ภาพจาก : Namart Pieamsuwan / Shutterstock.com
การศึกษาคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ ด้วยเหตุนี้ราชการจึงได้กำหนดวันประถมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นระดับการศึกษาในขั้นต้นขึ้น เพื่อให้ทุกคนตระหนักและเห็นความสำคัญของการศึกษา วันนี้เรามีเรื่องราวเกี่ยวกับวันประถมศึกษาแห่งชาติมาฝากกันค่ะ
ความเป็นมาของวันประถมศึกษาแห่งชาติ
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ขึ้น เพื่อกำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ทุกคนต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2464 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ และได้จัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติเป็นประจำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491-2509 ต่อมาโรงเรียนประถมศึกษาได้ถูกโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่นั้นมางานวันประถมศึกษาแห่งชาติจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วันศึกษาประชาบาล
กระทั่งในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2523
ได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาขึ้น
จึงได้โอนโรงเรียนประชาบาลกลับมาสังกัดคณะกรรมการการศึกษา
การจัดงานวันศึกษาประชาบาลจึงสิ้นสุดลง
และกลับมาจัดวันประถมศึกษาแห่งชาติขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้เปลี่ยนจากวันที่
1 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวแทน
เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนการประถมศึกษาและพระราชทานตราพระราชบัญญัติ
อีกทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ในคราเดียวกันกับวันวชิราวุธ ที่ตรงกับวันที่
25 พฤศจิกายน ของทุกปี ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา
วันประถมศึกษาแห่งชาติจึงถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี
จุดประสงค์ของวันประถมศึกษาแห่งชาติ
2. เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้งานด้านประถมศึกษาแก่ผู้ที่สนใจ จนนำไปสู่การพัฒนาด้านการเรียนการสอน
3. เพื่อปลูกฝังและให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนตลอดจนส่วนที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการประถมศึกษา
4. เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะของนักเรียนระดับประถมศึกษา
5. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ภาพจาก : CHARAN RATTANASUPPHASIRI/Shutterstock.com
ลำดับการพัฒนาวงการศึกษาของไทย
ตั้งแต่สมัยสุโขทัย การเรียนหนังสือและถ่ายทอดสรรพวิชาต่าง ๆ จะสอนกันภายในวัง วัด หรือบ้าน แต่ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริที่จะให้คนไทยมีความรู้วิทยาการสมัยใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกในพระบรมมหาราชวังในปี พ.ศ. 2414 คือโรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และขนบธรรมเนียมราชการ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม และมีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย
จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสร้างในปี พ.ศ. 2453 ขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" และโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ซึ่งเป็นการกำหนดการศึกษาภาคบังคับขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อให้เด็กทุกคนรู้หนังสือ โดยกำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7-14 ปีบริบูรณ์ ต้องเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน นอกจากนี้ยังทรงตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นตามท้องที่ต่าง ๆ โดยมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแล
กิจกรรมในวันประถมศึกษาแห่งชาติ
ในโรงเรียนต่าง ๆ จะจัดนิทรรศการเผยแพร่พระเกียรติประวัติและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อวงการศึกษาไทย
นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการศึกษาของไทย วิวัฒนาการการศึกษา จัดกิจกรรมเสริมความรู้และทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้แก่นักเรียน รวมทั้งจัดประชุมและสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับการศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาวงการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การศึกษาของไทยจะมีประสิทธิภาพเพียงใดขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของแต่ละคนที่จะช่วยกันพัฒนาให้วงการศึกษาไทยเจริญก้าวหน้า ดังพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมองการณ์ไกลและประกอบพระราชกรณียกิจมากมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา วันประถมศึกษาแห่งชาติจึงเป็นอีกวันหนึ่งที่จะชวนให้เรารำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยที่มีต่อวงการศึกษาของไทย และเป็นการปลุกจิตสำนึกของชาวไทยให้เห็นความสำคัญของการศึกษา