x close

รวมเหตุรุนแรงใน รพ. คนไข้ทำร้ายหมอ กับคำถาม ทำไมบุคลากรต้องมาเสี่ยง ?!

         ย้อนเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงพยาบาล คนไข้ทำร้ายหมอ ทำร้ายพยาบาล ตีกันในห้องฉุกเฉิน เกิดขึ้นบ่อยจนชิน ชี้ โทษเตะหมา หนักกว่าโทษเตะหมอ บทสะท้อนกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยที่ไม่ควรจมหายไป

        เรียกว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลมีมาให้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ อาทิ เหตุยกพวกตีกันในห้องฉุกเฉิน หรือเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะเคสล่าสุด คนไข้ทำร้ายแพทย์หญิงภายในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ส่งผลกระทบกับจิตใจเจ้าหน้าที่ ทำให้เสียขวัญและกำลังใจในการทำงาน จนเพจดังหลายเพจออกมาเรียกร้องถึงมาตรการคุ้มครองถึงความปลอดภัยต่อชีวิตหมอและพยาบาล พร้อมเสนอแนวทางลดความรุนแรง ไม่ใช่แค่จบด้วยการขอโทษ เสียค่าปรับเล็กน้อย หรือหงายการ์ดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นคนไข้จิตเวช ฯลฯ เหมือนที่ผ่าน ๆ มา
วันนี้ กระปุกดอทคอม จะมาย้อนเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงพยาบาล เสียงสะท้อนของฝั่งหมอและพยาบาล เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยที่ไม่ควรจมหายไป พร้อมแนวทางแก้ปัญหาลดความรุนแรง และเหตุประทุษร้ายต่อชีวิตเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รวมถึงท่าทีภาครัฐในการออกมาแก้ปัญหาเหล่านี้
ปี 2559 คนไข้เตะก้านคอหมอ
        เหตุโมโหอ้างหมอกิริยาก้าวร้าว เหยียดหยามดูถูก ทำเหมือนไม่ใช่คนไข้
       วันที่ 6 สิงหาคม 2559 ผู้ก่อเหตุชื่อว่า นายสุรเกียรติ เพชรประดับ อายุ 66 ปี อดีตนายกเทศมนตรีตำบลแม่ใจ จ.พะเยา หรือรู้จักกันในนาม "นายกแอ๊ว" เข้ามารักษาอาการปวดหลัง หน้าอกและกราม โดยมี นพ.ธงชัย เมืองคำ อายุ 30 ปี แพทย์ชำนาญการ เข้ามาตรวจ และเกิดการโต้เถียงกันขณะสอบถามอาการ จนทำให้ฝ่ายคนไข้เกิดความไม่พอใจและก่อเหตุดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ทาง นพ.ธงชัย เข้าแจ้งความข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่

      ต่อมาศาลชั้นต้นตัดสินให้นายสุรเกียรติ มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี เพราะมีการไกล่เกลี่ยล่วงหน้า โดยให้รายงานตัวปีละ 4 ครั้ง จนครบ 2 ปี และทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 24 ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยยังสามารถอุทธรณ์คดีได้

อ่านข่าว : นายกแอ๊ว เปิดใจเหตุเตะก้านคอหมอ ชี้ถูกเหยียดหยาม-ทำเหมือนไม่ใช่คนไข้

อ่านข่าว : ศาลสั่งจำคุก 6 เดือน-ปรับ 3 พัน อดีตนายกเทศมนตรี เตะก้านคอหมอ

ปี 2560 ญาติผู้ป่วยตบหัวเจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน เหตุไม่พอใจโดนห้ามเข้าห้องฉุกเฉิน


        เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นวันที่ 5 มีนาคม 2560 นายทศพล ชุมนวน อายุ 29 ปี เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน โรงพยาบาลตรัง เข้าร้องเรียนสื่อมวลชนว่าถูกญาติผู้ป่วยรายหนึ่งทำร้ายด้วยการตบศีรษะ 2 ครั้ง ขณะปฏิบัติหน้าที่ พร้อมนำภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดมาเป็นหลักฐาน

        โดยเจ้าตัวออกมาเผยว่า หลังเกิดเหตุทำให้หวาดกลัว ไม่กล้าไปทำงาน และได้ลาหยุดพักงานชั่วคราว เนื่องจากเกรงว่าญาติผู้ป่วยจะกลับมาทำร้ายอีก เบื้องต้นได้เข้าแจ้งความแล้ว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทางเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในทำนองว่า เป็นบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข งานก็หนัก ความปลอดภัยในชีวิตก็ไม่มี ถ้าเขาทนไม่ไหวแล้วลาออก ก็ตัวใครตัวมัน

        ต่อมา นายสติพงษ์ ผู้ก่อเหตุ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมจับมือและขอโทษนายทศพล เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองตรัง พร้อมยอมรับว่าทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ก่อนโดนโทษปรับ 1,000 บาท ข้อหาทำร้ายร่างกาย

อ่านข่าว : หนุ่มเวชกิจฉุกเฉิน ร้องถูกญาติผู้ป่วยตบหัวสั่น ฉุนห้ามไม่ให้เข้าห้องฉุกเฉิน

อ่านข่าว : จบด้วยดี หนุ่มตบหัวเจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน รับผิด ทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ

ปี 2562 คนไข้ด่า-ตบหน้าพยาบาลหน้าห้องฉุกเฉิน
        เหตุฉุนโดนไล่ไปทำประวัติก่อน


         เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 โลกออนไลน์มีการแชร์คลิปเหตุการณ์ที่คนไข้ชายรายหนึ่งด่ากราดการทำงานของพยาบาลโรงพยาบาลปลวกแดง จ.ระยอง ก่อนจะตบหน้าพยาบาล ท่ามกลางสายตาของผู้คนจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุมาจากความโมโหที่เจ้าตัวเดินเข้าไปในห้องฉุกเฉิน หวังให้รักษาแขนที่บาดเจ็บ แต่ถูกพยาบาลแจ้งให้ไปทำประวัติตามระบบก่อน

         เหตุการณ์นี้ทาง ผอ.โรงพยาบาลปลวกแดง ออกมายืนยันว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ข้อหาทำร้ายเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงาน 

ระทึกกลางโรงพยาบาล คนไข้ล็อกคอหมอ ก่อนเอากรรไกรแทงคอ
        เหตุไม่พอใจตรวจช้า อ้างเป็นลูกเทพ หากใครไม่ทำตามความต้องการจะมีอันเป็นไป
       วันที่ 9 ธันวาคม 2562 เกิดเหตุระทึกในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น เป็นเหตุให้คนไข้พยายามเข้าทำร้ายแพทย์หญิง ขณะออกตรวจคนไข้ โดยเข้าล็อกคอก่อนจะใช้กรรไกรแทงคอ พร้อมบอกว่า "ตรวจช้าแบบนี้ เราก็มาตายพร้อม ๆ กัน" โชคดีหมอยกแฟ้มเอกสารขึ้นมาบังเอาไว้ได้ทัน ซึ่งเหตุการณ์นี้หลายฝ่ายต่างออกมาเรียกร้องถึงมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เพราะแพทย์ ก็คือประชาชน เพราะหมอ ก็คือคน

อ่านข่าว : คนไข้ลั่นตัวเองเป็นลูกเทพ คลั่งใช้กรรไกรแทงหมอ บอกตรวจช้าก็ตายพร้อมกันไปเลย

อ่านข่าว : หมอลั่น เอาผิดไม่ไว้หน้า โดนคนไข้ใช้กรรไกรจะแทงคอ เช็กแล้วไม่ได้ป่วยจิต

      นอกจากเหตุการณ์คนไข้ทำร้ายหมอ พยาบาล แล้ว ยังมีอีกเหตุการณ์ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันนั่นคือ เหตุยกพวกตีกันในห้องฉุกเฉิน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมากในปัจจุบัน


        เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 เกิดเหตุยกพวกตีกันบริเวณหน้าห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลอ่างทอง โดยมีการเผยคลิปนาทีที่ตะลุมบอนกันโดยไม่สนว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาห้าม ซึ่งขณะนั้นมีผู้ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจรอเข้ารักษาตัว แต่เข้าห้องฉุกเฉินไม่ได้

        ซึ่งต่อมาทางตำรวจเผยว่า กลุ่มวัยรุ่นมีเรื่องที่ร้านอาหาร ก่อนถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลเดียวกัน ทำให้ทั้งสองฝ่ายมาทะเลาะกันต่อที่หน้าห้องฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานการณ์นานกว่า 30 นาที จากนั้นได้เรียกมาสอบสวนพร้อมแจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกาย, ร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการในเวลากลางคืน

อ่านข่าว : พยาบาลเล่านาทีเถื่อน คลิปคนตีกันหน้าห้องฉุกเฉินแตก ไม่แคร์แม้ผู้ป่วยหนักเข้าห้องไม่ได้

เสียงสะท้อนของฝั่งหมอและพยาบาล แนวทางแก้ปัญหาลดความรุนแรงในโรงพยาบาล กฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยที่ไม่ควรจมหายไป เหตุใด โทษเตะหมา ถึงหนักกว่าโทษเตะหมอ

          - เพจเฟซบุ๊ก Infectious ง่ายนิดเดียว ออกมาแสดงความคิดเห็น ระบุว่า จากใจคนทำงานด้านนี้ ฟังข่าวแล้วหมดแรงทำงาน หมดแรงที่จะสู้เพื่ออุดมการณ์ สงสารเพื่อนร่วมวิชาชีพ สงสารครอบครัวหมอ เบื่อการ์ดไกล่เกลี่ย ตีหน้าเศร้า ร้องไห้ คนไข้จิตเวช ฯลฯ เหนื่อยกาย เหนื่อยใจ ยังไม่พอ ต้องมาเสี่ยงตายแบบนี้ จะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ ให้กระบวนการยุติธรรมเป็นคนตัดสิน ป.ล. เตะหมา..โทษหนักกว่าเตะหมอ..นะเมืองไทย รู้ยัง..
       - เพจเฟซบุ๊ก Victor Vitchayut อดีตนายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ออกมาแสดงความคิดเห็น ระบุว่า เหตุการณ์การทําร้ายแพทย์ (ทางร่างกาย) ที่กําลังปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะจากใครก็ตาม ถือเป็นการกระทําที่ไม่สมควรเกิดขึ้น และไม่ควรจมหายไป แต่ควรเป็นสิ่งที่สังคมควรใช้สะท้อนและเรียนรู้ร่วมกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นบทบาทของแพทย์ในสังคมของเราที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก และคงถึงเวลาที่เราต้องมองหาทางออกที่ปรับตัวให้ทันตามยุคสมัย

          กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการเยียวยา เชื่อว่ามีอยู่ ซึ่งนี่คือ การรับมือซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่มันเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน แล้วกระบวนการซึ่งป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างไร ขอเป็นกำลังใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันเรื่องราวเหล่านี้ เพราะแพทย์ ก็คือประชาชน เพราะหมอ ก็คือคน

        - เพจเฟซบุ๊ก หมอเวร ออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกัน ระบุว่า จากประสบการณ์รุ่นพี่และคนรอบข้างที่เจอมา บอกเลยว่าเหตุความรุนแรงในโรงพยาบาลเจอกันเป็นประจำ แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวเท่านั้น มีทั้งพกมีดยาวเข้ามาหาหมอ เพราะระแวงกลัวอริเข้ามาทำร้าย หรือเอาปืนมาวางบนโต๊ะ พร้อมขู่หมอถ้ารักษาเพื่อนไม่หาย หมอต้องตาย

        ด้วยกฎหมายคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ของไทย บอกเลยว่าก็แค่ก้มหน้าก้มตาทำงานไป แล้วก็ระวังตัวกันเอง เพราะคนพวกนี้มันขาดสติกันไปหมดแล้ว แม้แต่เคสเบา ๆ อย่างยืนด่าหมอ ตอบโต้ไปก็ขาดทุน เพราะสุดท้ายแล้ว ทางโรงพยาบาลไม่อยากให้เรื่องบานปลาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่คุ้ม นึกแล้วบางทีมันก็ท้อใจ ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณหมอทุกท่านที่กำลังปฏิบัติงานภายใต้ความเสี่ยงเหล่านี้ ดูแลตัวเองกันดี ๆ 

        - เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ออกมาแสดงความคิดเห็น ระบุว่า ความเห็นน่าสนใจจากมิตรสหายอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่ง เกี่ยวกับแนวทางลดความรุนแรงในโรงพยาบาล รวมถึงลดเหตุประทุษร้ายต่อชีวิตหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทุกคน นั่นคือต้องประกาศ "Zero tolerance" ความปลอดภัยในโรงพยาบาล หรือการปฏิเสธการรักษาในกรณีรุกล้ำเจ้าหน้าที่ ซึ่งต่างประเทศอย่างประเทศอังกฤษ ที่สนามบินด่านตรวจคนเข้าเมืองมีติดป้ายประกาศไว้ชัดเจน
ท่าทีภาครัฐ หน่วยงานสาธารณสุข
แพทยสภาเรียกร้องห้ามขี้เมาเข้าห้องฉุกเฉิน

         เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ออกมาเผยเกี่ยวกับการเรียกร้องความคุ้มครองให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัย 4 ประการ คือ

       1. อยากให้สังคมร่วมกันปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้คนเหล่านี้มีความปลอดภัยไปรักษาคนไข้ให้ได้รับความปลอดภัยต่อไปได้

       2. ขอให้ชุมชน ทั้งกลุ่มอาสา ตำรวจ ช่วยกันดูแลปกป้องห้องฉุกเฉิน แม้แต่ร้านทองยังมีตำรวจดูแล

       3. ไม่ควรให้คนเมาเข้ามาในเขตห้องฉุกเฉิน เพราะการทะเลาะวิวาทส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มคนที่มีอาการมึนเมา ผู้ที่อยู่ในห้องฉุกเฉินจึงควรเป็นผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเท่านั้น

       4. กำหนดให้ห้องฉุกเฉินเป็นเขตปลอดคนเมาสุรา

อ่านข่าว : ชงห้องฉุกเฉินปลอดขี้เมา ขอตำรวจช่วยสอดส่อง ชี้ร้านทองยังมีตำรวจเฝ้า
 

เลขาธิการแพทยสภา ชี้ ความรุนแรงในโรงพยาบาล เป็นปัญหาเรื่องเร่งด่วนที่ควรจัดการ
        พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก Ittaporn Kanacharoen ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้การสนับสนุนเต็มที่ในการดำเนินคดีทุกรายที่ก่อเหตุในโรงพยาบาล พร้อมออกหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ช่วยในการดำเนินคดี รวมถึงประสาน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันว่าจะต้องดำเนินคดีให้เกิดการลงโทษคู่กรณีสูงสุดตามกฎหมาย โดยเฉพาะหากมีความเสียหายเกิดขึ้นกับเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ จะต้องฟ้องแพ่ง เรียกเงินชดเชยด้วย และจะติดตามเร่งรัดคดีทุกราย

        หากมีเรื่องในสถานพยาบาล จะต้องใช้กฎหมายดำเนินการ ไม่ปล่อยให้เป็นการขอโทษแล้วยกเลิกกันไป เพราะถือเป็นความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาชีวิตผู้ป่วย และสร้างบรรยากาศเพื่อความปลอดภัยในแต่ละโรงพยาบาล เพิ่มกล้องวงจรปิด เพิ่มการสื่อสารระหว่างตำรวจกับโรงพยาบาล สร้างระบบรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะห้องฉุกเฉิน

        นอกจากกระบวนการทางกฎหมาย ที่สำคัญอีกประการคือ ต้องไปดูต้นเหตุปัญหาของผู้ป่วยและญาติแต่ละรายที่สร้างความรุนแรง และควรต้องช่วยแก้ไขให้กับเขาด้วย หากที่เขาทำไปเพราะความเจ็บป่วย ก็ต้องรักษาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก และวางมาตรการป้องกันให้เหมาะสมต่อไป
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้ สังคมต้องหันมาช่วยกันแก้ไข ช่วยกันดูแลคุ้มครองคุณหมอ
         นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊ก โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง แสดงความคิดเห็นว่า ยกเคสกรณีคนไข้ใช้กรรไกรแทงคอหมอนั้น แจ้งข้อหาพยายามฆ่าได้ เพราะคอคืออวัยวะสำคัญ ที่ถูกแทงแล้วถึงตายได้โดยง่าย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใครแล้ว แต่เป็นเรื่องที่สังคมต้องหันมาช่วยกันแก้ไข ช่วยกันดูแลคุ้มครองคุณหมอ โรงพยาบาล มีทั้งสุขและทุกข์ จะร่วมแต่สุขไม่ร่วมทุกข์ จะอยู่ในสังคมเดียวกันได้อย่างไร..??

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รวมเหตุรุนแรงใน รพ. คนไข้ทำร้ายหมอ กับคำถาม ทำไมบุคลากรต้องมาเสี่ยง ?! อัปเดตล่าสุด 12 ธันวาคม 2562 เวลา 11:24:59 12,038 อ่าน
TOP