x close

สรุป 7 ข้อ ตร. มีอำนาจทำอะไรบ้าง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ควบคุมการชุมนุมของประชาชน

         เปิดรายละเอียด 7 ข้อ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงใน กทม. ตำรวจมีอำนาจทำอะไรได้บ้าง อาทิ การจับกุม ยึดอุปกรณ์-เครื่องมือสื่อสาร ทำลายอาคารสิ่งปลูกสร้างเพื่อระงับเหตุ

พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง
ภาพจาก sarapongwongpan / Shutterstock.com

          วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยในเนื้อหาระบุถึงขอบเขตอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน  ระบุไว้ 7 ข้อ ดังต่อไปนี้...

          1. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ จับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้น กระทำการหรือร่วมมือกระทำการใด ๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยปฏิบัติตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

          2. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
        
          3. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ออกคำสั่งยึดหรืออายัดอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร หรือการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ อาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อกระทำการส่งเสริมหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง
ภาพจาก kan Sangtong / Shutterstock.com

          4. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ร้ายแรงนั้นได้ทันท่วงที

          5. ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบมีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลกระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน

          6. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการห้ามกระทำการอย่างใด ๆ ที่เป็นการปิดการจราจร ปิดเส้นทางคมนาคม หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้ไม่อาจใช้เส้นทางคมนาคมได้ตามปกติ ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

          7. ในการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศนี้ ให้ใช้มาตรการตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยระมัดระวังมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควร ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศนี้ได้ตามที่เห็นสมควร

พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง
พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง
พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง
ภาพจาก sarapongwongpan / Shutterstock.com

พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง
ภาพจาก Panumas SANGUANWONG / AFP

 อ่านข่าว : เปิดข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 ข้อ หลังสลายการชุมนุม ห้ามมั่วสุมเกิน 5 คนขึ้นไป

 อ่านข่าว : สรุปเหตุการณ์ ม็อบ 14 ตุลา ต้นจนจบ จากข้อเรียกร้องสู่การสลายม็อบ-แกนนำโดนจับ

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุป 7 ข้อ ตร. มีอำนาจทำอะไรบ้าง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ควบคุมการชุมนุมของประชาชน อัปเดตล่าสุด 17 ตุลาคม 2563 เวลา 10:33:09 5,479 อ่าน
TOP