x close

ผู้ลี้ภัยในเมือง ลมหายใจที่ยังรอความหวัง (2)

           คนบางคนเพียงมีความเชื่อ มีความคิด ที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจในประเทศของตนเอง อาจหมายถึงการต้องทิ้งบ้านเกิดตลอดกาล แน่นอน - นั่นนำมาซึ่งความเคว้งคว้าง ไร้บ้าน ไร้อนาคต แต่ใครเล่าจะนอนรอความตายโดยไม่กระเสือกกระสนดิ้นรนหาทางรอดของตนเอง
ผู้ลี้ภัยในเมือง ลมหายใจที่ยังรอความหวัง
ภาพจาก shutterstock / Tolga Sezgin

           คำ 'ผู้ลี้ภัย' กลับมาอยู่ในกระแสของสังคมไทยอีกครั้ง

           หลังจากมีข่าวหญิงซาอุดีอาระเบียวัย 18 ปี ถูกกักตัวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะพยายามจะเดินทางหนีจากครอบครัวไปออสเตรเลีย และข่าวนักฟุตบอลชาวบาห์เรน ที่ได้สถานะผู้ลี้ภัยอยู่ในออสเตรเลีย ถูกทางการไทยควบคุมตัว ตามคำขอของรัฐบาลบาห์เรน

           ทั้ง 2 เหตุการณ์ต่างสร้างแรงกระเพื่อมด้านข่าวสารครั้งใหญ่แก่สังคมไทย ทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและฝั่งที่ไม่เห็นด้วย ต่างมีการถกเถียงกันอย่างเป็นวงกว้าง


           เรื่องผู้ลี้ภัยกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างไม่มีใครคิด คงถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรทำความเข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัยกันอย่างจริงจัง

1

           'ใครคือผู้ลี้ภัย'

           บ้างว่าผู้ลี้ภัยคือ คนหนีสงคราม บ้างว่าผู้ลี้ภัยคือ คนหนีคดี บ้างว่าผู้ลี้ภัยคือ พวกลักลอบเข้าเมือง บ้างว่าผู้ลี้ภัยคือ ปัญหา คือภาระ บ้างว่าผู้ลี้ภัยคือ ผู้ที่แสวงหาความช่วยเหลือ

           ทุกคำตอบไม่มีถูกทุกข้อ ไม่มีผิดทุกข้อ หากเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ร่วมกัน

           คำว่า 'ผู้ลี้ภัย' หรือ 'Refugee' เกิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับการก่อตั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ซึ่งมีภารกิจหลักคือ การปกป้องและสนับสนุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยทั่วโลก โดยเฉพาะการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง หรือประเทศที่สามเพื่อตั้งถิ่นฐานใหม่

ผู้ลี้ภัยในเมือง ลมหายใจที่ยังรอความหวัง
ภาพจาก shutterstock / BalkansCat

           โดยในปีต่อมา สหประชาชาติ ได้มีการประกาศใช้อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 เพื่อยืนยันสิทธิด้านต่าง ๆ พร้อมกำหนดคำนิยามและความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยไว้ว่า

           'ผู้ลี้ภัย' หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม และสมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง

2

          
รายงานของ UNHCR ฉบับล่าสุด รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2560 ทั่วโลกมีผู้ลี้ภัยราว 22.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยสงครามกลางเมืองและภัยก่อการร้ายจากทวีปแอฟริกาและเขตตะวันออกกลาง สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยราว 97,613 คน (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม พ.ศ. 2562) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

           1. กลุ่มผู้ลี้ภัยจากความขัดแย้งภายในประเทศพม่าที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดตามแนวชายแดนไทย-พม่า

ผู้ลี้ภัยในเมือง ลมหายใจที่ยังรอความหวัง
ภาพจาก shutterstock / SOMRERK WITTHAYANANT

           2. กลุ่มผู้ลี้ภัยในเขตเมืองและผู้ที่กำลังขอสถานภาพผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ราว 8,000 คน กลุ่มนี้ถือเป็นความท้าทายใหม่ของรัฐบาลไทย เนื่องจากมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และอาศัยกระจายตัวอยู่ตามกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ๆ ต่างจากผู้ลี้ภัยกลุ่มเดิมที่อยู่ในค่ายพักพิงชายแดน การควบคุมของภาครัฐจึงทำได้ยาก

ผู้ลี้ภัยในเมือง ลมหายใจที่ยังรอความหวัง
ภาพจาก shutterstock / flydragon

           ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 46 ประเทศ จาก 193 ประเทศ ชาติสมาชิกสหประชาชาติ ที่ไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 จึงไม่มีกฎหมายที่รองรับการให้สถานะผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะ ผู้ลี้ภัยในไทยทั้งหมดไม่ว่าจะมีบัตรรับรองสิทธิ์จาก UNHCR หรือไม่มีบัตรก็ตาม หากเข้าเมืองผิดกฎหมายหรืออยู่เกินอายุวีซ่า มีความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม กักกัน หรือผลักดันกลับไปสู่ประเทศของตนได้ทุกเมื่อตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยไม่มีข้อยกเว้น

3

           สำหรับกรณีผู้ลี้ภัยในเขตเมือง UNHCR และเอ็นจีโอในประเทศไทยอย่าง Asylum Access และ Fortify Rights ให้ข้อมูลว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้หนีภัยสงคราม หนีภัยการเมืองในประเทศ มีบางส่วนที่อพยพเพื่อมาแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ


           เกี่ยวกับต้นทางของผู้ลี้ภัย พบว่ามีการเดินทางมาจากหลายประเทศมากกว่า 40 แห่ง เช่น ปากีสถาน โซมาเลีย ซีเรีย อิรัก เวียดนาม ปาเลสไตน์ ฯลฯ โดยมีชาวปากีสถานที่นับถือศาสนาคริสต์และชาวมุสลิมนิกายซุนนี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหากับรัฐบาลปากีสถาน เป็นผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร

           สำหรับแหล่งพักพิงของผู้ลี้ภัยในเขตเมือง จะมีลักษณะกระจัดกระจายไปตามชุมชนที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ของตนเอง ส่วนใหญ่จะเช่าหอพักหรืออพาร์ตเมนต์อยู่เป็นครอบครัว ๆ กรณีที่ไม่ได้มากับครอบครัว ผู้ลี้ภัยมักแชร์ห้องพักร่วมกับเพื่อนผู้ลี้ภัยชาติเดียวกัน

ผู้ลี้ภัยในเมือง ลมหายใจที่ยังรอความหวัง
ภาพจาก shutterstock / Oleg Golovnev

           ผู้ลี้ภัยในเขตเมืองส่วนใหญ่ยังชีพโดยการแอบประกอบอาชีพรับจ้างรายวัน ในพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจ เช่น เป็นแรงงานในไซต์ก่อสร้าง ในสวน ในตลาดสด หรือทำงานเป็นแม่บ้าน หรือรับจ้างนำงานมาทำที่บ้าน นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่รับจ้างทำงานในร้านอาหารของชุมชนในพื้นที่ เช่น เป็นพ่อครัวอาหารอาหรับ อาหารแอฟริกัน หรือเป็นแรงงานภายในครัว เป็นต้น

           ในส่วนเรื่องของค่าแรง เนื่องจากกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยประกอบอาชีพ ผู้ลี้ภัยทั้งหมดจึงตกอยู่ในสภาวะจำยอม ยินดีรับค่าแรงที่ถูกกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อแลกกับโอกาสในการทำงานอย่างต่อเนื่อง


ผู้ลี้ภัยในเมือง ลมหายใจที่ยังรอความหวัง ภาพจาก shutterstock / Salvacampillo

         

           แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะไม่มีกฎหมายรับรองหรือนโยบายการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ชัดเจน แต่ด้วยภาวะการณ์ของโลกในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553-2560 ซึ่งมีผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นจาก 10,549,681 คน เป็น 19,941,347 คน หรือเพิ่มขึ้น 9,391,666 คน ได้ส่งผลกระทบต่อองค์รวมของสังคมโลก ทั้งในด้านกฎหมาย ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน ไทยในฐานะเป็นสมาชิกของสังคมโลกจึงไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์เช่นกัน

           วันนี้ประเทศไทย โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีการศึกษาแนวคิดเรื่องการสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยได้เข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ช่วงระหว่างรอการส่งตัวไปยังประเทศปลายทางที่สาม ว่าในเชิงกฎหมายสามารถทำผ่านช่องทางใดได้บ้าง

ผู้ลี้ภัยในเมือง ลมหายใจที่ยังรอความหวัง
อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

           อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อธิบายแนวคิดดังกล่าวไว้ว่า

           "กสม. คิดว่าเพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ลี้ภัยจะไปประกอบอาชีพผิดกฎหมายหรือตกเป็นเหยื่อกระบวนการค้ามนุษย์ รัฐควรส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยสามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมาย

           เรามองไว้ 2 โมเดล โมเดลแรก ส่งงานให้ทำเป็นล็อต ๆ ในพื้นที่เฉพาะ โมเดลที่สอง ให้ไปทำงานโรงงานแบบไปเช้า-เย็นกลับ พร้อมสร้างระบบติดตาม ดูแล ให้รายงานตัวเป็นระยะ ๆ"


           อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาข้อดี-ข้อเสียเปรียบเทียบกัน เนื่องจากยังมีการตั้งข้อสังเกตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงว่า การเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยสามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมาย อาจก่อให้เกิดกระแสการอพยพของผู้ลี้ภัยเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในอนาคต

5

           ในส่วนของประเทศที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยสามารถประกอบอาชีพได้ จากการศึกษาของกระปุกนิวส์พบว่า มี 2 ส่วน คือ 1. ประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 จำนวน 147 ประเทศ (ข้อมูลเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2550) และ 2. ประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ

           สำหรับประเทศที่เป็นภาคี ที่มีนโยบายและกฎหมายส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยสามารถประกอบอาชีพอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะเป็นชาติตะวันตก เช่น เยอรมนี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย 

           ตัวอย่าง เช่น ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีผู้ลี้ภัยมากที่สุดในยุโรป (ครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2559 มีจำนวนผู้อพยพที่ลงทะเบียนราว 220,000 คน) ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะมีแนวทางคล้ายกัน คือ การนำหลัก Integration Process จากองค์กรระหว่างประเทศในการรับผู้ลี้ภัยเข้ามาปรับใช้


           วิธีการคือ ผู้ที่ได้รับการอนุมัติคำร้องขอลี้ภัย หากต้องการประกอบอาชีพอย่างถูกกฎหมาย ต้องเข้าคอร์สเรียนภาษาท้องถิ่น และคอร์สเรียนเพื่อการบูรณาการเข้าสู่สังคม หรือคอร์สเตรียมทักษะการทำงาน เมื่อผ่านคอร์สเรียนเหล่านี้แล้ว ผู้ลี้ภัยจะสามารถทำงานในกิจการที่เข้าร่วมโครงการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดมาจากภาครัฐ

ผู้ลี้ภัยในเมือง ลมหายใจที่ยังรอความหวัง

           ส่วนกรณีประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่มีนโยบายให้ผู้ลี้ภัยทำงานได้อย่างถูกกฎหมายเด่นชัดที่สุด โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น การอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียและชาวโรฮีนจาสามารถทำงานและพักพิงในประเทศได้ จนกว่าจะกลับประเทศต้นทางหรือได้รับการส่งต่อไปยังประเทศปลายทางที่สาม

           ทั้งนี้ การเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าผู้ลี้ภัยจะได้รับสัญชาติของประเทศปลายทาง หรือมีสิทธิเท่าพลเมืองเจ้าของประเทศแต่อย่างใด เป็นเพียงการให้สิทธิในการประกอบอาชีพในระดับหนึ่งเพียงเท่านั้น

6

           'ไม่มีที่ไหนดีเท่าบ้านของเรา'


           ถึงแม้ว่าผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่อยากกลับประเทศบ้านเกิด แต่ด้วยสถานการณ์ในหลายพื้นที่ยังไม่ปลอดภัย ปัญหาความขัดแย้ง สงคราม การประหัตประหารยังคงมีอยู่ กอปรกับรัฐผู้รับหลายแห่งเริ่มมีนโยบายไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัย การส่งต่อไปยังประเทศปลายทางที่สามจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

           อย่างไรก็ตาม กระบวนการส่งต่อผู้ลี้ภัยต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจาก UNHCR มีขั้นตอนในการคัดกรองระหว่างผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงกับอาชญากรข้ามชาติหลายขั้นตอน ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่ผ่านการคัดกรอง UNHCR จะไม่มีการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยให้

           สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันพบว่าผู้ลี้ภัยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่จะได้รับการส่งต่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศปลายทางที่สาม (เป็นอัตราเดียวกันกับการส่งต่อผู้ลี้ภัยทั่วโลก) โดยประเทศที่ยินยอมพร้อมรับส่วนมากเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย หรือประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย

ผู้ลี้ภัยในเมือง ลมหายใจที่ยังรอความหวัง ภาพจาก shutterstock / franz12

           ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับการส่งต่อหรือกลุ่มที่ไม่ได้รับการรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญา ในเชิงกฎหมายไทยทั้งหมด คือ ผู้ที่รอการส่งตัวกลับประเทศต้นทางเพียงอย่างเดียว ทว่าในความเป็นจริงพบว่าส่วนใหญ่จะอาศัยหลบซ่อนอยู่ในประเทศไทย จนกว่าจะได้รับการส่งต่อไปยังประเทศปลายทางที่สาม หรือรู้สึกว่าประเทศของตนเองปลอดภัย และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

           ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้จึงกลายเป็นความท้าทายใหญ่ของสังคมไทยที่จะพิจารณาไตร่ตรองร่วมกัน ระหว่างนโยบายความมั่นคงของชาติกับความมั่นคงของมนุษย์ ท้ายที่สุดแล้วเราจะเลือกทางไหน

           โจทย์ใหญ่ โจทย์นี้ ยังรอคำตอบ ...


ผู้เขียน : ศรีศักดิ์ พิกุลแก้ว


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้ลี้ภัยในเมือง ลมหายใจที่ยังรอความหวัง (2) อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2562 เวลา 17:11:35 3,346 อ่าน
TOP