x close

รู้จัก CS Gas แก๊สน้ำตาที่ใช้สลายม็อบ มีผลอย่างไร-แก้พิษวิธีไหน

         อ.เจษฎา เผยข้อมูล แก๊สน้ำตาที่ใช้สลายม็อบ 17 พ.ย. มีชื่อว่า "CS Gas" ตัวเดียวที่ใช้กับม็อบ กปปส. มีผลอย่างไร แก้พิษวิธีไหน รวมถึงความอันตรายที่อาจทำให้เสียชีวิตได้

แก๊สน้ำตา
ภาพจาก สำนักข่าว INN

          จากกรณีม็อบ 17 พฤศจิกายน ที่มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มคณะราษฎรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังทางเจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้รถฉีดน้ำความดันสูง เพื่อต้องการสลายการชุมนุม แต่ทางผู้ชุมนุมก็ไม่ถอย จึงใช้น้ำผสมแก๊สน้ำตาเข้าฉีดน้ำความดันสูงอีกหลายระลอก และมีการใช้แก๊สน้ำตาแบบขว้าง จึงทำให้เกิดความวุ่นวาย และเหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นั้น

อ่านข่าว : สรุปเหตุการณ์ ม็อบ 17 พฤศจิกา จากการกดดันรับร่างฯ สู่การปะทะ และกระสุนจริง


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ (18 พฤศจิกายน 2563) มีรายงานว่า อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยถึงข้อมูลของแก๊สน้ำตาที่ใช้ฉีดผู้ชุมนุมว่าเป็นสารเคมีชนิดใด อันตรายหรือมีผลข้างเคียงอย่างไรเมื่อถูกสัมผัส รวมถึงวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

          โดย อ.เจษฎา ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า แก๊สน้ำตาที่ใช้ฉีดผู้ชุมนุมคือ "cs gas" หรือ o-chlorobenzylidene malononitrile เป็นสารเคมีที่ใช้ทำแก๊สน้ำตา ตัวเดียวกันกับที่ตำรวจใช้มาตั้งแต่สมัยการชุมนุม กปปส. มีฤทธิ์ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อประสาทสัมผัส ที่เนื้อเยื่อผิวที่มีเมือกของตา จมูก คอ และกระเพาะอาหาร ดังนี้


          - ผลต่อดวงตา : ระคายเคืองสูง น้ำตาไหลพราก ตาแดง ปวดตา กระพริบตามากอย่างควบคุมไม่ได้

          - ผลต่อจมูกและปาก : เกิดอาการเจ็บแสบไหม้ น้ำมูกไหลพราก

          - ผลต่อทางเดินหายใจ : เกิดอาการไอ จาม มีสารคัดหลั่งที่หลอดลมเพิ่มขึ้น แน่นหน้าอก

          - ผลต่อทางเดินอาหาร : เกิดอาการอาเจียน ท้องร่วง

          - ผลต่อผิวหนัง : เกิดอาการแสบไหม้ บวม ผื่นแดง พอง

          ความอันตรายของ CS gas คือ ถูกออกแบบให้ออกฤทธิ์เร็วใน 30 วินาที และมีความระคายเคืองสูง เพื่อทำให้ผู้ที่ได้รับสารต้องรีบออกจากบริเวณดังกล่าว ซึ่งผลจาก CS gas สามารถลดลง และหายไปได้เองเมื่อหยุดรับสาร แต่ CS gas สามารถทำให้เสียชีวิตได้จากการขาดออกซิเจน ในกรณีที่ผู้ได้รับสารไม่สามารถออกจากบริเวณดังกล่าว


การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

          - พาผู้ป่วยออกไปยังที่อากาศถ่ายเทสะดวก

          - ถอดหรือตัดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารออก (เสื้อผ้าที่ปนเปื้อน ควรใส่ถุงพลาสติกปิดปากถุง)

          - ผู้ที่มีอาการระคายเคืองของดวงตา ควรทำการล้างด้วยน้ำเปล่าหรือสารละลายน้ำเกลือ (normal saline solution) จนหายแสบตา

          - ผู้ป่วยที่ใส่คอนแทคเลนส์อยู่ ต้องถอดออก และไม่ให้ผู้ป่วยขยี้ตาเด็ดขาด (ห้ามใช้ผ้าชุบน้ำ มาปาดตาด้วย)

          - การทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำและสบู่ ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ เนื่องจาก CS มีสมบัติในการละลายน้ำได้ บางคนจึงเชื่อว่าอาจทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น (ถ้ามีการถูสบู่)

          - มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่น Diphoterine แต่เพราะราคาแพง จึงยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ปัจจุบันยังคงให้ล้างด้วยน้ำ

แก๊สน้ำตา
ภาพจาก เยาวชนปลดแอก Free YOUTH

แก๊สน้ำตา
ภาพจาก สำนักข่าว INN



ขอบคุณข้อมูลจาก errama.com / Jessada Denduangboripant

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก CS Gas แก๊สน้ำตาที่ใช้สลายม็อบ มีผลอย่างไร-แก้พิษวิธีไหน อัปเดตล่าสุด 18 พฤศจิกายน 2563 เวลา 15:01:40 4,995 อ่าน
TOP