x close

ไขข้อกฎหมาย ทำไมพ่อแท้ ๆ ต้องจดทะเบียนรับรองบุตร ถึงมีสิทธิในตัวลูกตามกฎหมาย

ไขข้อกฎหมาย ทำไมพ่อแท้ ๆ ต้องจดทะเบียนรับรองบุตร

          ไขข้อกฎหมาย ทำไมพ่อแท้ ๆ ต้องจดทะเบียนรับลูกเป็นบุตรถึงมีสิทธิตามกฎหมาย ชี้หากพ่อ-แม่ แยกกันอยู่ และไม่ได้แต่งงาน ลูกจะเป็นลูกโดยชอบตามกฎหมายของแม่ฝ่ายเดียว

          หลังจากประเด็นร้อนศึกแย่งลูกระหว่างครูสอนทำเค้กชื่อดัง ปอแก้ว มัลลิกา เรียนรู้ และอดีตสามี ซึ่งเป็นน้องชายไฮโซชื่อดัง ที่มีปัญหาจนต้องหย่ากัน และลูกสาววัย 4 ขวบก็อยู่ในการดูแลของผู้เป็นแม่ กระทั่งมาเกิดเรื่องราวที่ทำให้สังคมหันมาสนใจ เมื่อฝ่ายผู้เป็นพ่อ ได้บุกเข้าไปรับลูกถึงในโรงเรียนและไม่ส่งคืน ซึ่งทางฝ่ายผู้เป็นแม่นั้นยืนยันชัดเจนว่า อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีสิทธิ์ทำเช่นนั้น เพราะไม่ได้เซ็นรับรองบุตร ทำให้หลาย ๆ คนเกิดคำถามว่า ทำไมผู้เป็นพ่อโดยสายเลือดจึงไม่มีสิทธิ์ในตัวลูก และเหตุใดพ่อแท้ ๆ ต้องจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรก่อนจึงจะมีสิทธิตามกฎหมาย

          สำหรับเรื่องนี้ วันที่ 30 มีนาคม 2560 ผู้เชื่ยวชาญด้านกฎหมายได้ออกมาระบุถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ระบุว่า เด็กที่เกิดจากบิดา-มารดาที่ไม่ได้สมรสกัน จะเป็นบุตรโดยชอบตามกฎหมายก็ต่อเมื่อเข้ากับ 2 ข้อต่อไปนี้ คือ

          - บิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง
          - บิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
          สำหรับการขอรับรองบุตรนั้น ต้องได้รับความยินยอมจากมารดาของเด็กและตัวเด็กด้วย

          นอกจากนี้ ตามมาตรา 1548 ระบุว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาเด็ก ทั้งนี้หากมารดาเด็กไม่มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ก็ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังมารดาของเด็ก ซึ่งหากมารดาเด็กคัดค้าน หรือไม่ให้ความยินยอมภายใน 60 วัน นับตั้งแต่การแจ้งนั้นไปถึงเด็ก หรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทย ให้ขยายเวลานั้นเป็น 180 วัน

          ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล ทั้งนี้หากศาลพิจารณาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้

          อย่างไรก็ดี กรณีทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้เป็นพ่อต้องจำไว้ว่า แม้เด็กจะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเรา แต่หากไม่ได้จะทะเบียนสมรสกับแม่ของลูก และแยกกันอยู่นั้น จะถือว่าลูกเป็นบุตรโดยชอบทางกฎหมายของแม่เพียงฝ่ายเดียว แม้จะเป็นพ่อแท้ ๆ ก็ไม่มีสิทธิ์ นอกจากจะสมรสกันภายหลัง หรือได้จดทะเบียนเป็นบุตร หรือได้รับพิพากษาว่าเป็นบุตรเท่านั้น


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อกฎหมาย ทำไมพ่อแท้ ๆ ต้องจดทะเบียนรับรองบุตร ถึงมีสิทธิในตัวลูกตามกฎหมาย อัปเดตล่าสุด 30 มีนาคม 2560 เวลา 18:24:12 45,481 อ่าน
TOP