x close

คนรักษ์ดาบไทย ศาสตร์แห่งศิลป์ที่ควรคงอยู่

ชมรมคนรักษ์ดาบไทย


          บนความเปลี่ยนแปลงในกระแสเวลาแห่งโลกยุคสมัยใหม่ การกลืนกินของวัฒนธรรมต่างชาติกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย หลายคนลืมเลือนถึงศิลปวัฒนธรรมเก่าๆ จนหมดสิ้น ต่างเลือกที่เดินเล่นเดินเที่ยวในแหล่งศูนย์รวมความบันเทิงตามแบบอย่างสมัยนิยม หากแต่ยังมีคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งยึดมุมเล็กๆ ของสนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง ใช้เวลาว่างในวันหยุดเพื่อที่จะทำในสิ่งที่รักและรักษาไว้ ซึ่งศิลปะอันเป็นความภาคภูมิใจของชาติมานับแต่โบราณ "ชมรมคนรักษ์ดาบไทย" ศิลป์ที่ยังควรคู่แก่การรักษาให้คงอยู่สืบไป

          "การต่อสู้ด้วยดาบนั้นเป็นศิลปะของลูกผู้ชายเป็นการปะทะกันด้วยฝีมือ ซึ่งๆหน้า เหมือนที่เห็นในหนังประวัติศาสตร์บางทีเราไม่สามารถพกอาวุธเพื่อป้องกันตัวเองในที่ สาธารณะได้ แต่เมื่อเราเรียนรู้ถึงหลักแล้ว ปากกาเพียงแท่งเดียวก็ช่วยชีวิตเราได้" ครูอ๊อดอาจารย์สอนดาบไทยประจำสนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง บอกเล่าถึงประโยชน์ของกระบี่กระบอง 

          ครูอ๊อด บอกอีกว่า ผมกลัวว่าวิชากระบี่กระบองจะสูญหายไปจากสังคมไทย เพราะจากที่เคยมีกว่า 40 คณะ ปัจจุบันแทบจะไม่มีแล้ว บางทีลูกศิษย์จะมาเรียนต้องไปตามหาที่ร้านเกมส์เพื่อให้มาเรียน อยากให้เด็กเข้ามาเรียน ไม่อยากให้ไปสนใจยาเสพติด แถมยังได้วิชาการป้องกันตัว แต่ตอนนี้ยอมรับตามตรงว่าท้อ เพราะว่าเด็กๆ หนี มันต้องอาศัยเวลาในการฝึก เลยอาจจะดูน่าเบื่อในสายตาเขา แทบจะกราบเด็กให้มาเรียนเสียด้วยซ้ำไป ชาติเราได้เอกราชมาก็เพราะดาบในสมัยก่อน แต่เหมือนวันนี้มันกำลังจะเสื่อมสลายไป 

          "ผมรับปากอาจารย์ผมไว้ว่าผมจะสานต่อศิลปะตรงนี้ไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ จนกว่าจะตายจากโลกนี้ไป อาจารย์ผมนั่งเก้าอี้สอนท่านก็ยังสอน ยังมีจิตวิญญาณความเป็นครูจนวาระสุดท้าย มันอยู่ในสายเลือดแล้ว อะไรก็คงจะทำให้หยุดที่จะสอนไม่ได้ อยากจะให้กระทรวงศึกษาบรรจุเนื้อหาสาระลงไปในหลักสูตรให้มากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้มีเพียงแค่รำ แต่ไม่ได้ซ้อมการตีอย่างลงลึกในรายละเอียด มันก็จะเป็นเพียง ความรู้ที่ผ่านมาและผ่านไป เด็กๆ ก็จะไม่ได้จดจำอะไรไป อยากจะให้มีเวลาอยู่กับศิลปะแขนงนี้ให้มากกว่านี้ อยากให้มีมาเสริมเพิ่มเติมจะได้ไม่น่าเบื่อ" ครูอ๊อด เปิดใจ 


ชมรมคนรักษ์ดาบไทย


          ทั้งนี้ ครูอ๊อด เล่าถึงที่ไปที่มาของตัวเองว่า ผมเรียนจ่าทหารเรือเหล่าแพทย์ เมื่อ พ.ศ.2506 ในตอนนั้นผู้อำนวยการเหล่าแพทย์ได้รู้จักกับ อาจารย์ทองหล่อ ไตรรัตน์ บรมครูแห่งดาบไทย ผู้เป็นเจ้าของสำนักดาบศรีไตรรัตน์ที่มีอายุการก่อตั้งกว่า 70 ปี จึงเชิญท่านมาสอนให้ ตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มรู้สึกหลงรักมันทันที จากนั้นในปี 2540 ผมก็รับสอนวิชาดาบที่โรงเรียนนายเรือ และอีกหลายโรงเรียน โดยสอนให้ฟรีไม่เคยคิดเงิน ค่าเดินทางก็ออกเอง แม้กระทั่งอุปกรณ์อย่างดาบหวาย ก็ยังควักเงินเดือนของผมเอง เพราะอยากให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเล่น บางโรงเรียนเห็นใจก็ให้ค่ารถบ้าง แต่ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่ แต่เนื่องจากที่เคยได้ร่ำเรียนมาก็ไม่ได้เสียเงินเสียทองมา จึงเหมือนเป็นการคืนประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน

          ทุกวันนี้ครูอ๊อดจะสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 2 ชั่วโมงในช่วงเวลา 16.00-18.00 น. ซึ่งค่าตอบแทนนั้นเรียกได้ว่าแทบจะสอนเปล่า เพราะการกีฬาแห่งประเทศไทยให้ค่าเหนื่อยเพียงวันละ 120 บาท เท่านั้น ส่วนเด็กที่มาเรียนก็จะเสียค่าใช้จ่ายเพียงแค่ค่าเสื้อกีฬาตัวละร้อยกว่าบาท ซึ่งในขณะที่วิชาดาบหรือกระบี่กระบอง เริ่มเป็นความทรงจำสีจางของคนไทย แต่ชาวต่างชาติกลับเล็งเห็นคุณค่า พร้อมๆ กับเทิดทูนบูชา เห็นได้จากสำนักวาเรรีโอ (Valerio Zadra) สำนักสอนดาบชื่อดังของอิตาลี ก็เอาองค์วิชาความรู้จากเราไป เมื่อครั้นเขามีโอกาสมาเมืองไทยและได้ชมการแข่งขันกระบี่กระบองไทยก็เกิดความศรัทธา 


ชมรมคนรักษ์ดาบไทย


          "คนก่อตั้งสำนักวาเรรีโอเขามาชมการแข่งขันกระบี่กระบองไทยที่สนามหลวง ก็เกิดความศรัทธา ถึงขั้นมานั่งคุกเข่าขอให้ผมสอนให้ เหมือนในหนังจีน ถ้าไม่สอนให้เขาๆ ก็ไม่ลุก อาจารย์ท่าก็สอนให้ ใช้เวลา 1 สัปดาห์เขาก็กลับไป พอกลับไป 2 เดือนเขาส่งตั๋วเครื่องบินมาให้ผม พอไปถึงก็เห็นว่าในโรงยิมเขาติดรูปอาจารย์ทองหล่อขนาดใหญ่ให้ลูกศิษย์ทุกคนต้องไหว้ก่อนที่จะเข้าเรียนที่โรงยิม เขาบอกว่าทุกศาสตร์การต่อสู้ของโลกก็อยู่ในดาบไทยของเรา มันก็พาลให้รู้สึกว่าน้อยใจบ้างว่าคนต่างชาติให้ความสำคัญแก่ดาบไทย แต่ขณะเดียวกันดาบไทยกำลังจะเลือนหายไปจากบ้านเรา" ครูอ๊อด กล่าว

          ในครั้งหนึ่งดาบของบรรพบุรุษเคยกอบกู้ให้ได้มาซึ่งเอกราชและปกป้องประเทศชาติ แต่ในวันนี้สิ่งที่เคยเป็นความภาคภูมิใจนั้น กำลังเลือนหายและกำลังจะสูญสลายไปตามกาลเวลาที่กำลังผันผ่าน หากมีโอกาสในช่วงเย็นของวันหยุดสุดสัปดาห์ ลองแวะผ่านไปดูเสน่ห์ของดาบไทยที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง แล้วคุณอาจจะหลงรักศิลปะการป้องกันตัวชนิดนี้ก็ได้

เกร็ดความรู้ : เกี่ยวกับประวัติกีฬากระบี่กระบองของไทย กีฬาชนิดนี้มีมาตั้งแต่โบราณกาลแล้วและเป็นหนึ่งในศิลปะการต่อสู้ที่สำคัญในวัฒนธรรมไทย กีฬานี้มีรากฐานจากการฝึกทักษะการต่อสู้ที่ใช้ในสงครามสมัยโบราณ เช่น การใช้กระบี่, ดาบ, และอาวุธแบบดั้งเดิมอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความชำนาญในการป้องกันตัว ปัจจุบัน กระบี่กระบองได้พัฒนาเป็นกีฬาที่มุ่งเน้นไปที่การฝึกฝนทักษะการต่อสู้ การเคลื่อนไหวที่สง่างาม และการแสดงท่วงท่าที่งดงาม ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมไทย แต่ยังเป็นการสร้างความแข็งแรงและความมั่นใจในตนเองแก่ผู้ฝึกฝนด้วย

ชมรมคนรักษ์ดาบไทย

ชมรมคนรักษ์ดาบไทย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คนรักษ์ดาบไทย ศาสตร์แห่งศิลป์ที่ควรคงอยู่ อัปเดตล่าสุด 29 เมษายน 2567 เวลา 17:37:56 22,988 อ่าน
TOP