x close

เนติบัณฑิตยสภา แจงยิบ ฌอน ส่อผิดหลายกระทง ปมเปิดรับเงินบริจาคไฟป่า

          เนติบัณฑิตยสภา แจงยิบปม ฌอน บูรณะหิรัญ เปิดรับเงินบริจาคไฟป่าเชียงใหม่ ส่อผิดหลายกระทง ทั้งกรณีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์


          จากกรณีประเด็นข่าวเรื่องการรับบริจาคเพื่อช่วยไฟป่า จ.เชียงใหม่ ที่ ฌอน บูรณะหิรัญ ไลฟ์โค้ชคนดัง ได้เปิดรับบริจาคขึ้น นำมาสู่ข้อกังขาในสังคมว่าเงินบริจาคนั้น ฌอนนำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง และเมื่อฌอนออกมาชี้แจง ก็ยิ่งเพิ่มความสงสัยว่า ทำไมเอาเงินบริจาค 2 แสน จ้างตัวเองทำและโปรโมตคลิป และมีข้อกังขาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินบริจาคตามมาอีก ต่อมา ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ได้โอนเงินเข้าบัญชีบริจาค ฌอน บูรณะหิรัญ 10 บาท ก่อนแจ้งความจับ ระบุว่า มีพฤติกรรมเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน เปิดบัญชีแต่ไม่ชี้แจงรายละเอียด

อ่านข่าว : ฌอน แจงปมเงินบริจาคไฟป่า - ชาวเน็ตตงิดใจ ทำไมเอาเงินจ้างตัวเองทำคลิป ?

อ่านข่าว : ยังเอาผิด ฌอน บูรณะหิรัญ ปมฉ้อโกงเงินบริจาคไม่ได้ ชี้ยังไม่มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความ

อ่านข่าว : ผู้นำอาสาดับไฟป่า ยันไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจาก ฌอน - ไม่รู้จักด้วยซ้ำ

อ่านข่าว : ทนายรณณรงค์ บริจาคเงิน 10 บาท ก่อนแจ้งความ ฌอน บูรณะหิรัญ ชี้เข้าข่ายหลอกลวง



          ล่าสุด วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เดลินิวส์ รายงานว่า ว่าที่ พ.ต. สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา ระบุถึงกรณีที่ ฌอน บูรณะหิรัญ นำเงินบริจาคไปใช้ผิดจุดประสงค์ว่า ในเรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 ดังนี้

          - มาตรา 6 การเรี่ยไร ซึ่งอ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่ราชการ เทศบาล หรือสาธารณประโยชน์ จะจัดให้มีได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว

          - มาตรา 14 ห้ามมิให้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้มานั้นในกิจการอย่างอื่นนอกวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไรตามที่ได้แสดงไว้ เว้นแต่จะจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายพอสมควรในการเรี่ยไรนั้นเอง

          - มาตรา 17 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 5 มาตรา 6 วรรคแรก มาตรา 8 วรรคแรก มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจํา

          - มาตรา 19 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 15 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท หรือจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจํา

          ว่าที่ พ.ต. สมบัติ กล่าวต่อว่า เรื่องการรับบริจาคจะอยู่ในมาตรา 6 ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร หากไม่ขออนุญาตจะได้รับโทษตามมาตรา 17 เมื่อได้รับบริจาคมาแล้วก็ต้องทำตามวัตถุประสงค์ของการรับบริจาคด้วย ไม่อย่างนั้นจะมีความผิดตามมาตรา 19

          ทั้งนี้ หากการรับบริจาคเป็นเรื่องเท็จ และขอรับบริจาคผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการนำเงินที่ได้รับบริจาคไปใช้นอกวัตถุประสงค์ เข้าข่ายมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดที่กล่าวมานี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่ยอมความกันไม่ได้ แม้ไม่มีแจ้งความร้องทุกข์ ตำรวจก็ทำการสืบสวนสอบสวนได้

          ทั้งนี้ ผู้เสียหายที่จะเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์นั้น ต้องเป็นผู้ที่ถูกหลอก และหลงเชื่อให้โอนเงินบริจาค สำหรับผู้ขอรับบริจาคโดยข้อความเท็จ โดยการหลอกลวงผู้อื่น แม้ยังไม่มีผู้บริจาคเงินเข้ามา ถือว่าได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำยังไม่บรรลุผลสำเร็จ จะมีความผิดฐานพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น อย่างไรก็ตาม การสืบสวนสอบสวนก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ แม้ไม่มีผู้แจ้งความร้องทุกข์ เพราะเป็นหน้าที่ของตำรวจ


ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เนติบัณฑิตยสภา แจงยิบ ฌอน ส่อผิดหลายกระทง ปมเปิดรับเงินบริจาคไฟป่า อัปเดตล่าสุด 2 กรกฎาคม 2563 เวลา 11:08:19 6,558 อ่าน
TOP