x close

เสียงจากโรงงานน้ำตาล แก้ความเข้าใจผิด ไม่ได้ส่งเสริมเผาอ้อย จนเกิด PM2.5

          โรงงานน้ำตาลขอพูดบ้าง หลังคนเข้าใจผิด ส่งเสริมการเผาอ้อย จนค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง เผยโรงงานจำใจรับอ้อยเผา ชาวไร่หัวหมอเอามาขาย หวังลัดคิวเข้าหีบโรงงานก่อน


          จากกรณีมีชาวบ้านหลายรายได้รับความเดือดร้อนจากการเผาอ้อย โดยมีเศษขี้เถ้าปลิวมาตกใส่บริเวณบ้านจำนวนมาก และทำให้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 พุ่งสูงต่อเนื่อง จึงมีการตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กของผู้เดือดร้อนขึ้นมา เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนนั้น

อ่านข่าว : ชาวเมืองกาญจน์ สุดทน โวยคนเผาไร่อ้อย ขี้เถ้าหิมะดำปลิวใส่บ้าน ค่า PM2.5 พุ่ง 197

          ล่าสุด (19 มกราคม 2563) เฟซบุ๊ก Drama-addict เปิดเผยข้อมูลอีกมุมหนึ่งของคนในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำตาล ให้ลองพิจารณาเพิ่มเติม เนื่องจากมีการเข้าใจผิดในเรื่องการเผาอ้อยเยอะ ระบุว่า


          - โรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ต้องการ "อ้อยสด" เพราะอ้อยสดจะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า และให้ผลผลิตน้ำตาลดินงบที่สะอาดกว่า ทำให้ลดต้นทุนให้โรงงานในการผลิตน้ำตาลขาว

          - โรงงานมีมาตรการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ด้วยราคาที่ถูกกว่าอ้อยสดอยู่แล้ว และราคาอ้อยถูกกำหนดโดยราชการ ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณจากราคาน้ำตาลที่ขายทั้งไทยและตลาดโลก แบ่งสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ ของราคาขายน้ำตาล คือราคาอ้อย ซึ่งถือเป็นราคากลาง

          - การตัดอ้อยสด ถ้าจะใช้รถตัด เพื่อความสะดวกสบาย ต้องยกแปลงปลูกตั้งแต่แรก แต่ไร่ที่ปลูกไปก่อนแล้ว การไปรื้อแปลงของชาวไร่ถือเป็นงานยาก เนื่องจากต้องมีคนมาช่วยเปลี่ยนความเข้าใจ และให้เกษตรกรยอม เพราะถ้าไม่เตรียมแปลงก็จะใช้รถตัดไม่ได้ ซึ่งการใช้คนงานตัดอ้อยสดแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะทุนสูง เนื่องจากการตัดอ้อยสดด้วยคนจะช้า เพราะใบอ้อยคม


          - การเผาไร่อ้อย มี 2 กรณี คือ 1. กลุ่มชาวไร่ที่เผาเอง เพราะไม่ได้เตรียมแปลง ตัดสดไม่ได้ ก็ต้องเผา 2. กลุ่มชาวไร่ที่ทำแปลงอ้อยสดอย่างดี เตรียมใช้รถตัดอ้อยสด แต่ถูกคนกลุ่มแรกมาเผาตัดคู่แข่ง เพื่อให้มีอ้อยสดน้อยลง ทำให้โรงงานต้องจำใจรับอ้อยเผา ซึ่งราคาอ้อยเผาก็จะดีขึ้นมาหน่อย

          - จริง ๆ สมาคมโรงงานน้ำตาล มีแผนที่จะไม่รับอ้อยเผา โดยจะทำเรื่องนี้ให้ได้ภายใน 3 ปี แต่เป็นไปได้ยาก เพราะอ้อยปลูกได้ปีละครั้ง ซึ่งโรงงานน้ำตาล 54 แห่งทั่วประเทศ เปิดหีบพร้อมกันหมด ดังนั้น การไม่รับอ้อยเผาจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะหากอ้อยสดไม่พอ ก็ต้องรับอ้อยเผาอยู่ดี อีกทั้งอ้อยเผาต้องรีบเก็บเข้าหีบภายใน 24 ชั่วโมง ดังนั้น พวกที่ร้อนเงินจึงชอบเผา เพราะจะได้ลัดคิวเข้าหีบก่อน โรงงานก็จำใจรับไป และปีนี้ปริมาณอ้อยลดลงกว่าปีที่แล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบการก็ทำอะไรไม่ได้


          - ประเทศไทยส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และโรงงานน้ำตาลในไทย ผลิตน้ำตาลได้เป็นอันดับ 2 ของโลก โดย 1 ปี จะผลิตได้ประมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งมีปริมาณบริโภคในประเทศ 2.5 ล้านตัน การที่จะให้นำเข้าน้ำตาลจะได้ไม่ต้องเผาอ้อย จึงเป็นไปไม่ได้

          - น้ำตาลไม่ใช่แค่เลิกกินหวานก็จบ แต่น้ำตาลคือวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอาหาร ยา และอีกหลายอุตสาหกรรมในประเทศที่คิดไม่ถึง แม้กระทั่งการเลี้ยงผึ้ง หรือเลี้ยงเชื้อ ก็ต้องใช้น้ำตาล ดังนั้น ถ้าน้ำตาลแพง ไม่ได้หมายความว่า ไม่กินหวานแล้วจะไม่กระทบ แต่จะส่งผลถึงอุตสาหกรรมอีกหลาย ๆ อย่างในประเทศ และส่งผลถึงการแข่งขันในต่างประเทศด้วย


          ดังนั้น การแก้ปัญหาการเผาอ้อยประจำปี ต้องให้รัฐบาลแก้ ไม่ใช่ผลักภาระมาให้โรงงานน้ำตาล พร้อมกับเสนอแนวทางแก้ปัญหาคือ การลงทุนให้ชาวบ้านยกแปลงปลูกอ้อย, การให้ความรู้ชาวบ้าน, การออกกฎหมายลงโทษ, การห้ามปลูกถ้าไม่ยกแปลง หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้ชาวบ้านปลูกอ้อยแบบเตรียมพร้อมให้รถตัดได้ ถ้าทุกบ้านปลูกแบบให้รถตัดก็จะไม่มีคนเผา ไม่ว่าเผาเอง หรือลอบเผาของคนอื่นก็ตาม

          อย่างไรก็ตาม ความเหนื่อยของคนทำโรงงานตอนนี้คือ การรณรงค์, การทำสัญญา และการให้ยืมเงิน เพื่อให้ชาวบ้านลงทุน แต่โรงงานที่ทำแบบนี้ได้ก็แค่โรงงานใหญ่ ซึ่งถ้าจะทำทั่วประเทศก็ต้องให้รัฐบาลทำ



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก Drama-addict
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เสียงจากโรงงานน้ำตาล แก้ความเข้าใจผิด ไม่ได้ส่งเสริมเผาอ้อย จนเกิด PM2.5 อัปเดตล่าสุด 20 มกราคม 2563 เวลา 10:38:03 9,896 อ่าน
TOP