทธเจ้าประสูติเมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช) อาศัยอยู่ที่เมืองซาร์ดิส บนเกาะซามอส ประเทศกรีก (ปัจจุบันเกาะนี้ตั้งอยู่ที่นอกชายฝั่งประเทศตุรกี) ทำงานเป็นทาสรับใช้ให้กับนายทาสชื่อ เอียดมอน

         อีสปมีรูปร่างเล็ก หน้าตาขี้ริ้ว ลิ้นคับปาก พูดจาไม่ค่อยชัด จึงไม่ค่อยมีใครได้ยินว่าอีสปพูดจาว่าอะไร แต่ด้วยภูมิปัญญาที่ล้ำเลิศคิดหากลยุทธ์วิธีการ โดยในช่วงที่ทำงานเป็นทาสนั้น อีสปก็มักจะนำชื่อเสียงมาสู่ตนเองและนายเอียดมอน ด้วยการนำพรสวรรค์ที่มีมาใช้ประกอบการเป็นนักเล่านิทานจนคนในท้องถิ่นรู้จักกันดี ซึ่งนิทานที่อีสปเล่านั้นล้วนมักจะเป็นที่ชื่นชอบ ติดอกติดใจในเนื้อหา ข้อคิด คติสอนใจ ที่อีสปสอดแทรกเข้ามาอยู่เสมอ จนในที่สุดอีสปก็ถูกปลดปล่อยจากการเป็นทาสด้วยไหวพริบและสติปัญญาอันเฉียบแหลมของเขาเอง

         หลังจากที่ได้รับอิสรภาพแล้ว อีสปถูกเชิญให้ไปทำงานอยู่ในราชสำนักของกษัตริย์เครซุส ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรลิเดียของเอเซียไมเนอร์ ด้วยความที่อีสปเป็นผู้มีไหวพริบ ปฏิภาณ และมีความเป็นนักจิตวิทยาสูง เขามักจะได้รับมอบหมายให้เป็นราชทูตไปเจรจาความกับเมืองหลวงของนครรัฐต่าง ๆ อีสปปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชาญฉลาดและกลับมาพร้อมความสำเร็จทุกครั้ง

         จนกระทั่งวันหนึ่ง ชีวิตของอีสปมาถึงจุดพลิกผัน เขาได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ที่เมืองเดลฟิ และได้เล่านิทานโดยใช้สัตว์เป็นสัญญาณบอกความจริงเกี่ยวกับเรื่องความอยุติธรรมทางการเมืองให้ชาวเมืองได้รู้ การเล่านิทานของอีสปครั้งนี้จึงเหมือนเป็นการจุดไฟแห่งความโกรธแค้นจนกลายเป็นเพลิงไหม้แก่เหล่านักการเมืองเป็นอย่างมาก นักการเมืองเหล่านั้นจึงคิดแก้แค้นอีสปด้วยการแอบเอาขันทองศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพอพอลโลไปใส่ไว้ในกระเป๋าสัมภาระของเขา แล้วใส่ร้ายป้ายสีจนอีสปถูกจับตัวเป็นจำเลยในข้อหาขโมยของ และกระทำการลบหลู่ทำลายชาวเดลฟิอย่างร้ายแรง

         ในวาระสุดท้ายของอีสป เขาจบชีวิตลงด้วยการถูกตัดสินโทษประหาร โดยวิธีการโยนลงมาจากหน้าผาสูงจนถึงแก่ความตาย
         
เสน่ห์อันโดดเด่นของนิทานอีสป

         นิทานอีสปเป็นนิทานสั้น มีการดำเนินเรื่องที่กลมกล่อม โดยใช้กุศโลบายแฝงแง่คิด แฝงคุณธรรม โดยส่วนใหญ่จะใช้สัตว์เป็นตัวละครหลัก พร้อมมีการสอดแทรกนัยต่าง ๆ เข้าไป เช่น ราชสีห์ เป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจ, หนู เป็นตัวแทนของชนชั้นล่างผู้ต่ำต้อย, ลา เป็นตัวแทนของผู้ด้อยสติปัญญา หรือหมาจิ้งจอก เป็นตัวแทนของคนเจ้าเล่ห์       

นักปราชญ์ผู้สืบต่อตำนานนิทานอีสป

         ภายหลังจากที่อีสปจบสิ้นชีวิตไป แต่นิทานของเขาไม่เคยดับสิ้นตาม ยังคงถูกเล่าขานกันมาแบบปากต่อปาก ไม่มีการจดบันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จนกระทั่งในศตวรรษหลัง ๆ ได้เริ่มมีการบันทึกเอาไว้บนแผ่นปาปิรุสอียิปต์โบราณ ในบางตำนาน เล่าว่า ทาสชาวมาซิโดเนียนในยุคจักรพรรดิออกุสตุส จักรวรรดิแรกแห่งโรมัน ได้เป็นผู้รวบรวมนิทานของอีสปเอาไว้เป็นภาษาละติน และบางตำนาน เล่าว่า ชาวกรีกชื่อ เดมิต ริอุส เป็นผู้รวบรวมนิทานอีสป โดยเขียนเป็นหนังสือไว้เมื่อราว 30 ปีก่อนคริสต์ศักราช

         กระทั่งในปี ค.ศ. 1400 มีนักบวชชื่อ แมกซิมุส พลานูดเดส ได้เป็นผู้แปลนิทานอีสปจากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษ และนับแต่นั้นมานิทานอีสปก็ได้แพร่หลายไปยังหลาย ๆ ประเทศ โดยแต่ละประเทศก็ได้แปลนิทานอีสปให้เข้ากับสภาพบ้านเมืองของตน พร้อมสอดแทรกคติและข้อคิดอันเป็นหัวใจสำคัญของนิทานอีสปเอาไว้ โดยมีมากกว่า 250 ภาษาทั่วโลก
        
กำเนิดนิทานอีสปในแบบฉบับของประเทศไทย

         สำหรับนิทานอีสปในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่ามีการนำเข้ามาเมื่อใด มีเพียงการสันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงสมัยของพระนารายณ์มหาราช แต่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้แปลนิทานจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และทรงตั้งชื่อว่า อีสปปกรณัม โดยทรงแปลไว้ทั้งหมด 25 เรื่อง

        ต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5) เป็นผู้ทรงแนะนำให้ พระจรัสชวนะพันธ์ (สาตร สุทธเสถียร) หรือมหาอำมาตย์โท พระยาเมธาธิบดี แปลนิทานอีสปเพิ่มเติม พร้อมแต่งเรียบเรียงใหม่ด้วยประโยคที่สั้น และเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับเด็กขึ้น เพื่อใช้เป็นหนังสือแบบเรียนสำหรับเด็กชั้นมูลศึกษาหรือชั้นประถมศึกษา
    
จำนวนของนิทานอีสป

         นิทานอีสปมีมากหมายหลายพันเรื่อง บางเรื่องมีการเล่าขานกันมาก่อนยุคของอีสป บางเรื่องก็มีผู้นำไปปรับแต่งเนื้อเรื่องเพิ่มเติม จึงยากที่จะระบุว่าผลงานนิทานอีสปมีทั้งหมดกี่เรื่อง
      
         นิทานอีสป เป็นนิทานในความทรงจำของคนไทยที่มีประโยคฮิตติดหูในตอนเริ่มเรื่องว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว..” ที่มาพร้อมกับประโยคสุดฮอตในตอนท้ายเรื่องว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..” และวันนี้เราก็จะขอพาคุณผู้อ่านย้อนเวลา กลับไปเพลิดเพลินกับเรื่องราวของนิทานอีสปกันอีกครั้ง ซึ่งเราได้หยิบเรื่องย่อของนิทานอีสปในบางตอนว่าไว้ที่นี่แล้ว

   
นิทานอีสป นิทานอมตะนิรันดร์กาล เล่าขานโลกจารึก
 
นิทานอีสป เรื่อง ลูกหมูสามตัว

         กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีแม่หมูกับลูกหมูสามตัว อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ลูกหมูพี่ใหญ่ เป็นหมูจอมเกียจคร้านชอบนอนตลอดเวลา ลูกหมูตัวพี่รอง เป็นหมูจอมตะกละ ไม่ชอบทำงาน ส่วนลูกหมูน้องเล็ก เป็นหมูที่ขยันชอบทำงาน อยู่มาวันหนึ่งแม่หมูก็ได้พูดกับลูกหมูทั้งสามว่า "พวกลูก ๆ โตพอที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองได้แล้วนะจ๊ะ"

         จากนั้นพวกมันก็ต่างแยกย้ายออกมาสร้างบ้านของใครของมัน โดยเจ้าลูกหมูพี่ใหญ่ เลือกสร้างบ้านด้วยฟาง ใช้เวลาไม่นานนักก็เสร็จ ส่วนลูกหมูตัวพี่รองเลือกสร้างบ้านด้วยไม้  เพราะคิดว่ามันสามารถต้านทานลมได้มากกว่าฟาง ส่วนลูกหมูน้องเล็กเลือกที่จะสร้างบ้านด้วยอิฐ เพราะคิดว่ามันแข็งแรงทนทาน แต่มันกลับโดนพี่ ๆ หัวเราะเยาะและบอกว่า "ทำไมเจ้าโง่อย่างนี้ กว่าจะแบกอิฐ กว่าบ้านจะสร้างเสร็จก็ใช้เวลานานหลายวัน" แต่เจ้าลูกหมูก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาสร้างบ้านต่อจนเสร็จ

         จนอยู่มาวันหนึ่ง มีเจ้าหมาป่ามาซุ่มดูหวังจะมาจับลูกหมูทั้ง 3 ตัวมาเป็นอาหาร มันตรงไปที่บ้านของลูกหมูพี่ใหญ่ที่สร้างบ้านด้วยฟางเป็นที่แรก พร้อมกับเป่าลมออกไปด้วยความแรงทำให้บ้านฟางพังทั้งหลัง เจ้าลูกหมูตัวแรกจึงวิ่งหนีเจ้าหมาป่าไปหลบอยู่ที่บ้านลูกหมูตัวที่สองที่สร้างด้วยไม้ ทันทีที่เจ้าหมาป่าตามมาถึงหน้าบ้านมันก็ได้กระโดดกระแทกประตูจนพังเข้ามาได้ ด้วยความตกใจกลัว เจ้าลูกหมูทั้งสองจึงรีบวิ่งไปขอหลบที่บ้านลูกหมูน้องเล็ก ทันทีที่เจ้าหมาป่าวิ่งตามมาถึง มันรวบรวมพลังทั้งหมดที่มี ทั้งเป่าลม ทั้งกระโดดกระแทกบ้านอิฐ แต่บ้านก็ไม่ยอมพัง ด้วยความแข็งแรงของอิฐได้ทำให้เจ้าหมาป่าได้รับบาดเจ็บ จนต้องยอมถอยกลับไปด้วยความไม่เต็มใจนัก

         ต่อมาลูกหมูทั้งสามก็ได้ตกลงกันว่าจะขออาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านน้องเล็กชั่วคราว แต่หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหมาป่าก็กลับมาอีกครั้งพร้อมกับบันไดหวังจะปีนเข้าทางปล่องไฟบนหลังคาบ้านของพวกลูกหมู แต่บังเอิญลูกหมูทั้งสามเห็นเจ้าหมาป่ากำลังปีนขึ้นมาพอดี เจ้าลูกหมูน้องเล็กจึงรีบบอกให้พี่ ๆ ไปจุดไฟที่เตาผิง เมื่อเจ้าหมาป่ากระโดดลงมาเลยโดนไฟลวก

         หลังจากนั้นหมาป่าก็ได้สำนึกและหันมากลับตัวกลับใจเสียใหม่คือเป็นหมาป่าที่อ่อนโยน และอาศัยอยู่ในที่ของมัน ส่วนหมูผู้เป็นพี่ทั้งสองก็ได้เอาลูกหมูน้องเล็กเป็นแบบอย่าง ตั้งใจทำงาน ไม่เกียจคร้าน ฝ่ายแม่หมูก็พลอยมีความสุขและพอใจในลูกหมูเป็นอย่างมาก

         นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : การสร้างบ้านนั้นต้องขยันอดทน ควรหาวัสดุที่ดี แข็งแรง

นิทานอีสป นิทานอมตะนิรันดร์กาล เล่าขานโลกจารึก
 
นิทานอีสป เรื่อง กระต่ายกับเต่า

         มีกระต่ายตัวหนึ่งหลงทะนงในฝีเท้าของตนเองว่าสามารถวิ่งเร็วที่สุดในสายลม จนวันหนึ่งกระต่ายได้พบกับเต่าตัวหนึ่งคลานต้วมเตี้ยมผ่านมา จึงกล่าววาจาออกไปด้วยความคึกคะนองขอวิ่งแข่งกับเต่า

         เมื่อเริ่มการแข่งขัน กระต่ายวิ่งออกจากจุดเริ่มต้นไปอย่างรวดเร็วจนลับสายตาในทันที ด้วยความทะนงตัวคิดว่าอย่างไรเต่าก็คงตามไม่ทัน จึงบิดขี้เกียจแอบพักหลับระหว่างทาง โดยฝ่ายเต่ายังคงคลานต้วมเตี้ยม ๆ อย่างไม่ย่อท้อ จนใกล้จะเข้าเส้นชัย กระต่ายก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาเห็นรอยเท้าเจ้าเต่าแซงนำไปแล้ว จึงรีบวิ่งอย่างสุดชีวิตไปที่เส้นชัย แต่ก็ไม่ทันการณ์ เพราะเต่าคลานเข้าเส้นชัยไปก่อนแล้ว

         นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ความประมาทย่อมนำมาซึ่งความผิดหวังพ่ายแพ้ ผู้เพียรพยายาม ย่อมประสบผลสำเร็จ

     
นิทานอีสป นิทานอมตะนิรันดร์กาล เล่าขานโลกจารึก

นิทานอีสปเรื่อง เด็กเลี้ยงแกะ


         ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กเลี้ยงแกะคิดหาเรื่องสนุก ๆ เล่น จึงแกล้งร้องตะโกนส่งเสียงออกไปอย่างดังลั่นว่า "ช่วยด้วย! ช่วยด้วย! หมาป่ามากินลูกแกะแล้ว ช่วยข้าด้วย" พวกชาวบ้านต่างพากันตกใจรีบคว้าอาวุธต่าง ๆ พร้อมที่จะช่วย แต่เมื่อชาวบ้านวิ่งมาถึงกลับไม่พบหมาป่าสักตัว เด็กเลี้ยงแกะแอบหัวเราะอยู่ในใจ พร้อมบอกกับพวกชาวบ้านว่า "มันวิ่งไปทางโน้นแล้ว" จากนั้นเด็กเลี้ยงแกะก็ได้หลอกให้ชาวบ้านวิ่งหน้าตาตื่นแบบเดิมอีก 2-3 ครั้ง

         จนกระทั่งวันหนึ่งมีหมาป่ามาไล่กินแกะจริง ๆ คราวนี้เด็กเลี้ยงแกะพยายามตะโกนร้องขอความช่วยเหลือจนคอแหบคอแห้ง แต่ชาวบ้านก็ไม่มา เพราะกลัวว่าจะถูกหลอกอีก สุดท้ายเด็กเลี้ยงแกะได้แต่ร้องไห้โอดครวญอย่างน่าสงสารอยู่ข้างซากฝูงแกะของตัวเอง

         นิทานเรื่งนี้สอนให้รู้ว่า : คนที่เคยพูดโกหกนั้น แม้ภายหลังจะพูดจริง ก็ไม่มีใครเชื่อ

     
นิทานอีสป นิทานอมตะนิรันดร์กาล เล่าขานโลกจารึก
 
นิทานอีสป เรื่อง ราชสีห์กับหนู

         กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ขณะที่ราชสีห์ตัวหนึ่งกำลังนอนหลับอยู่อย่างมีความสุข แต่จู่ ๆ ก็มีเจ้าหนูตัวจิ๋ววิ่งขึ้นมาเล่นบนลำตัวจนต้องสะดุ้งตื่น ราชสีห์จึงใช้อุ้งเท้าตะครุบเอาตัวเจ้าหนูไว้ด้วยความโกรธ ขณะที่กำลังจะลงมือสังหาร เจ้าหนูก็ได้กล่าวคำวิงวอนขึ้น "ท่านผู้เป็นราชาแห่งสัตว์ทั้งปวง โปรดไว้ชีวิตข้าสักครั้งหนึ่งเถิด ข้าไต่ขึ้นมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีเจตนารบกวนท่านแม้แต่น้อย" ราชสีห์รู้สึกขบขันหัวเราะลั่นให้กับความคิดของเจ้าหนู แต่ก็ยอมยกอุ้งเท้าออกยอมปล่อยเจ้าหนูไปแต่โดยดี เพราะไม่อยากขึ้นชื่อว่ารังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า

         หลังจากนั้นไม่นาน ขณะที่ราชสีห์กำลังออกล่าเหยื่อ ก็เกิดพลาดไปติดบ่วงกับดักของนายพรานเข้า ราชสีห์พยายามดิ้นส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือดังลั่นป่า เมื่อเจ้าหนูได้ยินก็จำเสียงได้ จึงรีบมาช่วยกัดแทะบ่วงของนายพรานจนขาด และราชสีห์ได้เป็นอิสระอีกครั้ง

         นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : อยู่ดูถูกคนที่ต่ำต้อยกว่าตน

    
นิทานอีสป นิทานอมตะนิรันดร์กาล เล่าขานโลกจารึก

นิทานอีสป เรื่อง คำตอบของพระจันทร์

         ในคืนพระจันทร์เต็มดวงส่องแสงสว่างไสวอยู่บนท้องฟ้ายามค่ำคืน ทำให้ทิวเขายาวเหยียดสุดสายตาแลดูสว่างราวกับกลางวัน นักเดินทางคนหนึ่งได้กล่าวชื่นชมถึงพระจันทร์ว่า เจ้ายิ่งใหญ่เหลือเกิน ใหญ่กว่าพระอาทิตย์เสียอีก เจ้าส่องแสงในเวลากลางคืน ทำให้ความมืดกลายเป็นความสว่าง เจ้าเป็นเทพผู้ใจบุญ ผู้เป็นความหวังของมนุษยชาติ หากไม่มีเจ้า โลกนี้คงจะมีแต่ความมืดมน

         ขณะที่ขโมยคนหนึ่งที่กำลังซุ่มอยู่ที่มุมลานบ้านหลังหนึ่ง ได้พูดออกไปด้วยความไม่พอใจพระจันทร์ว่า จงไปให้พ้นเจ้าผีร้าย หากข้ามีอำนาจสามารถเรียกเมฆดำมาได้ ข้าจะใช้เมฆดำห่อเจ้าไว้ให้มิด และจะไม่มีวันปล่อยให้เจ้ามีโอกาสได้ออกมาอวดใบหน้าซีดเซียวของเจ้าที่คอยกีดขวางการทำงานของข้า ข้าขอสาปแช่งเจ้าร้อยครั้ง พันครั้ง

         เมื่อพระจันทร์ได้ยินความคิดเห็นของทั้งสอง จึงพูดออกไปค่อย ๆ ว่า ข้าไม่ยิ่งใหญ่ไปกว่าพระอาทิตย์ เพราะข้าขอยืมแสงสว่างจากเขา และข้าก็ไม่ใช่ผีร้าย เพราะข้าไม่กีดขวางคนดี ข้าเป็นตัวข้าเอง ข้าเป็นพระจันทร์

         นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : จงอย่านำความคิดของตนเองไปตัดสินการกระทำของผู้อื่น

     
นิทานอีสป นิทานอมตะนิรันดร์กาล เล่าขานโลกจารึก
 
นิทานอีสป เรื่อง กบในกะลา

         มีกบ 2 ตัวเป็นเพื่อนกัน ซึ่งอาศัยอยู่ในกะลาใบหนึ่ง จนมีอยู่วันหนึ่ง เจ้ากบตัวหนึ่งได้ออกไปนอกกะลาแล้วได้พบสถานที่สุดแสนแปลกตา นั่นคือ แอ่งน้ำในสวนมะพร้าว มันจึงกลับเข้ามาโอ้อวดเจ้ากบอีกตัวที่เอาแต่อยู่ในกะลาไม่ยอมออกไปรู้จักโลกภายนอก

         เจ้ากบนอกกะลา : เจ้าไม่ยอมออกไปข้างนอกบ้างหรอ มันกว้างใหญ่จะตายไป

         เจ้ากบในกะลา : ข้างนอกมีอะไรบ้าง

         เจ้ากบนอกกะลา : มีแอ่งน้ำกว้างใหญ่

         เจ้ากบในกะลา : แล้วนอกแอ่งน้ำมีอะไรอีก

         เจ้ากบนอกกะลา : มีสวนขนาดใหญ่

         เจ้ากบในกะลา : แล้วนอกสวนมีอะไรอีก

         เจ้ากบนอกกะลา : มีหมู่บ้าน

         เจ้ากบในกะลา : แล้วนอกหมู่บ้านมีอะไรอีก

         เจ้ากบนอกกะลา : ... (มันได้แต่เงียบไป)

         เจ้ากบในกะลา : เห็นไหม แท้จริงเจ้ามันก็แค่กบในกะลา เพียงแต่กะลาของเจ้ามันใหญ่ขึ้นเท่านั้น ส่วนข้าก็จะขออยู่ในกะลานี้ต่อไป เจ้าอย่าทะนงตัวมาดูถูกข้าในสิ่งที่เจ้ารู้มาเพียงแค่เศษเสี้ยว

         เจ้ากบนอกกะลา : แล้วเจ้าอยู่แต่ในนี้ เจ้ามีความสุขเหรอ

         เจ้ากบในกะลา : ข้ามีความสุขดี ข้าเบื่อที่จะต้องไปค้นหาความจริง เพราะโลกความจริงมันช่างโหดร้าย ข้าจึงขออยู่อย่างสงบแบบนี้ต่อไป

         เจ้ากบนอกกะลา : งั้นข้าขอออกไปเจอกับโลกภายนอกก็แล้วกัน ข้าเชื่อว่าการที่ข้าได้พยายามออกไปเรียนรู้เรื่อย ๆ มันคงจะมีความสุขกว่าการไม่รู้อะไรเลย และขอโทษด้วยที่เคยว่าเจ้า

         เจ้ากบในกะลา : ข้าขอให้เจ้าโชคดี

         นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ผู้ที่สำคัญตนว่าตนเองเป็นผู้มีความรู้มาก แต่ความจริงแล้วมีความรู้ในกรอบแคบ ๆ มีประสบการณ์น้อยเพราะไม่ได้ออกไปเจอกับโลกทัศน์ภายนอก แต่หากวันใดที่ได้ออกไป อาจจะต้องอยู่ด้วยความลำบาก


นิทานอีสป นิทานอมตะนิรันดร์กาล เล่าขานโลกจารึก

นิทานอีสป เรื่อง นายพรานกับนกกระทา

         วันหนึ่งมีนกกระทาตัวอ้วนจ้ำม่ำตัวหนึ่ง เดินต้วมเตี้ยมหาอาหารด้วยความหิวโหย หลงเข้าไปในกรงดักนกของนายพราน จิกกินอาหารด้วยความเอร็ดอร่อย เมื่อนายพรานที่เป็นผู้วางกรงดักนกกลับมาพบ เขาดีใจมากที่เห็นนกกระทาตัวอ้วนจ้ำม่ำติดอยู่ในกรง

         เมื่อเจ้านกกระทาตัวอ้วนเห็นนายพรานก็เกิดความกลัวทุกข์ร้อนใจ มันจึงร้องขอนายพรานว่า "ท่านเจ้าขา ได้โปรดปล่อยข้าไปเป็นอิสระเถิด แล้วข้าจะนำเพื่อน ๆ ของข้ามาติดกรงดักของท่านเพื่อเป็นการตอบแทนในความเมตตาของท่านที่มีต่อข้า" นายพรานจึงตอบนกกระทากลับไปว่า “ตอนนี้ข้าไม่ลังเลใจเลยที่จะฆ่าเจ้าทิ้งเสีย เพราะเจ้าทรยศเพื่อน ๆ ของเจ้าเพียงเพื่อรักษาชีวิตตัวเองไว้”

         นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ผู้ที่เอาตัวรอดด้วยการสังเวยเพื่อน เป็นผู้ไม่มีความเมตตา    


         และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวตำนานนิทานอีสปในแบบฉบับคร่าว ๆ ที่ชวนนึกย้อนเวลาถึงวัยเด็ก เพราะการฟังนิทานก็เปรียบเสมือนห้องเรียนที่มีคำสอน ให้เราได้เรียนรู้มาตั้งแต่ยังแบเบาะให้ได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งจนถึงทุกวันนี้

    
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
นิทานอีสป.net, thaigoodview.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นิทานอีสป ตำนานสอนใจอมตะนิรันดร์กาล อัปเดตล่าสุด 20 ธันวาคม 2561 เวลา 11:35:10 71,560 อ่าน
TOP