x close

กลับไปจ่ายเงินประกันสังคม...อัตราเดิม


ประกันสังคม

กลับไปจ่ายเงินประกันสังคม...อัตราเดิม (Lisa)

          หากใครมีข้อข้องใจเรื่องอัตราการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ที่กลับมาจัดเก็บในอัตราเดิมละก็ อ.ประมาณจะมาบอกรายละเอียดในเรื่องนี้ให้ทราบ

          ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2553 ผมถูกถามจากหลาย ๆ คน โดยเฉพาะแฟนคอลัมน์ "Woman & Law" ในนิตยสาร Lisa ที่กระหน่ำรุมยิงคำถามเหมือนนักข่าวสัมภาษณ์ดาราคนดังก็ไม่ปานว่า "ตกลงดิฉัน (ผม) ต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเพิ่มขึ้นใช่ไหม?" หรือไม่ก็ "รัฐบาลเขามีกฎหมายให้ปรับขึ้นการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเหรอ? ทำไมดิฉัน (ผม) ถึงไม่รู้..." หรือบางคนก็บ่นถึงขนาดว่า "อ๋อนี่หมกเม็ดกัน ใช่ไหม?...ฉัน (ผม) มารู้ก็ต่อเมื่อเงินถูกหักออกจากเงินเดือนมากกว่าเดิม...ทำงี้ได้ไง" ไปโน่นเลยก็มี

          โปรดทำใจเย็น ๆ ไว้ครับเหล่ามนุษย์เงินเดือน และคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่บอกว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มตั้งแต่สิ้นเดือนมกราคม 2553 นั้น ถูกต้องแล้วครับ แต่ไม่ได้มีการปรับเพิ่มอัตรา การเก็บเงินสมทบของคุณ ๆ หรอกครับ...เอ้าถึงกับงงงวยกันเลยสิครับ ถ้าอยากรู้ก็ต้องอ่านต่อครับ

รัฐบาลให้ลดอัตรา...ครึ่งปีหลัง 2552

          เพื่อไม่ให้คุณผู้อ่านใจขาดไปเสียก่อน เรื่องมันมีว่าอย่างนี้ครับ ลองนึกดูนะครับว่าตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2552 คุณจ่ายเงินสมทบประกันสังคมลดลงจากก่อนหน้านั้นใช่มั้ยครับ เรื่องนี้เป็นผลมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ที่ ครม. เห็นชอบให้มีการลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างจากฝ่ายละร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 หรือลดลงร้อยละ 2 โดยรัฐบาลยังคงจ่ายเงินสมบทกองทุนประกันสังคมในอัตราร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างตามที่กระทรวงแรงงานเสนอไป เพื่อแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจในช่วงกลางปีก่อน ที่การส่งออกมีการชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง มีการใช้กำลังการผลิตในอัตราที่ต่ำสถานประกอบการมีปัญหาสภาพคล่อง กำลังซื้อในประเทศชะลอตัว ทั้งหมดนี้ส่งผลให้มีการเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งการลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 และสิ้นสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2552

ปัจจุบันกลับไปจ่ายเงินสมทบ...อัตราเดิม

          ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2553 ที่ผ่านมา แรงงาน (ลูกจ้าง) และนายจ้างในระบบประกันสังคม ต้องกลับไปจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในอัตราเดิมคือร้อยละ 5 ของเงินเดือน ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 (แรงงานที่เคยเป็นผู้ประกันตน โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และต่อมาความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลง เพราะออกจากงาน แต่ว่าประสงค์จะเป็นผู้ประกนตนต่อไป จึงแสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคมตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนครั้งแรก) ก็ให้นำส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาทเท่าเดิม คือก่อนเดือนกรกฎาคม 2552 นั่นแหละครับ

เงินล่วงเวลา (โอที)...ไม่นำมาคิด

          มีคำถามจากหลาย ๆ คนเหมือนกันนะครับว่าเงินล่วงเวลาหรือโอที (Over Time : OT) ที่แรงงานได้รับ ต้องนำมาคำนวณกับเงินที่ต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมหรือไม่? ตอบง่าย ๆ แบบนี้ครับว่า ไม่ว่าจะเป็นห้วงเวลาไหนก็ตาม การหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของลูกจ้าง จะหักจากรายได้ของเงินเดือนสุทธิที่ได้รับเท่านั้นครับ ไม่รวมเงินล่วงเวลาที่ลูกจ้างทำงานพิเศษ ส่วนเงินเบี้ยเลี้ยงที่ได้รับเป็นครั้งคราว ก็ไม่นับเป็นเงินรายได้ประจำ ดังนั้น จึงไม่ต้องนำมาคิดคำนวณ

          แต่ถ้าเงินเบี้ยเลี้ยงที่ได้เป็นประจำทุกเดือน ถือว่าเป็นเงินรายได้ประจำ ต้องนำมาหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมด้วยนะครับ

          หากนายจ้างท่านใดไม่ทราบเรื่องนี้ โดยนำเงินที่ไม่ใช่เงินเดือนมาคำนวณเงินสมทบ แล้วนำส่งสำนักงานประกันสังคมไปแล้ว นายจ้างสามารถขอเงินดังกล่าวคืนได้ โดยนายจ้างต้องเป็นผู้ดำเนินการขอเงินส่วนที่เกินคืน จากนั้น นายจ้างก็จัดการนำเงินดังกล่าวไปคืนให้แก่ลูกจ้างต่อไปครับ

          ชัดเจนแล้วนะครับว่า ไม่ได้มีการปรับเพิ่มอันตราการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมใด ๆ ทั้งสิ้น หากท่านใดที่ต้องการทราบรายละเอียดในเรื่องการประกันสังคมเพิ่มเติมล่ะก็ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506 หากเป็นระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ เขาก็ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง แต่หากเป็นช่วงเวลา 07.00-19.00 น. คุณผู้อ่านสามารถสอบถามจากเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง หรือที่เว็บไซต์ www.sso.go.th ได้ทั้งนั้นนะครับ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กลับไปจ่ายเงินประกันสังคม...อัตราเดิม อัปเดตล่าสุด 11 มีนาคม 2553 เวลา 15:36:01 22,118 อ่าน
TOP