x close

วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ข้อพิพาทไทย - กัมพูชา




พื้นที่ทับซ้อน


                                              

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอบคุณภาพประกอบจาก  ไทยโพสต์ 

          สืบเนื่องจากปัญหาระหว่างไทย - กัมพูชา ที่ทำให้บริเวณชายแดนเกิดความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเกิดประเด็นโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อน อันเป็นที่ตั้งของ วัดแก้วสิกขาสวาระ ซึ่งไทย - กัมพูชา ต่างโต้แย้งถึงสิทธิของตนเหนือดินแดนดังกล่าว โดยกัมพูชาชิงประกาศสิทธิของตนเอง โดยการชักธงชาติขึ้นเหนือวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ทำให้กระทรวงต่างประเทศของไทยออกแถลงการณ์ให้กัมพูชานำธงชาติลง ด้านกัมพูชาแย้งว่าตนมีสิทธิโดยชอบธรรม เพราะวัดแก้วสิกขาสวาระ อยู่ในดินแดนกัมพูชา ด้วยประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้นเชื่อได้ว่าปัญหาชายแดนไทย - กัมพูชา คงไม่อาจจบลงง่าย ๆ และหลังมีประเด็นเรื่อง วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ทำให้หลายคนอยากรู้จักเกี่ยวกับ วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ว่าแล้ววันนี้กระปุกก็ขออาสาพาไปรู้จัก วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ กันค่ะ

          วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ (Wat Keo Sekha Kirisvarak)  ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2541 โดยตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของปราสาทพระวิหารติดกับอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารใน ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ  ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ 4.6 ตารางกิโลเมตร และยังเป็นทับซ้อนที่ทั้งไทย - กัมพูชา ต่างแสดงความเป็นเจ้าของ ซึ่งหากย้อนไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 หลังการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกเพียง 7 วัน วัดแก้วสิกขาสวาระ ก็กลายเป็นจุดที่เกิดความขัดแย้งและโต้เถียงระหว่างกัมพูชาและไทยอย่างหนัก ทั้งจากการรุกล้ำของทหารทั้ง 2 ฝ่าย จนกระทั่งการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าว 

          โดยในเรื่องนี้ ทางกัมพูชาได้อ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าว ตามที่ไทยได้ยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 ของ MOU ปี พ.ศ.2543 แล้ว ประกอบกับคำตัดสินของศาลโลก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505  ที่ว่า "ทั้งประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ได้รับรองแนวเส้นบนแผนที่ให้เป็นเส้นเขตแดน ตามผลการทำงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดน ซึ่งส่งผลให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชา และทั้งสองฝ่ายได้ยอมรับโดยพฤตินัยต่อแนวเส้นนั้น ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าเป็นเส้นเขตแดน ไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่าทั้งสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อแนวสันปันน้ำ ดังนั้นศาลจึงต้องยึดถือแนวเส้นในพื้นที่พิพาทตามที่ปรากฏในแผนที่" ทำให้นอกจากกัมพูชา จะได้สิทธิ์เหนือปราสาทเขาพระวิหารแล้ว ยังถือได้ว่า วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ก็ตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชาโดยชอบด้วยกฎหมายของกัมพูชา

          ในขณะที่ไทย อ้างถึงหลักสันปันน้ำตามอนุสัญญาปี 1904 ที่ระบุชัดเจน ว่าพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารนั้น ให้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา จึงทำให้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรและตัวปราสาทพระวิหารเป็นของไทยเช่นกัน ย่อมเท่ากับว่า "วัดแก้วสิกขาคีรีศวร" ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ก็ตั้งอยู่ในประเทศไทย ประกอบกับไทย มิได้ยอมรับข้ออ้างของกัมพูชาที่ว่า แผนที่ 1 ต่อ 200,000 เป็นเอกสารที่จะกำหนดเขตแดนตามที่มีการกล่าวอ้างในข้างต้น และหากกัมพูชาคิดว่าแผนที่ฉบับดังกล่าวเดินไปตามแนวสันปันน้ำที่แท้จริงก็ควรพิสูจน์กันว่าแนวสันปันน้ำที่ถูกต้องอยู่ตรงไหน จะทำให้ชัดเจนเรื่องพื้นที่มากขึ้น  

          ซึ่งเรื่องการแย่งสิทธิเหนือวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ อาจต้องรอดูว่า สุดท้ายแล้วเมื่อคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา (JBC) ได้ดำเนินการปักปันเขตแดนเสร็จเรียบร้อยแล้ว บริเวณพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จะเป็นของใคร 


คำอธิบาย

 สันปันน้ำ(Watershed)คือลักษณะของพื้นดินที่สูงกว่าบริเวณอื่นที่ต่อเนื่องกัน เมื่อฝนตกจะแบ่งน้ำออกเป็น 2 ส่วน เช่น สันเขาที่ต่อเนื่องกัน และมักใช้เส้นสันปันน้ำในการแบ่งเขตแดนของประเทศ (อ้างอิงจากวิกิพีเดีย)

 เส้นสันปันน้ำ (Divide)อธิบายแบบง่ายๆ คือเป็นสันเนินหรือสันเขา เมื่อหยาดน้ำฟ้าหรือฝนตกลงมาจะแบ่งน้ำจากสันเนินหรือสันเขา ออกเป็นสองส่วนให้ไหลลงสู่พื้นที่รองรับน้ำทั้งสองฟากของพื้นที่ หรือลุ่มน้ำนั่นเอง (อ้างอิงจากเว็บล็อกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)











เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ข้อพิพาทไทย - กัมพูชา อัปเดตล่าสุด 2 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 16:49:55 14,260 อ่าน
TOP